เปิดตัว “สิทธิชัย แดงประเสริฐ” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ส.อ.ท. กับ 6 ภารกิจ

สมุนไพรไทยถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าชอฟต์พาวเวอร์ที่น่าจับตามองของประเทศไทย ด้วยความพร้อมทั้งด้านอุตสาหกรรมและวัตถุดิบที่จะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมทำเงินสร้างรายได้เข้าประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ “แบรนด์ไทยแลนด์” ที่ไม่ว่านักท่องเที่ยวคนไหนเที่ยวไทยก็จะต้องนึกถึงและซื้อติดมือกลับเป็นของฝากอย่าง “ยาดม” ที่กลายเป็นสินค้ายอดฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวจีน

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ หรือ ดร.ปุ๊ย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรในสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) คนใหม่แกะกล่องที่เพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2567 ซึ่งนับว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งคนที่ 5 แล้ว หลังจากที่นายเมธา สิมะวรา อดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรหมดวาระไปเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา

6 ภารกิจสำคัญดันสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

“ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรคนใหม่ ผมมีภารกิจสำคัญ ทั้งสานต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566-2567) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสมุนไพรให้เติบโตกลายเป็นผู้นำในภูมิภาคที่มีทั้งคุณภาพและมาตรฐาน อีกทั้งยังมีอีก 6 พันธกิจที่ต้องต่อยอดสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วยนวัตกรรมกรรมและการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Value chain)”

พันธกิจแรกคือ การส่งเสริมสมุนไพรผ่านอาหารไทยจากครัวไทยสู่ครัวโลก อย่างที่รู้ว่าอาหารใช้สมุนไพรเยอะที่สุด แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงคือยา เพราะฉะนั้น เราจึงเริ่มส่งเสริมสมุนไพรผ่านอาหารก่อน ตามด้วยพันธกิจที่ 2 คือ การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของ SMEs ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับให้มีสินค้าใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น

พันธกิจต่อมาคือ เน้นตลาดในประเทศ และ CLMV เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตสมุนไพรในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม SMEs และเป็นธุรกิจครอบครัว จึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเสียก่อน เพราะเป็นธุรกิจเล็กเราจึงยังไม่ดันไปยุโรป แต่จากสร้างตลาดในประเทศไทยละประเทศกลุ่ม CLMV ให้แข็งแกร่งก่อนแล้วจากนั้นจะขยายไปยังตลาดยุโรป หรือสหรัฐ

อีกพันธกิจคือ เราต้องยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตด้วยเทคโนโลยี (SMART) การเพิ่มมาตรฐานและคุณภาพ เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เราพยายามจะผลักดัน ควบคู่ไปกับพันธกิจที่จะต้องส่งเสริมการใช้สมุนไพรในภูมิภาคทั้งไทยและอาเซียนเป็นกลไกการพัฒนา

“โดยเริ่มจากกระจายไปทั่วประเทศ แล้วค่อยเป็นทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วจากนั้นก็กระจายไปทั่วโลก ที่สำคัญที่สุดคือคนไทยที่อยู่ในภูมิภาคจะต้องอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของเราก่อน”

และพันธกิจสุดท้าย คือ ส่งเสริมอุตสาหกรรมสารสกัด เพื่อเพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขัน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ฉะนั้นเรามีสมุนไพรที่หลากหลาย และเรายังมีบุคลากรที่มีความสามารถ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์แผนไทย และเภสัชกร รวมถึงเรามีเทคโนโลยีที่พร้อม จึงอยากนำสมุนไพรมาเพิ่มมูลค่า (Value added) ให้เป็นสารสกัดที่ง่ายต่อการขนส่ง มูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการในตลาด

ตลาดสมุนไพรโตต่อเนื่อง 

ดร.สิทธิชัยกล่าวว่า อุตสาหกรรมสมุนไพรในบ้านเราเติบโตอยู่ตลอดเวลาจากการสนับสนุนของภาครัฐ รวมถึงเทรนด์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะหลังโควิด-19 ที่ภาพลักษณ์ของสมุนไพรมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้สมุนไพร อีกทั้งยังได้แรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และเทนด์ในระยะยาวจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเพราะว่าชาวต่างชาติรู้จักสมุนไพรไทยผ่านชอฟต์พาวเวอร์มากขึ้น การท่องเที่ยวกลับมาทำให้สมุนไพรไทยเติบโตขึ้น

“แม้จะเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตลาดโลกในภาพรวม แต่ว่าอุตสาหกรรมสมุนไพรทั่วโลกเติบโต เพราะปัจจุบันคนเริ่มไม่อยากกินยาเคมีก็หันมาบริโภคยาสมุนไพรกันมากขึ้น ผลการวิจัยบอกว่าการบริโภคยาแผนปัจจุบันกระทบกับสุขภาพตับทำให้คนเริ่มหันกลับเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น เข้าหาความรู้แผนโบราณมากขึ้น เพราะฉะนั้นสมุนไพรทั้งไทยและทั่วโลกจะเติบโตและมีแนวโน้มที่จะเติบโตตลอด”

โดยตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกในปี 2566 พบว่า อุตสาหกรรมสมุนไพรมีมูลค่า 60,165.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียถึง 57.6% อเมริกา 22.1% ยุโรป 18% ตะวันออกกลาง 1.5% และออสเตรเลีย 0.9% และคาดว่า ตลาดสมุนไพรในประเทศในปี 2570 จะมีมูลค่า 100,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2573 จะมีมูลค่าทะลุ 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สุขภาพยา เครื่องสำอาง และสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ ขิง กระเทียม โสม และคาโมมายล์

โดยประเทศไทยถือว่ามีการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร ติดอันดับ 7 ของโลก และใหญ่เป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียรองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ ยาอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอางเครื่องดื่ม ซึ่งสมุนไพรที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ขมิ้นชัน กระชายขาว ตะไคร้หอม บัวบก ขณะที่ไทยเป็นผู้นำการส่งออกสมุนไพรอันดับ 1 ของอาเซียน แต่กลับไม่ติด 1 ใน 10 ของส่วนแบ่งตลาดโลกเนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านมาตรฐานการผลิต

มูลค่าการส่งออกสินค้าสมุนไพรของไทยปี 2565

ปัจจัยไประดับโลก เริ่มที่ปรับ Mindset 

การไประดับโลกได้จะนอกจากจะต้องมีมาตรฐานรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรในระดับสากลแล้ว ยังจะต้องปรับ Mindset ของคนในธุรกิจและภาครัฐให้เป็นระดับโลก เนื่องจากธุรกิจสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัวทำให้การทำงานบางอย่างอาจจะติดขัด รวมถึงมีความท้าทายที่ต้องรักษาธุรกิจให้รอด อย่างผมเองก็เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นรุ่นที่จะต้องมาวัดใจว่าจะรอดหรือตาย

อีกทั้งองค์กรรัฐอย่างองค์กรที่อาหารและยา (อย.) เองแม้จะว่าตอนนี้จะเริ่มปรับ Minbdset จากเดิมที่เป็นผู้คุ้มครองผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว ตอนนี้ก็เพิ่มมาอีกบทบาทคือ ผู้สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่

อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณาจดทะเบียนสินค้ากินเวลานาน อย่างยาหอม ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านก็โดนรอจดทะเบียนนานถึง 8 เดือน ซึ่ง (ร่าง) พ.ร.บ.สมุนไพรฉบับใหม่นี้ จะมาลดเวลาและขั้นตอนการพิจารณาองค์ประกอบของ อย. โดยแยกพิจารณาระหว่างการขึ้นทะเบียนสูตรตำรับยาที่ปริมาณสมุนไพร สรรพคุณและปริมาณการบริโภคซึ่งเป็นองค์ประกอบที่กำหนดไว้ตายตัวอยู่แล้ว กับการตรวจสอบองค์ประกอบเสริมเติมแต่งอื่น ๆ ที่อาจมีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ส่วนนี้จะช่วยย่นระยะเวลาการพิจารณาลงมา และควรจะมี Fast Track ให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อส่งออกอย่างเดียว

“นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยที่สำคัญคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสมุนไพรส่วนใหญ่เป็น SMEs และเป็นธุรกิจครอบครัว ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้นลำบากมากเพราะจะไม่มีการขายหรือควบรวมกิจการเพื่อหาเงินทุนเพิ่ม หรือแม้แต่การเข้าตลาดเองบางครั้งยังยาก รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐานเฉลี่ยแล้วใน 1 โรงงานจะต้องมีห้องผลิตประมาณ 26 ห้อง ซึ่งต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล ทำให้เงินทุนก็เป็นอีกหนึ่งกำแพงสำคัญของธุรกิจสมุนไพร”

แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัจจัยสำคัญที่หนุนให้อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยเติบโตได้ นั่นคือ “ชอฟต์พาวเวอร์”

สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ส.อ.ท.

สมุนไพรไทยคือซอฟต์พาวเวอร์

“ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร วันดีคืนดี ลิซ่า วง Blackpink ถือยาดมยี่ห้อของไทยยี่ห้อหนึ่งขึ้นมากลายเป็นว่าขายดีไปทั่วโลก หรืออยู่ ๆ ทัวร์จีนเข้ามาซื้อยาดม ยาอม ยาหม่อง แต่ว่าก็ยังมีเรื่องมาตรฐานเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้อยาหม่อง ยาดม ลูกประคบจะได้ของที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน หรือลูกค้าอยากเอาผลิตภัณฑ์สมุนไพรส่งออกไปใช้กับสปา ตอนนี้ อย.อนุญาตหรือยัง”

ซึ่งเราก็ผลักดันกันมาตลอดคือ มาตรฐานต้องถึง คุณภาพต้องถึง ส่งออกต้องได้ ด้วยซอฟต์พาวเวอร์เหล่านี้จะต่อยอดอุตสาหกรรมสมุนไพรจากขมิ้นกิโลกรัมละ 100 บาทให้กลายเป็นครีมกระปุกมูลค่า 1,000 บาทได้ แต่ต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนทั้งหน่วยงานกำกับดูแล กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกับเอกชนเป็นเนื้อเดียวกัน

“ผมคิดว่าชอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปต่อได้ เพราะเรามีแพทย์แผนไทย นวดไทย มีการบริการที่เป็นมิตร หรือแม้แต่วัตถุดิบอย่าง ‘กระชายดำ’ ที่เราเป็นแหล่งผลิตเดียวในโลก หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ทำให้เรามีพร้อมทั้งองค์ความรู้และทรัพยากรที่เพียงพอ แต่เรายังขาดการประชาสัมพันธ์และการตลาดอยู่มาก

จึงอยากได้หน่วยงานอย่างกระทรวงพาณิชย์ที่เก่งเรื่องค้าขายและความคิดสร้างสรรค์มาดันสินค้าสมุนไพรไทยออกไปตลาดโลก เช่น การพาไปออกบูทต่างประเทศ อีกเรื่องที่สำคัญคือเรายังขาดแคลนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่อีกมาก ซึ่งเอกชนหลายเจ้าที่ต้องการส่งออกจะต้องใช้เอกสารงานวิจัยของภาครัฐเป็นแหล่งอ้างอิง”

ถ้ารัฐบาลปักหมุดนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างจริงจัง องค์ความรู้แพทย์แผนไทย อาหารไทย เสื้อผ้าไทย ดารานักร้องไทย และท่องเที่ยวไทยต้องไปคู่กันเพราะเป็นเรื่องเดียวกันคือความเป็นไทย ซึ่งผมได้เตรียมพูดคุยกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อแสดงถึงความพร้อมของผู้ประกอบการที่จะให้รัฐบาลดึงสมุนไพรไทยมาเป็นเรื่องหลักของซอฟต์พาวเวอร์