RightRice ข้าวทางเลือกที่ดีกว่า

คอลัมน์ Startup ปัญหาทำเงิน โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

“คีท เบลลิ่ง” เป็นอีกคนที่หลงใหลรสสัมผัสของข้าว ยิ่งกินคู่กับแกงแล้ว ยิ่งเริด แต่ชะรอย “คีท” จะเพลินกับอาหารจานโปรดนี้มากไปหน่อย รอบเอวจึงขยายต่อเนื่อง ในที่สุด เลยต้องมองหาอาหารอื่นที่มีความนุ่ม ฟู อร่อย เหมือนข้าว แต่มีคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่ามาทดแทน

หาไปหามา ไม่โดนใจสักที “คีท” จึงตัดสินใจพัฒนาสูตรขึ้นเอง กลายเป็นข้าวที่กว่า 90% มาจากถั่วหลายชนิด ทั้งถั่วเขียว ถั่วลันเตา และถั่วเลนทิล

ตั้งชื่อว่า RightRice ที่ให้โปรตีนมากกว่าข้าวขาวธรรมดาถึง 2 เท่า และมีกากใยไฟเบอร์เพิ่ม 5 เท่า แต่คงรสสัมผัสและหน้าตาเหมือนข้าวแท้ ๆ ที่นุ่ม หอม กินกับอะไรก็อร่อย

RightRice จะวางจำหน่ายผ่าน Amazon และ Whole Foods Market ในเดือนหน้า หลังระดมทุนรอบแรกมาได้ 5.5 ล้านเหรียญ

ถึงจะบริโภคข้าวทั่วโลกกว่าปีละ 700 ล้านตัน แต่มีคนจำนวนมากตื่นตัวเรื่องคุณค่าโภชนาการของอาหารที่กิน

โดยเฉพาะข้าวที่มักโดนค่อนแคะว่าอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต กินมากก็อ้วน ส่งผลเสียต่อร่างกายต่าง ๆ นานา

การสำรวจประจำปีของ International Food Information Council พบว่า ผู้บริโภค 25% โบ้ยความผิดไปที่คาร์โบไฮเดรตว่าเป็นต้นเหตุของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้คนอเมริกันกินข้าวน้อยลง เพราะรายงานของกระทรวงเกษตรของสหรัฐระบุว่า อัตราการผลิตและบริโภคข้าวทั่วโลกลดลงในปี 2017-2018 โดยอเมริกาเป็น 1 ใน 3 ประเทศหลักที่ลดลง

ในขณะเดียวกัน กลับพบว่า มีผู้ผลิต “ข้าวทางเลือก” ที่ทำจากพืชผักมากขึ้น ทั้งจากกะหล่ำดอก ถั่วสารพัดชนิด สำหรับคนรักสุขภาพ

แต่ “คีท” เชื่อว่า RightRice ของเขาโดดเด่นกว่า ตรงที่ยังผสมข้าวด้วย ไม่ได้มีแต่ผัก ทำให้น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ติดรสสัมผัสข้าวแบบดั้งเดิม แต่ไม่อยากกินแป้งมาก

จากการสำรวจของ Neilson พบว่าผู้บริโภคในอเมริกากว่า 88% ยินดีจะจ่ายเพิ่มเพื่อซื้ออาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และกว่า 39% มองหาอาหารทางเลือกที่ทำจากพืชต่าง ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเมนูสุขภาพเดิม ๆ อย่างเต้าหู้ หรือข้าวไม่ขัดสีเท่านั้น แต่หมายถึงบรรดานวัตกรรมอาหารใหม่ ๆ ที่กำลังมาแรงอย่าง แฮมเบอร์เกอร์ที่ทำจากพืช เป็นต้น

กระแสรักสุขภาพทำนองนี้ทำให้ยอดขายอาหารที่ทำจากพืชสูงขึ้นถึง 17% ในปี 2018 คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.7 พันล้านเหรียญ

จึงไม่น่าแปลกใจที่สตาร์ตอัพในกลุ่ม FoodTech ยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มนักลงทุนที่มองหาแหล่งอาหารใหม่ ๆ มารองรับความต้องการที่เปลี่ยนไปของตลาด

เมืองไทยเราที่เคยได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ก็น่าจะลองมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ในวันที่การแข่งขันสูง และราคาข้าวตกต่ำดูบ้าง แทนที่จะก้มหน้าก้มตาปลูกข้าวแบบดั้งเดิมอย่างเดียว ไม่แน่ว่าการผลิตข้าวทางเลือกที่ให้สารอาหารที่มากกว่า อาจโดนใจตลาดคนใส่ใจสุขภาพซึ่งมีกำลังซื้อก็เป็นได้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!