อนาคตทีวีดิจิทัล-ค่ายมือถือ อานิสงส์ ม.44 ใครได้ใครเสีย

ก่อนสิ้นเดือน มี.ค. 2561 นี้ คาดกันว่า นอกจากรัฐบาลโดย “คสช.” จะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจทีวีดิจิทัลแล้ว ยังจะผ่อนผันการจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz งวดสุดท้าย ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟ เอชยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ที่ทั้งคู่ขอแบ่งการชำระเงินในงวดสุดท้ายกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดจ่ายเงินในปี 2562 ออกเป็น 5 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

แม้ไม่ได้ตามนั้นทั้งหมด เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่แบ่งจ่ายด้วย แต่ก็ทำให้ภาระทางการเงินของทั้งคู่คลี่คลายลงมาก ได้จ่ายปีละหมื่นกว่าล้านบาทอีก 5 งวดแทน โดยเฉพาะสำหรับการระดมทุนใหม่เพื่อสู้ศึกประมูลคลื่นครั้งใหม่ หากจะมีการประมูลอีกครั้งในปีไหนก็แล้วแต่ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ต้องรับภาระ ก็เป็นเพียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.5%

“เอไอเอส-ทรู” พร้อมประมูล

ทั้ง “เอไอเอส-ทรู” โล่งไปเปลาะหนึ่ง แต่สิ่งที่ทั้งคู่ต้องการไม่ใช่แค่นั้นก่อนหน้านี้ “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายสำหรับบริษัท และอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม คือต้นทุนการบริการ จากค่าคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป เพราะการประมูลคลื่นในช่วงที่ผ่านมา

“เอไอเอส” มีคลื่น 55 MHz ซึ่งการที่จะทำให้เกิดโลกดิจิทัลที่สมบูรณ์ ต้องยอมรับว่า คลื่นความถี่มีความจำเป็น อย่างสิงเทล ซึ่งเป็นโอเปอเรเตอร์ที่มีลูกค้าน้อยกว่าเรา แต่กลับมีความถี่มากกว่าถึง 2 เท่า คลื่นจึงจำเป็นมาก เพื่อสร้างบริการใหม่ ๆ แต่ถ้าคลื่นมีราคาแพงจะทำให้อุตสาหกรรมเดินลำบาก

“สมชัย” มองว่า รัฐควรจะรีเซตให้อุตสาหกรรมอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม โดยเฉพาะมูลค่า “คลื่นความถี่” ไม่ใช่ยิ่งแพงยิ่งดี โดยมองภาพรวมของประเทศ ที่ผ่านมา แม้การประมูลคลื่นจะทำให้รัฐได้เงิน 1.5 แสนล้านบาท แต่ทำให้มูลค่าธุรกิจโทรคมนาคมของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หายไป 7 แสนล้านบาท เพราะนักลงทุนเห็นว่า เป็นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล เป็นต้น

ฟาก “ทรู” เอง แหล่งข่าวภายในระบุว่า การได้แบ่งจ่ายค่าประมูลก้อนใหญ่ออกไป จะทำให้บริษัทสามารถประเมินแผนการเข้าประมูลคลื่นความถี่ใหม่ที่ กสทช.จะจัดขึ้น และวางแผนลงทุนโครงข่ายได้คล่องตัวขึ้น

ผลดีตกกับ “กสทช.-รัฐบาล”

ขณะที่แหล่งข่าววงการโทรคมนาคม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การใช้มาตรา 44 ให้แบ่งจ่ายค่าประมูลได้ผลดีจะตกอยู่กับ “กสทช.” เอง เพราะปัจจุบัน 2 ค่ายมีคลื่นในมือทั้งที่ประมูลได้และที่เป็นพันธมิตรกับรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมราว 55 MHz ซึ่งน่าจะเพียงพอกับการให้บริการลูกค้าไปได้ระยะหนึ่ง ความจำเป็นในการเข้าประมูลคลื่นสัมปทาน “ดีแทค” ที่จะสิ้นสุด ก.ย.นี้ จึงมีน้อย ยิ่งด้วยราคาเริ่มต้นที่สูงลิ่ว โอกาสที่ 2 ค่ายจะไม่เข้าประมูลมีสูง การหวังให้มีผู้ประกอบการรายใหม่มาเข้าแทบไม่มีทาง

“หาก กสทช.จัดประมูลคลื่นแล้วไม่มีใครเข้าร่วมประมูล จะเสียหน้ามาก และรัฐบาลก็ไม่ได้รายได้จากการประมูลคลื่นเข้ารัฐ คลื่นที่เป็นทรัพยากรที่มีค่าทางเศรษฐกิจจะไม่ถูกนำไปใช้งาน”

“ดีแทค” วิกฤตคลื่น-องค์กร

ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ภารกิจในการเปิดประมูลคลื่นใหม่จะอยู่ในความรับผิดชอบของ “กสทช.” ชุดใหม่ ที่อยู่ในระหว่างการสรรหา โดยล่าสุดประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะบรรจุวาระการประชุม สนช. ในวันที่ 22 มี.ค. 2561 ให้รับทราบรายงานของคณะกรรมการสรรหาที่เสนอ 14 รายชื่อของผู้ที่เหมาะสม ( 2 เท่าของจำนวนกรรมการ) และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบประวัติ ก่อนลงคะแนนเลือกผู้สมควร เป็นกรรมการ กสทช.ทั้ง 7 คน ให้ทัน 19 เม.ย. 2561

ก่อนเสนอรายชื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบภายใน 20 วัน เพื่อให้นำความกราบบังคมทูลต่อไป

สำหรับภารกิจเร่งด่วน “กสทช.” ชุดใหม่หนีไม่พ้นการจัดการประมูลคลื่น ใต้สัมปทานดีแทค ซึ่งบอร์ดชุดปัจจุบันได้เปิดประชาพิจารณาเงื่อนไขไว้แล้ว ทั้งมีข้อเสนอว่าให้ปรับเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz จากเดิมที่จะนำออกประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz เป็นแบ่งคลื่นเป็น 9 สลอต สลอตละ 5 MHz ผู้เข้าประมูลแต่ละคนได้ไม่เกิน 20 MHz แทน รวมถึงระงับการประมูลคลื่น 900 MHz ไปก่อนจนกว่าจะมั่นใจว่าอุปกรณ์กันคลื่นกวนกันกับระบบรถไฟความเร็วสูงมีประสิทธิภาพเพียงพอ

ไม่มีใครรู้ว่า “กสทช.ชุดใหม่” จะประมูลคลื่นตามข้อเสนอเดิม หรือนับหนึ่งใหม่ แต่ยิ่งช้า “ดีแทค” ยิ่งตกที่นั่งลำบาก ด้วยว่าทันทีที่สัมปทานสิ้นสุดลง “ดีแทค” จะเหลือแค่คลื่น 2100 MHz แค่ 15 MHz สำหรับลูกค้ากว่า 20 ล้านราย

ขณะที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือปัจจุบันให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูล (ดาต้า) มากขึ้นทุกที ถ้ามีคลื่นน้อยมีผลต่อคุณภาพบริการ

ขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อยังไง “ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ซีอีโอ “ดีแทค” ประกาศลาออกเพื่อกลับไปทำงานในสวีเดนบ้านเกิด โดยจะมีผลใน ก.ย.นี้หรือจนกว่าจะสรรหาซีอีโอคนใหม่ได้

การไม่มีแม่ทัพตัวจริงบัญชาการรบ ปฏิเสธไม่ได้ว่า มือวางอันดับสามอย่าง “ดีแทค” ย่อมตกในภาวะยากลำบากยิ่ง

ในรายงานผลการดำเนินการปี 2560 ที่แจ้งต่อ ตลท. “ดีแทค” ระบุว่าปี 2561 จะพัฒนาภาพลักษณ์องค์กรดิจิทัลเพื่อเป็นแบรนด์ดิจิทัลอันดับ 1 ในปี 2563

โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งาน รวมทั้งนำเสนอบริการได้เฉพาะเจาะจงเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายจากการลดจำนวนช่องทางการขายและให้บริการรูปแบบเดิม และคาดว่าลูกค้าจะใช้บริการดิจิทัล รวมถึงช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

“เนื่องจากใกล้หมดอายุสัญญาสัมปทาน บริษัทมุ่งมั่นที่จะจัดหาคลื่นความถี่เพื่อพัฒนาความจุของโครงข่ายเพื่อส่งมอบบริการดิจิทัลที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ทั้งนี้ ประมาณการเงินลงทุนของบริษัทในปีนี้จะอยู่ที่ 15,000-18,000 ล้านบาท”

ยืดหนี้ทีวีต่อลมหายใจรายเล็ก

ฟากทีวีดิจิทัลก็เป็นสัญญาณที่ดี เพราะรอลุ้นมาตรการช่วยเหลือนี้มานาน ทั้งการได้พักหนี้ 3 ปี และได้รับเงินอุดหนุนค่าเช่าโครงข่ายสำหรับแพร่ภาพ (MUX) 50% แม้เมื่อ ธ.ค. 2559 คสช.จะเคยออกคำสั่งที่ 76/2559 ให้ผู้ประกอบการยื่นขอขยายค่างวดจ่ายเงินประมูลจากเดิมที่เหลืออีก 3 ปีเป็น 6 ปี โดยเสียดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.และ กสทช. ยังสนับสนุนค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมเพื่อนำช่องไปออกอากาศบนแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียมไปแล้ว

แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการหลายรายต้องการมากที่สุด คือ “เปิดทางให้คืนใบอนุญาตได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินประมูลที่เหลือ” แต่ยังไม่สำเร็จ โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางได้ชี้ขาดในคดี “ติ๋มทีวีพูล” นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ฟ้อง “กสทช.” ว่า เป็นการคืนใบอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม

ในที่ประชุมร่วมระหว่างรองนายกรัฐมนตรี “วิษณุ เครืองาม” กับ กสทช. ตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลฝั่งภาครัฐโดยเฉพาะ กสทช. ยืนยันหนักแน่นว่า คืนใบอนุญาตไม่ได้ “ผิดกฎหมาย” หากใช้ “ติ๋มโมเดล” ต้องรอคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เรียกว่า ดับฝันของเจ้าของช่องรายเล็กและรายใหญ่ที่ถือไลเซนส์มากกว่า1 ช่อง ซึ่งพยายามผลักดัน ชนิดที่เรียกว่าแวะเวียนเข้าหารือกับ กสทช.อยู่ตลอด รวมถึงการนำช่องไปเร่ขายกับหลายทุนใหญ่แต่ไม่สำเร็จ

ขณะที่บรรดาผู้ประกอบการรายกลาง ถือว่าช่วยผ่อนคลายในช่วง 3 ปีจากนี้ไป ด้วยการเพิ่มกระแสเงินสดในมือ ทั้งจากพักจ่ายค่างวดเงินประมูลปีละร้อยกว่าล้านบาท และค่าเช่า MUX ปีละเกือบ 60 ล้านบาทสำหรับช่อง SD และกว่า 170 ล้านบาทสำหรับช่อง HD ซึ่งจ่ายลดลง 50% เจ้าที่ได้นายทุนเข้ามาซื้อกิจการไปก่อนหน้านี้ ทั้ง ONE 31, GMM 25, AMARIN และ Spring News เรตติ้งขยับขึ้นมากในปีที่ผ่านมาจึงน่าจะหายใจคล่องขึ้นบ้าง

ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีเรตติ้งและรายได้ติด top 5 ยิ่งดีใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นช่อง 7HD และน้องใหม่มาแรง “เวิร์คพอยท์” ต้องจับตาดูว่า จะยื่นขอใช้สิทธิ์ดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน

เพราะเมื่อครั้งที่ คสช.มีคำสั่งที่ 76/2559 เป็น 2 ช่องที่ไม่ขอใช้สิทธิ์ขยายเวลาจ่ายค่างวด นอกจากช่อง TNN, ทรูโฟร์ยู และสปริงนิวส์ กลุ่มนี้เหลือจ่ายเงินประมูลอีกแค่ 2 งวด คือ พ.ค. 2561 และ 2562 ก็จะเป็นไทแก่ตัวมีแต้มต่อในธุรกิจนี้ยิ่งขึ้นไปอีก