กระชายขาว ราคาพุ่ง เปิดข้อเท็จจริงต้านโควิด-19 ได้ หรือไม่ ?

กระชายขาว
ภาพจาก ข่าวสด

ทำไม กระชายขาว ราคาพุ่งทะยาน ถึงขั้นขาดตลาด ป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ ดูได้ที่นี่

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 กรณีเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก ประชาชนจึงแห่ซื้อสมุนไพรมารับประทาน โดยหนึ่งในสมุนไพรที่ขายดีคือ “กระชายขาว” ซึ่งหลายคนเชื่อว่าช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ ทำให้ขณะนี้กระชายสดราคาพุ่งถึงกิโลกรัมละ 150-200 บาท จากปกติกิโลกรัมละ 30-50 บาท จนบางแห่งขาดตลาด (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ค.64)

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “กระชาย” ที่เกี่ยวข้องกับโควิด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าควรซื้อกระชายขาวมารับประทานหรือไม่ ?

ทำความรู้จัก “กระชาย”

ข้อมูลจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน ระบุว่า กระชาย มีชื่อสามัญเรียกหลายอย่าง Fingerroot หรือ Chainese ginger หรือ Chainese Key หรือ Galingale มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.

อยู่ในวงศ์ขิง ZINGIBERACEAE เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า รากสะสมอาหารจนพองเป็นก้านคล้ายนิ้วมือ เรียกว่า แง่ง ถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อเรียกกันว่า “ขิงจีน” มีลักษณะและสรรพคุณเช่นเดียวกับ “โสม” ที่สำคัญมีผลข้างเคียงในทางลบกับร่างกายคนไม่มาก ราคาก็ไม่สูงนัก ให้ประโยชน์มากมาย ชาวจีนใช้แทนโสม จึงนับว่ากระชายเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ควรจะมองข้าม

จากผลวิจัยพบว่าคุณค่าทางอาหารที่กระชายมี อยู่ในแง่ง เหง้าหรือหัว น้ำหนัก 100 กรัม ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 17.8 กรัม เส้นใยอาหาร 2.0 กรัม น้ำตาล 1.7 กรัม โปรตีน 1.8 กรัม โพแทสเซียม 415 มิลลิกรัม โซเดียม 13 มิลลิกรัม ไขมันอิ่มตัว 0.2 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัว 0.2 กรัม วิตามีนบีหก 8% วิตามีนซี 8% แคลเซียม 2% เหล็ก 3% แมกนีเซียม 11%

สารอาหารต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่มีผลต่อร่างกายผู้บริโภคทั้งนั้น จึงมีผู้คนนำเอาไปประกอบอาหาร ทำเครื่องดื่ม และเป็นยา หรือเป็นส่วนประกอบของยา นอกจากนี้ผลวิจัยยังชี้ว่าในกระชายมีสาร pinostrobin ที่ช่วยต้านเชื้อพลาสมา สาเหตุของโรคมาลาเรีย อีกทั้งยังมีสารคลอโรฟอร์มและเมทานอล ต้านพยาธิที่ทำให้ท้องเสีย หรือสาร pinocembin สาร panduratina สาร alpinetin ต้านทานเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดอีกด้วย

กระชาย ที่ใช้ประโยชน์กันแพร่หลาย มี 3 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ กระชายแดง และกระชายเหลือง หรือกระชายขาว มีชื่อเรียกในแต่ละถิ่นต่างกันบ้าง เช่น ภาคเหนือ เรียก ละแอน หรือ ระแอน ทางภาคอีสาน เรียก กะแอน หรือขิงทราย ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน ซึ่งนิยมใช้กันมาก เรียก จี้ปู, ซีฟู, เปาซอเราะ, เปาะสี่ หรือ ขิงจีน

ทางกรุงเทพฯ รู้จักกันในชื่อ ว่านพระอาทิตย์ อาจจะเป็นเพราะมีลักษณะแง่ง เหง้า เป็นเช่นเดียวกัน แง่งและเหง้ากระชาย เจริญอยู่ใต้ดิน ที่สำคัญเรืองแสงเวลากลางคืน บ้างมีลักษณะคล้ายหุ่นตัวคนคล้ายโสม คนต่างประเทศเลยเรียกกระชายเป็น โสมคน หรือ โสมไทย และชาวจีนมีความนิยมใช้กระชายแทนโสม จึงเรียกว่า ขิงจีน เป็นสมุนไพรที่ชาวจีนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ทดแทนพวกโสมที่ราคาแพงกว่ามาก

เฟกนิวส์! น้ำขิงผสมน้ำกระชายแก้โควิด

เมื่อปีที่แล้วมีข้อความชวนเชื่อเรื่อง สูตรน้ำขิงผสมน้ำกระชาย แก้โควิด-19 ซึ่งต่อมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลงานวิจัย หรือหลักฐานที่บ่งชี้เกี่ยวกับน้ำขิงผสมน้ำกระชายว่าสามารถแก้โรคโควิด-19 ได้ ตามที่กล่าวอ้าง ทั้งนี้สมุนไพรดังกล่าวมีสรรพคุณเพียงนำมาใช้ในการบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อและแก้ไอ เจ็บคอเท่านั้น

กระชายขาวป้องกันโควิด จริงหรือไม่?

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2653 เว็บไซต์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลรามาคลินิก เผยว่า “สารสกัดกระชายขาว” มีฤทธิ์ต้าน COVID-19 ในหลอดทดลอง นักวิจัย ม.มหิดล เร่งพัฒนาสารสกัดกระชายขาวเพื่อใช้เป็นยาสำหรับโรค COVID-19 โดยโครงการวิจัยต้านเชื้อไวรัสโคโรนาจากสมุนไพรไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS

หลังจากค้นพบว่า สารสกัดกระชายขาว มีฤทธิ์ต้านทานการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริง ดร.ศุภกฤษ์ บวรภิญโญ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา กล่าวเพิ่มเติมว่า มีสารสำคัญ 2 ชนิด ที่พบในสารสกัดกระชายขาว ซึ่งสามารถช่วยในการป้องกันการติดเชื้อได้ คือ 1. Panduratin A และ 2. Pinostrobin ทำหน้าที่เป็นกลไกยับยั้งการติดเชื้อโควิดได้ 100%

ดร.ศุภกฤษ์ กล่าวว่า “ประสิทธิผลในการยับยั้งที่บอกว่าได้ 100% มี 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ เราสามารถที่จะลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อ จาก 100% ไปถึง 0% ในส่วนที่สองในการยับยั้ง คือ เราดูการยับยั้งในการผลิตตัวไวรัสออกจากเซลล์ ซึ่งตรงนี้เราก็พบว่า สารสกัดจากกระชายขาวเอง ยับยั้งได้ถึง 100% เลย ก็คือเซลล์นั้นไม่สามารถที่จะผลิตตัวไวรัสตัวใหม่ออกมาจากตัวเซลล์ได้เลย”

“ในแง่ของการนำสารสกัดกระชายขาวไปใช้ในช่วงนี้ ผมมองว่าจะต้องอยู่ในรูปของสารสกัด เพราะว่าในสารสกัด เรารู้ปริมาณสำคัญที่จะออกฤทธิ์อย่างแน่นอน แล้วก็เราไม่ต้องกินเยอะ ถ้าเกิดกินแบบในรูปของสารสกัด เราจะคุมโดส คุมประมาณสารสำคัญในการรักษาได้ดีกว่าครับ” ดร.ศุภกฤษ์ กล่าวเพิ่มเติม

พร้อมระบุด้วยว่า งานวิจัยกระชายขาวอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคน หากมีความคืบหน้าหรือข้อมูลเพิ่มเติมขอให้ติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

มหิดลปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ต่อมา วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การอ้างถึงผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประกอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ เกี่ยวกับสรรพคุณของสารสกัดกระชายขาว ในการต้านโควิด

โดยระบุว่า ตามที่มีผลิตภัณฑ์สารสกัดกระชายขาวจำนวนหนึ่ง อ้างถึงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เกี่ยวกับสรรพคุณของสารสกัดกระชายขาวในการต้านโรคโควิด เพื่อการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

มหาวิทยาลัยมหิดล และ TCELS ขอชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล หรือ TCELS และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การนำภาพต่างๆ ของนักวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ TCELS ไปเพื่อประกอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เป็นการดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ คณะนักวิจัย พบว่า สารสกัดกระชายขาวมีฤทธิ์ต้านเชื้อก่อโรคโควิด ได้ในหลอดทดลอง และอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม ในด้านความปลอดภัย ปริมาณที่เหมาะสมต่อการบริโภค และข้อบ่งชี้การใช้ในมนุษย์เพื่อการต้านโรคโควิดอย่างเหมาะสม ดังนั้น จึงไม่มีความเห็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับการต้านโรคโควิดได้

อย่างไรก็ตาม กระชายขาวมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรตามที่ระบุในแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือจึงขอให้ผู้บริโภคโปรดใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

อนุทินเผยกระชายคือความหวัง

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวที่งาน “สมุนไพรไทย ทลายโรค ทลายโควิด” ว่า นอกจากฟ้าทะลายโจรแล้ว ยังมีสมุนไพรอีก 1 ชนิดที่เป็นความหวังในการรักษาโควิด 19 ในอนาคตอันใกล้ คือ กระชาย โดยจากงานวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ที่ได้คัดกรองสารสกัดและสารประกอบธรรมชาติจากพืชสมุนไพรไทยในท้องถิ่น 122 ชนิด

พบสารสกัด 6 ชนิด มีศักยภาพยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อก่อโรคไวรัสโคโรนา ที่ปริมาณความเข้มข้นของยาในระดับน้อย ๆ และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ โดยสารสกัดจากกระชายมีฤทธิ์แรงที่สุด

หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพัฒนาต่อยอดสมุนไพรกระชายอย่างจริงจัง นำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรม ยกระดับการตลาดด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีนวัตกรรมด้านคุณภาพ

เรือนจำเชียงใหม่ต้มน้ำกระชายให้ผู้ติดเชื้อ

กรณีการติดเชื้อในหมู่ผู้ต้องขังเรือนจำกลางเชียงใหม่ จำนวนเกือบ 4 พันคน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 นายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่  เผยว่า นอกจากมาตรการ Bubble and Seal แล้ว ทางเรือนจำได้จัดหายาและสมุนไพรเสริมให้ผู้ต้องขังที่ติดเชื้อได้กินควบคู่ไปด้วย อาทิ ยาฟ้าทะลายโจร น้ำขิง น้ำกระชายขาว และวิตามินซี ซึ่งพบว่าผู้ต้องขังที่ติดเชื้อมีอาการดีขึ้น