องค์กรเล็กโตไววิชั่นใหญ่ “แกร็บ” พร้อมสู้ตลาดเดือด

ครบ 1 ปีที่ “ธรินทร์ ธนียวัน” นำทัพ “แกร็บ” หนึ่งในทุนใหญ่ที่ปักธงลุยตลาดไทย ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย พร้อมประกาศจะก้าวสู่ซูเปอร์แอป ครองเบอร์ 1 ในตลาด “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยถึงความท้าทายท่ามกลางสมรภูมิเดือด

Q : ลุยสู่ซูเปอร์แอป

วางโพซิชั่นเป็นซูเปอร์แอป มีทั้งส่งอาหาร ส่งคน ส่งของ ให้บริการใน 16 จังหวัด 18 เมือง ปีเดียวคนขับเติบโต 2 เท่า บริการส่งอาหารก็เป็นที่ 1 ในตลาดตั้งแต่กลางปี เติบโต 40 เท่าใน 1 ปี มี 1 หมื่นร้านอาหารพันธมิตรยิ่งจับมือกับพาร์ตเนอร์ก็ช่วยให้ภาพลักษณ์ดี คนขับก็อยากอยู่กับเรา ถ้าเราถูกกฎหมาย จะยิ่งโตได้พฤติกรรมผู้ใช้เปลี่ยนไปสิ้นเชิง ช่วยให้แกร็บเติบโตได้มาก ปีนี้จะยิ่งเห็นหนักกว่าเดิม เทรนด์แชริ่งอีโคโนมีมาแรงมาก ในไทยเติบโตสูงมากในเรื่องฟู้ด รองมาคือ ทรานสปอร์ตและเอ็กซ์เพรสที่เติบโต 2 เท่า

Q : ผลักดันให้ถูกกฎหมาย

นโยบายทุกพรรคการเมืองเห็นด้วย ดังนั้น ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งก็พยายามยกเคส เช่น ในบุรีรัมย์ ที่มีงานโมเตอร์จีพี เป็นเคสที่ประสบความสำเร็จ ศักยภาพของแกร็บ ที่ช่วยซับพอร์ตนักท่องเที่ยวกว่า 15,000 คน กระจายรายได้ให้คนร้อยกว่าคน พอมีเคสที่สำเร็จก็ช่วยให้รัฐบาลมั่นใจขึ้น แท็กซี่ก็เข้าร่วมกับเราหลักหมื่นคัน เพราะผู้บริโภคไปแล้ว จะห้ามก็ไม่ได้ ตอนนี้ที่คนยังไม่เข้ามาในระบบ ก็ต้องอาศัยการอธิบายทำความเข้าใจ

Q : มีพาร์ตเนอร์เยอะมาก

เยอะ โดยเฉพาะรีวอร์ดที่ให้กับทั้งคนขับและผู้ใช้ ส่วนพาร์ตเนอร์ที่ร่วมลงทุนกับเรา อย่าง KBank สิ่งที่จะเพิ่มเติมคือ แกร็บเพย์ เป็นวอลเลตที่ใช้ในอีโคซิสเต็ม และอาจจะขยายไปข้างนอก ช่วงไตรมาส 2 น่าจะได้เห็น ส่วนที่เซ็นทรัลมาลงทุน ก็เป็น O2O (offline to online) เชื่อว่าจะเป็นอีก O ที่ช่วยเซ็นทรัลได้ ด้วยยอดแอ็กทีฟหลักล้าน/เดือนของแกร็บ

Q : อีกไกล ? กว่าจะเป็นซูเปอร์แอป 

เรามาถูกทางและมาได้เร็ว อย่างแค่ทรานสปอร์ต ฟู้ด และส่งของแค่ 3 ขา ก็ครอบคลุมชีวิตประจำวัน ส่วนขาแกร็บรีวอร์ดก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภาพที่คนสามารถใช้แกร็บได้ทุกวันเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตก็จะมีบริการอื่นที่ผู้บริโภคต้องการ เช่น ซื้อขายประกัน ซึ่งพันธมิตรสามารถทำร่วมกับเราได้ หรือเมื่อมีอีวอลเลต ก็จะมีข้อมูลนำไปให้บริการทางการเงินที่ลูกค้าสนใจได้ ซึ่งก็ไม่ได้ปิดกั้นแบงก์อื่น แต่ KBank เป็นเจ้าแรกเพราะมาลงทุนกับเรา แต่ถ้าเขารู้สึกว่าทำได้ไม่ดีเท่ารายอื่นก็ต้องให้เจ้าอื่นทำ ไม่แกร็บก็ต้องทำเอง อย่างปล่อยกู้ยังไม่มีใครทำ แต่คงอีกไม่นาน กฎหมายไม่ได้เป็นอุปสรรค

Q : ตลาดแข่งรุนแรง

คู่แข่งน้อยมาก แกร็บแข่งกับตัวเอง ไม่ได้โฟกัสที่รายอื่น ต้องให้เขามามองเรา วิ่งตามเรา เพียงแต่เราใช้เพื่อเปรียบเทียบว่าอันไหนที่ต้องปรับปรุง ซึ่งการแข่งขันเป็นเรื่องดี ทำให้ลูกค้าได้เปรียบเทียบ ได้เห็นว่าเราดีหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ฟู้ดดีลิเวอรี่แข่งรุนแรงมาก ตลาดเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น การเติบโตสูง แต่กำไรอยู่ที่คนขายกับคนใช้ ดังนั้น คนที่เข้ามาในตลาด ไม่ใหญ่จริงอยู่ไม่ได้

Q : แผนขยายธุรกิจ

ต้องเป็นเบอร์ 1 ในตลาดส่งคนและส่งของ เติบโตอย่างน้อย 1 เท่าจากปีก่อน ถ้ากฎหมายปลดล็อกเมื่อไร จะโตได้มากกว่านี้ ส่วนการขยายพื้นที่บริการ ถ้าจะเพิ่ม อาจจะเริ่มในจังหวัดที่มีเซ็นทรัล

Q : บริหารองค์กรที่โตเร็ว 

หลัก ๆ ต้องทำให้คนข้างในเข้าใจว่า องค์กรเราอายุน้อย แต่วิชั่นใหญ่ ทำให้ทีมรู้ว่า ทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนได้บ่อย เพื่อจะเป็นที่ 1 ไม่ใช่ใหญ่แล้วเปลี่ยนยาก ต้องทำงานแบบสตาร์ตอัพ ต้องอดทน พยายาม เปลี่ยนเร็ว การทำงานกับคนรุ่นใหม่ เราต้องให้เขาทำอะไรที่มีความหมาย ไม่ปิดกั้นที่แกร็บมาถึงจุดนี้ได้ส่วนหนึ่งเพราะวิชั่น แต่ต่อให้วิชั่นดี แต่ทีมไม่ดี ทุกอย่างก็ไปไม่ได้ ทีมแกร็บไทยค่อนข้างสเตเบิลที่สุดแล้ว แนวการทำงานแบบพาร์ตเนอร์เป็นสิ่งที่ไทยเริ่มและประสบความสำเร็จมาก ขณะที่คนขับรถก็ต้องควบคุมคุณภาพ มีการเทรนนิ่งให้เรตติ้ง เพราะคนที่เข้ามาขับไม่ใช่มืออาชีพ ขณะที่ลูกค้าไทยมีความต้องการเยอะ

Q : เศรษฐกิจกระทบไหม 

แกร็บยังไปได้ดีมาก เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปมาก มีการรับรู้แบรนด์เยอะขึ้น จากที่มี BNK48 และเป็นสปอนเซอร์ทีมชาติไทย คนปากต่อปาก ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี บริการแบบแกร็บยิ่งเติบโต เพราะคนก็มาขับแกร็บมากขึ้น ตอนนี้มีมาสมัครเป็นหลักร้อยต่อวัน

Q : คิดจะมีธุรกิจของตัวเอง ?

ก็อยาก แต่ยังคิดไม่ออก แต่ถามว่ามีความสุขกับแกร็บไหม ก็มีความสุข เพราะไม่เหมือนทำงาน มีวิชั่นที่ชัดเจนในการจะพาบริษัทและพนักงานไป เป็นเหมือนไลฟ์มิสชั่น อย่างปีที่แล้วต้องการให้มีดีลใหญ่ ๆ ก็มีได้ ปีนี้ก็ต้องการจะทำเรื่องกฎหมายให้สำเร็จ