กสทช.ผุดเกณฑ์ประมูลเพิ่ม กันดีแทคกั๊ก-คุมเข้ม”ร้านตู้”

ฐากร ตัณฑสิทธิ์(แฟ้มภาพ)

กสทช.เพิ่มเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz สกัด “ดีแทค” กันท่ากั๊กคลื่น “เอไอเอส-ทรู” ย้ำห้ามผู้ชนะประมูลราคาสูงสุดเลือกบล็อกคลื่นสกัดผู้ถือคลื่นเดิมที่ชนะประมูลเหมือนกัน พร้อมคุมเข้ม “ร้านตู้” ลงทะเบียนซิม ขีดเส้นผู้บริโภคเปิดเบอร์ใหม่ค่ายเดิมเกิน 5 ซิม ต้องลงทะเบียนใช้งานที่ศูนย์บริการเท่านั้น กำชับค่ายมือถือต้องคุมเข้ม หากฝ่าฝืนต้องรับผิดทางแพ่งร่วม

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช.ล่าสุด (25 ก.ค. 2561) มีมติให้สำนักงาน กสทช.ออกประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 1800 MHz โดยระบุให้ ผู้ชนะการประมูลที่เสนอราคารวมสูงสุด มีสิทธิ์เลือกบล็อกคลื่นที่จะขอรับใบอนุญาตได้ก่อนรายอื่น แต่ถ้าไม่ได้เป็นผู้ที่ถือครองคลื่นย่านนี้อยู่ก่อน จะต้องไม่เลือกบล็อกคลื่นที่อยู่ติดกับบล็อกของผู้ถือครองคลื่น 1800 MHz อยู่ก่อนและเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้

ด้วย ส่วนกรณีเป็นผู้ถือครองคลื่น 1800 MHz อยู่เดิม แต่ไม่สามารถเลือกบล็อกคลื่นที่ติดกับที่ใช้งานอยู่เดิมได้ ให้สามารถย้ายการใช้งานคลื่นความถี่ตามสิทธิทั้งหมดไปยังช่วงความถี่ที่ว่างพอสำหรับตัวเองได้

“ออกเกณฑ์เพิ่มเพื่อไม่ให้กระทบสิทธิ์ของผู้ถือครองคลื่น 1800 MHz อยู่เดิม เพราะหากถูกสกัดไม่ให้เลือกย่านติดกับที่ใช้อยู่ จะต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งก็ออกเผื่อไว้ก่อน เพราะจัดประมูล 9 ไลเซนส์ 9 บล็อก ก็ไม่รู้ว่าแต่ละรายจะประมูลกันคนละกี่บล็อก จะได้ไม่เกิดการกันท่าคนใช้คลื่นอยู่เดิม”

ด้านแหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช.เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เหตุที่ต้องเพิ่มเงื่อนไขเพราะเอไอเอสกับทรู ต้องการให้ กสทช.ยืนยันให้ชัดเจน ก่อนที่จะเข้าประมูล ซึ่งทางสำนักงานก็เห็นด้วย เพราะหากปล่อยให้เลือกคลื่นกันท่ากัน หรือเกิดบล็อกคลื่นเป็นฟันหลอ การใช้งานคลื่นก็จะไม่มีประสิทธิภาพ การสับเปลี่ยนบล็อกคลื่นให้เรียงติดกันได้จะมีประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจและประโยชน์สาธารณะมากกว่า โดย ณ ปัจจุบัน สำนักงาน กสทช.ก็ยังมั่นใจว่า ในวันที่ 8 ส.ค.นี้ จะมีค่ายมือถือยื่นเอกสารขอเข้าประมูลแน่นอน

ขณะเดียวกัน บอร์ด กสทช.ยังมีมติให้ค่ายมือถือต้องควบคุมการลงทะเบียนซิมการ์ดเพื่อใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยผู้ใช้งานประเภทบุคคลธรรมดา หากจะเปิดใช้งานเบอร์ที่ 6 ขึ้นไปภายในค่ายเดียวกัน จะต้องลงทะเบียนซิมที่ศูนย์บริการลูกค้าของค่ายนั้น ไม่สามารถลงทะเบียนซิมที่ “ร้านตู้” ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายย่อยได้ และค่ายมือถือต้องรายงานให้สำนักงาน กสทช.ทราบด้วย พร้อมกับต้องมีข้อกำหนดในสัญญาระหว่างค่ายมือถือกับร้านตู้ให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะตัวการตัวแทน โดยค่ายมือถือจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในทางแพ่งต่อผู้ใช้บริการและบุคคลภายนอกในการกระทำของตัวแทนจำหน่ายด้วย

“กสทช.ไม่ได้จำกัดสิทธิ์ผู้ใช้งาน แต่ละคนจะมีซิมการ์ดในค่ายเดียวกันมากกว่า 5 เบอร์ก็ได้ แต่ต้องลงทะเบียนที่ศูนย์บริการ ถ้าร้านตู้ฝ่าฝืน ค่ายมือถือก็ต้องรับผิดชอบด้วย ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้ใช้ทั่วไปจะใช้เบอร์ทุกค่ายรวมกัน 8-10 เบอร์ จึงไม่กระทบ ส่วนคนที่ใช้งานเกินอยู่แล้วก็ยังใช้งานได้ต่อไม่กระทบเช่นกัน เพียงแต่ถ้าจะเปิดเบอร์ใหม่ก็ต้องไปที่ศูนย์บริการ คนที่ทำธุรกิจเบอร์สวย-เบอร์มงคลที่ต้องจดทะเบียนซิมถือไว้เยอะ ๆ ก็เช่นกัน ทำได้เหมือนเดิม แต่ต้องไปลงทะเบียนซิมที่ศูนย์บริการ”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 แบบมีโครงข่าย อายุใบอนุญาต 15 ปี แก่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้บริการโครงข่าย สามารถวางโครงข่ายระบบท่อ เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารนำสายลงดิน ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลได้