ทช.ผนึกพันธมิตรร่วมภารกิจพิทักษ์สัตว์ทะเลหายาก

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดแถลงข่าวเรื่องสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากของไทย ปี 2560 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานพร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมฯ เข้าร่วมแถลงข่าวครั้งนี้ ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งคือการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก สัตว์ทะเลหายากหมายถึงกลุ่มประชากรสัตว์ทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งจากจำนวนประชากรที่มีอยู่น้อย หรือจากภัยคุกคามจากมนุษย์และตามธรรมชาติ สัตว์ทะเลหายากส่วนใหญ่ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมาและวาฬ เป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

การอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากจึงหมายถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจและมีสภาพสังคมที่มั่นคง แนวทางการอนุรักษ์ในภาพรวมประกอบด้วยการยกระดับความสำคัญของสัตว์ทะเลหายาก การเพิ่มศักยภาพการจัดการ สร้างมาตรการการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และการเผยแพร่องค์ความรู้

Advertisment

การศึกษาวิจัยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมาทำให้ทราบว่าประเทศไทยมีสัตว์ทะเลหายากที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลจำนวน 28 ชนิด เต่าทะเล 5 ชนิด นอกจากนี้ยังพบสัตว์ทะเลหายากที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์ใด ๆ ย่อมทำให้เกิดการสูญพันธ์ขึ้นมาได้ในอนาคต แนวทางการขึ้นบัญชีเพื่อให้สัตว์ทะเลหายากให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย เป็นกลไกที่สำคัญ ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา

กรมทรัพยากรทางทะเลละชายฝั่งประสบความสำเร็จในการนำเสนอสัตว์ทะเลหายากขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน 4 ชนิดและสัตว์คุ้มครอง 16 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 นอกจากนี้ กรม ฯ ยังได้เตรียมข้อมูลของสัตว์ทะเลหายากอีกหลายชนิด เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครองต่อไป

ภารกิจในการสำรวจสถานภาพสัตว์ทะเลหายากเป็นส่วนสำคัญในการติดตามความสำเร็จของการอนุรักษ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ร่วมกับวิธีการสำรวจมาตรฐานทำให้สามารถประเมินสถานภาพได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น เทคโนโลยีที่นำมาใช้ได้แก่ ระบบฐานข้อมูลภาพเพื่อระบุตัวตน ระบบรับฟังสัญญาณเสียงใต้น้ำ การติดตามด้วยเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม ตลอดจนการใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อการสำรวจสัตว์ทะเลหายากและจัดทำแผนที่แหล่งที่อยู่อาศัย

Advertisment

การช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อช่วยฟื้นฟูจำนวนประชากร เพื่อช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นให้มีโอกาสรอดสูงขึ้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดตั้งศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก 5 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมด โดยทำงานร่วมกับแนวร่วมเครือข่ายองค์กรในพื้นที่ มหาวิทยาลัย และชุมชนมากกว่า 25 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการจัดฝึกอบรมสัตวแพทย์ นักวิชาการเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครชุมชน มากกว่า 800 คน ในระหว่างปี พ.ศ.2558 – 2560 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับเครือข่ายการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากสามารถทำการช่วยเหลือและจัดการสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นได้เฉลี่ยปีละ 419 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 57% โลมาและวาฬ 38% และพะยูน 5% สาเหตุการเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลแลพะยูนส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องประมง คิดเป็นสัดส่วน 74% และ 89% ตามลำดับ ในขณะที่การเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ คิดเป็น 63%

พื้นที่คุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก เป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศในการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จึงบูรณการแนวคิดจากระดับรากหญ้า นักวิชาการ และองค์กรในพื้นที่ จัดทำโครงการนำร่องในการคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก ตลอดจนทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อมอื่น จัดเป็นเป็นร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ผลสัมฤทธิ์ของโครงการดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เป็นแนวทางการเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

เนื่องจากสัตว์ทะเลหายากส่วนใหญ่เป็นสัตว์ทะเลที่มีการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล มักมีวงจรชีวิตที่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าอาณาเขตทางทะเลของประเทศใดประเทศหนึ่ง ความร่มมือระหว่างประเทศจึงเป็นกลไกที่สำคัญในการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก ประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมเป็นประเทศภาคีเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก โดยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล ในปี พ.ศ. 2544 และลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์พะยูน ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งบันทึกความร่วมมือทั้งสองฉบับเป็นการทำร่วมกันของประเทศที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลทั้งสองกลุ่ม ภายใต้การสนับสนุนของสนธิสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์สัตว์อพยพย้ายถิ่น (CMS) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติ (UN)