พิธาพ่ายโหวตนายกฯ ดันพลังโซเชียล 50 ล้านเอ็นเกจเมนต์

เปิดสถิติกระแสโซเชียลตลอดวันโหวตนายกฯ ดันแฮชแท็กและข้อความไหลไม่ต่ำกว่า 100,000 ข้อความ หลังผลออกพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ ดันยอดเอ็นเกจเมนต์ 50 ล้านเอ็นเกจ 

วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ซึ่งเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, TikTok, Pantip และเว็บไซต์ข่าว โดยใช้คำสำคัญและใส่แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับการโหวตนายกฯ ทั้งหมดบนเครื่องมือ Social Listening หรือ ZOCIAL EYE ตลอดทั้งวันที่ 12-13 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา

จากวันที่ 12 ไปจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม มีข้อความการพูดถึงเพิ่มสูงขึ้น 10 เท่า มียอดรวมข้อความทั้งสิ้น 285,816 ข้อความ คิดเป็นเอ็นเกจเมนต์รวม 50 ล้านเอ็นเกจเมนต์ จากมากกว่า 55,000 ผู้ใช้งาน แน่นอนว่าช่องทางที่มีการพูดถึงอันดับ 1 คือ Twitter คิดเป็น 52% ของช่องทางทั้งหมด รองลงมาคือ Facebook คิดเป็น 42% และช่องทางอื่น ๆ 6% 

โพสต์ที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุดบนช่องทาง Twitter เป็นโพสต์ที่กล่าวชมการแสดงผลโหวตแบบเรียลไทม์ พร้อมบอกชื่อและพรรคของคนที่ลงคะแนน จัดทำโดยสำนักข่าว Thai PBS ได้รับการรีทวีตไปทั้งสิ้นมากกว่า 150,000 ครั้ง

โดยช่วงเวลาที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงสุดคือ 10.00-11.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นพิจารณาโหวตเลือกนายกฯ มีเอ็นเกจเมนต์สูงถึง 3.6 ล้านเอ็นเกจเมนต์ และช่วง 16.00-18.00 น. ซึ่งเป็นช่วงนับคะแนนโหวตไปจนถึงประกาศผล 

ในส่วนของ Sentiment หรือความรู้สึกนึกคิดต่อเรื่องดังกล่าว พบว่าเกิน 64% โพสต์ข้อความไปในเชิงลบ ในขณะที่ 32% มีความเห็นไปในเชิงเป็นกลาง มีเพียง 2% เท่านั้นที่แสดงความคิดเห็นในเชิงบวก

นอกจากการนำเสนอข่าวอัพเดตผลแบบเรียลไทม์ที่เกิดขึ้น ไวซ์ไซท์ จะมาสรุปความคิดเห็นบนโลกโซเชียลในภาพรวม ซึ่งแบ่งออกมาได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ถามหาการเคารพเสียงของประชาชน

เมื่อผลออกมาว่า พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ ทำให้ชาวโซเชียลหลายคนเกิดคำถามว่า แล้วเสียงของประชาชนยังมีความหมายอยู่หรือไม่? หนึ่งในโพสต์ที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงมาจากคำพูดในช่วงอภิปรายของ ส.ส.พรรคก้าวไกลที่กล่าวว่า หากนายกฯคนใหม่ไม่เป็นไปตามผลเลือกตั้ง แล้วเราจะมีผลการเลือกตั้งไปทำไม ประชาชนอยู่ที่ไหนของประชาธิปไตยในประเทศนี้ โพสต์นี้เพียงโพสต์เดียวได้รับการรีทวีตไปทั้งสิ้นกว่า 100,000 ครั้ง

‘งดออกเสียง’ ต่างกับการ ‘ไม่เห็นชอบ’ อย่างไร?

จากผลการโหวตที่ส่วนใหญ่งดออกเสียง ทำให้ชาวโซเชียลหลายคนพูดถึงเรื่องนี้ว่า ไม่ควรเก็บมาคิดเป็นคะแนน บ้างก็ว่าหากมาลงคะแนนว่างดออกเสียงจะมาทำไม หรือการงดออกเสียงต่างจากไม่เห็นชอบอย่างไร ในเมื่อสุดท้ายก็คิดรวมเป็นคะแนนไม่เห็นชอบอยู่ดี ข้อความส่วนมากเป็นไปในเชิงลบ และแสดงความไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีโพสต์จากดาราและนักร้องที่ออกมาพูดเรื่องนี้ เช่น โพสต์ของคุณไหมไทย หัวใจศิลป์ จากข้อความ ‘งดออกเสียง’ ถนอมเส้นเสียงไว้ทัวร์คอนเสิร์ตกันรึไง? ได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมไปมากกว่า 100,000 เอ็นเกจเมนต์เลยทีเดียว หรือโพสต์ของคุณเบิ้ล ปทุมราช ที่กล่าวว่า ‘อั่น งด ออกเสียงนิ สิหอบสังขาร ไปเปลืองแอร์ ทำไม’ เชื่อแล้วว่า #คนไทยเป็นคนตลก เพราะถึงแม้เรื่องราวจะเครียดเพียงใดโพสต์ที่ออกมาก็ยังเรียกรอยยิ้มให้ผู้อ่านได้อยู่ไม่น้อย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

#กกต.มีไว้ทำไม

อีกหนึ่งแฮชแท็กและเรื่องราวที่ได้รับความสนใจและมีคนพูดถึงทุกครั้งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองคงหนีไม่พ้นเรื่องการทำงานของ กกต. จากกรณี กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยปมหุ้น ITV โดยโพสต์ที่คนให้ความสนใจสูงมาก มาจาก Facebook ของคุณพอล ภัทรพล กวาดไปมากกว่า 260,000 เอ็นเกจเมนต์ และโพสต์จากคุณติ๊ก เจษฎาภรณ์ โพสต์ถามว่า #กกต.มีไว้ทำไมคะ ซึ่งมียอดคนดูเกิน 1 ล้านบนทวิตเตอร์

ยอดรวมการถูกพูดถึงผ่านข้อความและการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียจึงมีรวมกันกว่า 50 ล้านเอ็นเกจเมนต์เลยทีเดียว