SABUY Sure Market ธุรกิจซื้อ-ขายมือถือมือสอง ประกาศปิดกิจการ

SABUY Sure Market

“SABUY Sure Market” ธุรกิจรับซื้อ-ขายมือถือมือสอง ในเครือ SABUY ประกาศปิดกิจการ มีผล 30 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป ด้านผลประกอบการบริษัทแม่ ไตรมาส 1/2567 รายได้รวม 1.89 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 25.4% ขาดทุนสุทธิ 2.25 พันล้านบาท

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า SABUY Sure Market ธุรกิจรับซื้อ-ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่มือสอง ในเครือบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ประกาศปิดกิจการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

รายงานบนเพจเฟซบุ๊ก SABUY Sure Market ระบุว่า บริษัท SABUY Sure Market (สบายชัวร์มาร์เก็ต) ขอแจ้งปิดกิจการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

บริษัทขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ให้การสนับสนุนเรามาโดยตลอด โดยสินค้าทุกรายการที่ได้ทำการซื้อจากทางร้านจะยังได้รับการคุ้มครองตามระยะประกัน (30 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกันเริ่มคุ้มครอง) และสามารถติดต่อ-สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 08-3426-4226

ทั้งนี้ บริการ Customer Service และ Social Media ทุกช่องทางจะให้บริการลูกค้าทุกท่านอย่างสุดความสามารถ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 นี้

Advertisment
SABUY Sure Market
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก SABUY Sure Market

จากการตรวจสอบข้อมูลบน Creden Data แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลบริษัทในไทย พบว่า บริษัท สบาย ชัวร์ มาร์เก็ต จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 เพื่อประกอบกิจการร้านขายปลีกอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท

ก่อนหน้านี้ บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2567 ว่า บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1.89 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 8.5% และจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.4% ขาดทุนสุทธิ 2.25 พันล้านบาท และขาดทุนสุทธิในส่วนของบริษัทใหญ่ 1.96 พันล้านบาท

โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบันทึกรับรู้ผลขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุน บริษัท ดับเบิ้ลเซเว่น จำกัด (DOU7) จำนวน 995.60 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจำหน่ายเงินลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท อันจะส่งผลให้บริษัทสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทได้อย่างเต็มที่

และการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจำนวนเงิน 575.60 ล้านบาท ในเงินลงทุน SBNEXT จากการมีข้อบ่งชี้ว่าบริษัทอาจสูญเสียอำนาจการควบคุมในบริษัทย่อยในไตรมาสที่ 2

Advertisment

รวมถึงยังต้องรับรู้ผลขาดทุนจำนวน 173.36 ล้านบาท ในเงินลงทุน Citysoft, Ocapital, Sabuy alliance, Oops network & Redhouse อันเนื่องมาจากมีข้อบ่งชี้ว่าธุรกิจดังกล่าวอาจไม่อยู่ในแผนธุรกิจของกลุ่ม Lightnet ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2

รายงานระบุด้วยว่า จากปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะตลาดเงิน/หุ้นกู้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 กลุ่มบริษัทตัดสินใจเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจให้กระชับยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมตัวเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจในระดับมหภาค ที่ส่งผลต่อความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคระดับย่อย

ซึ่งกลุ่มบริษัทมุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ลดค่าใช้จ่ายและความซ้ำซ้อน โดยกลุ่มบริษัทถือเรื่องสภาพคล่องเป็นความสำคัญลำดับแรกสุด และมุ่งเน้นเพื่อบริหารจัดการอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นธุรกิจหลัก 5 ส่วน คือ SABUY, SBNEXT, PTECH, SABUY SPEED (กลุ่มธุรกิจ Drop-Off) และ Asphere โดยมุ่งเน้นเรื่องการหารายได้อย่างเข้มงวด และกวดขันเรื่องยอดขายต่อคน ต่อทีม ขยายตลาดไปยังเซ็กเมนต์อื่น ขยายผลิตภัณฑ์ และขยาย cross sell ภายในกลุ่มบริษัท เพื่อครอบคลุมความต้องการ และการตอบสนองของผู้บริโภคได้รอบด้านมากขึ้น

โดยแผนธุรกิจปี 2567 กลุ่มบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า DEC หรือ Digital Enterprise Consumer ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจดังต่อไปนี้

1.Digital ประกอบไปด้วยธุรกิจ AS game, Bitkub, E money, Market Tech, Cloud, Speed, Maketing Oops! จะเป็นธุรกิจที่จะพาประเทศไทยข้ามสู่ยุคดิจิทัลในแบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

2.Enterprise ประกอบไปด้วยธุรกิจ Card, Buzzebees CRM, Call Center and Broker insurance เป็นธุรกิจ B2B ที่จะช่วยยกระดับธุรกิจ

3.Consumer ประกอบไปด้วยธุรกิจ SBNEXT direct to home, ผ่อนสบาย, Vending machine เป็นธุรกิจที่จะเข้าถึงชุมชนทั้ง Vending Machine ร้านผ่อนสบายให้สินเชื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องกรองน้ำ