ปรากฏการณ์ “โปรไฟล์เกาหลี” กูรูเตือนข้อควรระวังใช้แอปแต่งรูป

คุยกับ “ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร” ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย PDPA เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ AI สร้างภาพและบริการรับจ้างต่อคิวจากปรากฏการณ์ “โปรไฟล์เกาหลี”

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าปรากฏการณ์ “โปรไฟล์เกาหลี” ที่กำลังเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ใช้งานบางส่วนเกี่ยวกับการนำข้อมูลไปใช้ต่อของแอปพลิเคชั่น หลังจากส่ง “รูปถ่าย” ที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลเข้าสู่ระบบการประมวลผลด้วย “AI”

นอกจากนี้ ธุรกิจ “รับจ้าง” ต่อคิวที่เกิดขึ้นมาเพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้ใช้งานที่ต้องการรูปโปรไฟล์สวย ๆ แต่ไม่มีเวลาต่อคิวเข้าใช้งานแอปอาจเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด เพราะผู้ใช้งานต้องส่งรูปภาพของตนเองจำนวน 10-20 ภาพ ให้กับบุคคลที่สามที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย PDPA เพื่อคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยในการส่งมอบข้อมูลให้กับแอปและบุคคลที่สาม

แอปประเภทนี้มีการทำงานอย่างไร ทำไมต้องจำกัดจำนวนการเข้าใช้งาน ?

ซอฟต์แวร์ของแอปตัวนี้ อาจจะมีการเปิดสิทธิให้คนไปใช้ในจำนวนจํากัด หรืออาจจะต้องมีระยะเวลาในการประมวลผลพอสมควร ไม่ใช่ว่าดาวน์โหลดโปรแกรมมาแล้วจะสามารถเข้าถึงได้ทันที ต้องมีการจองคิว พอถึงคิวก็ใส่รูปเข้าไปแล้วรอการประมวลผลออกมา

ทําไมในเชิงธุรกิจไม่สามารถทำได้ทันที ผมมองว่า อย่างแรกคือความสามารถของบริษัทที่เขาจะพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้ ต้องอาศัยการประมวลผลที่ค่อนข้างดีมาก ซึ่งแลกมากับการใช้เวลา

อย่างที่สอง บริษัทไม่สามารถลงทุนในฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่จะทําให้เกิดการประมวลผลได้ทันที เขาเลยต้องจํากัดปริมาณและจํานวนการใช้งาน หรืออาจจะเป็นเทคเทคนิคทางการตลาดก็ได้เช่นกัน

แอปประเภทนี้จะเอารูปภาพของเราไปใช้งานอย่างไร ?

สิ่งที่บริษัทพวกนี้ต้องการ คือรูปจำนวนมาก ยิ่งมีคนเอารูปเข้าไปใส่ในระบบ ยิ่งทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้เร็วขึ้น พอใส่รูปเข้าไป โปรแกรมก็จะแยกเลยว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เป็นคนจากประเทศไหน ช่วงอายุเท่าไร ถ้าใส่รูปไปเฉย ๆ ก็ไม่มีประเด็นอะไร แต่ถ้ามีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลผสมกับรูปที่ใส่ไป แปลว่ามีการเรียนรู้กันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น โปรแกรมก็จะรู้จักเรามากกว่าแค่รูปที่ใส่ไป

ซอฟต์แวร์หรือแอปแต่งรูป คือบริษัทที่ใช้ความสามารถของ AI เพื่อทำความเข้าใจว่า ต้องปรับแต่งภาพอย่างไร และเรียนรู้ว่าคนชอบภาพแบบไหน โปรแกรมก็จะปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แม้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกดึงดูดไป แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราให้ข้อมูลมากกว่าสิ่งที่ควรให้ไหม

แอปประเภทนี้สามารถนำรูปภาพของเราไปใช้ต่อได้อย่างไรบ้าง ?

ผมตัวอย่างการใช้งานโซเชียลมีเดียแล้วกัน ปกติเราโพสต์รูปบนโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว บริษัทพวกนี้จะถูกกำหนดเงื่อนไขการเอาข้อมูลไปใช้ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละประเทศ ทำให้ไม่กล้าที่จะเอาข้อมูลของเราแม้แต่รูปถ่ายไปผสมกับข้อมูลอื่น ๆ

ถามว่ามีอะไรน่ากังวลไหม ผมมองว่า ถ้าเราเอารูปไปใส่แล้วให้โปรแกรมประมวลผลออกมาหลาย ๆ แบบ พอเราเลือกรูปที่ตัวเองชอบ ระบบก็จะแค่เรียนรู้ความชอบของเรา แต่ถ้าเราใส่ข้อมูลอื่น ๆ ไปด้วย เช่น ชื่อ-นามสกุล อีเมล์ หรือมีกรณีที่ต้องจ่ายเงินแล้วต้องใส่ข้อมูลบัตรเครดิต ระบบก็จะรู้ว่าใครเป็นเจ้าของรูปและเข้าถึงข้อมูลของเรามากขึ้น

การส่งรูปถ่ายตนเองให้ “นายหน้า” ที่รับต่อคิวใช้แอป ต้องระวังอะไรบ้าง ?

ในกรณีที่มีคนรับจ้างทําแทนแล้วเขาดำเนินการจ่ายเงินแทนเราเสร็จสรรพ ข้อมูลที่คนกลางได้จะน้อยกว่าข้อมูลที่แอปได้จากเราโดยตรง เพราะเวลาที่เราโอนให้คนกลางอาจจะโอนเข้าบัญชี ซึ่งร้านจะไม่รู้เลขบัตรเครดิตของเรา แต่ถ้าเราจ่ายให้แอปโดยตรง เท่ากับว่า เราให้ข้อมูลบัตรเครดิตกับแอป ถ้าเขาเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือ ระบบการชําระเงินออนไลน์ก็ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัย

แต่การใช้บริการนายหน้ามีความเสี่ยงในกรณีที่เราจ่ายเงินไปแล้วต้องมั่นใจว่า นายหน้าจะไม่ใช้เงินนี้หลังจากได้เงินของเราไป หรืออาจเป็นในแง่ที่บุคคลอื่นรับรู้ข้อมูลพื้นฐานของเราเพิ่มขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงคนละแบบ เพราะถ้าซอฟต์แวร์ได้ข้อมูลของเราไป เขาก็มีการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลตามการคุ้มครองของกฎหมาย

ส่วนรูปถ่ายที่ส่งให้กับนายหน้า ผมมองว่าส่วนใหญ่รูปพวกนี้เป็นรูปที่เราเปิดเผยได้อยู่แล้ว ไม่น่าจะกระทบอะไร จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปจริงหรือรูปจากแอป เขาก็ไม่ควรเก็บไว้ทั้งคู่ ซึ่งในมุมคนไทยอาจจะไม่ซีเรียสเรื่องนี้ แต่ถ้าเขาเอารูปไปใช้นอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ ก็อาจจะไม่เหมาะสมแล้ว เพราะฉะนั้น การจะเอาข้อมูลไปใช้ควรมีการตกลงและขออนุญาตกันก่อน

การใช้บริการ “นายหน้า” เพิ่มโอกาสในการสร้าง “ตัวตนเทียม” บนโลกออนไลน์หรือไม่ ?

เขาไม่ควรเอารูปของเราไปทํา เพราะผิดกฎหมาย แต่ต่อให้เราไม่ให้ข้อมูลเขา เขาก็ไปหาข้อมูลบนออนไลน์ได้อยู่ดี เพราะทุกวันนี้ เราโพสต์ข้อมูลบนโลกออนไลน์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะให้ข้อมูลเขาหรือไม่ ถ้าเขาเอาไปใช้ในลักษณะนี้ ผิดกฎหมายแน่นอน และเราก็อยู่ในจุดที่ฟ้องร้องหรือเรียกค่าเสียหายได้

จริง ๆ ไม่ใช่แค่ว่าเอาไปโพสต์แล้วปลอมตัวอย่างเดียว ถ้าเขาใช้ข้อมูลของเรามาอ้างอิงนอกเหนือจากขอบเขตที่เราคุยกัน เราก็สามารถร้องเรียนได้แล้ว แต่สังคมไทยมีเรื่องของการถ้อยทีถ้อยอาศัย ถ้าเป็นต่างชาติ จะซีเรียสเรื่องนี้มาก อาจมีการฟ้องร้องกันเลย

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย PDPA ต้องการฝากอะไรถึงผู้ใช้งานบ้าง ?

ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องระมัดระวังในการใช้งานเสมอ