อดีตผู้ก่อตั้ง “ลาซาด้า” ผุดธุรกิจใหม่ “เครีย” ช่วยแบรนด์ Go online

อดีตผู้ก่อตั้งลาซาด้า ผุดธุรกิจใหม่ เครีย (CREA) ที่ปรึกษาแบรนด์บุก เน้นอุตสาหกรรมความงามและสุขภาพเป็นหลัก ตั้งเป้า 12-24 เดือนขยายระดับภูมิภาค

นายไอโมเน ริพา ดิมีอานา ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เครีย (CREA) อดีตผู้ก่อตั้งลาซาด้า กล่าวว่า เครีย เป็นองค์กอิสระบริษัทให้บริการดิจิทัลคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจของแบรนด์ในการทำตลาดออนไลน์ โดยบริษัทจะเน้นที่ประเทศไทยเป็นหลัก เพราะตลาดออนไลน์ของไทยใหญ่ยังเป็นช่วงเริ่มต้นและใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย แม้ประชากรไทยมี 60 ล้านคน ขณะที่อินโดนีเซียมี 200 ล้านคน แต่ในด้านการใช้จ่ายถือว่าสูงพอ ๆ กัน และคนไทยมีแนวโน้มใช้งานอินเตอร์เน็ตมากขึ้น มีการใช้งานโซเชียลมีเดียรวมทุกแพลตฟอร์มกว่า 50 ล้านคน และมากกว่าครึ่งของคนไทยทั้งหมดเคยซื้อของผ่านโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้เทรนด์เริ่มเปลี่ยนจากการขายแบบ C2C เป็น B2C โดยผู้บริโภคเริ่มติดต่อแบรนด์โดยตรง ดังนั้นจะเห็นว่าแบรนด์เปิดเพจบนโซเชียลมากขึ้น

สำหรับตลาดออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ ออนไลน์ทราเวล ออนไลน์มีเดีย และ Ride Hailing ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าภายในปี 2025 จะมีมูลค่าถึง 2.4 แสนล้านเหรียญ คิดเป็น 8% ของ GDP ขณะที่มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซรวมกับออนไลน์มีเดียมีมูลค่าสูงถึง 120 ล้านเหรียญ และสำหรับสัดส่วนตลาดออนไลน์ของไทยคิดเป็น 8% ของการใช้จ่ายออฟไลน์ ขณะที่ประเทศจีนคิดเป็น 25% ดังนั้นยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และใน 8% นี้ ยอดขายผ่านโซเชียลมีเดียคิดเป็น 30-35% ของยอดขายออนไลน์ทั้งหมด โดยประเทศไทยเป็นที่ 1 ในการใช้จ่ายผ่านโซเชียลมีเดียในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ย้อนไป 7-8 ปีที่แล้ว การทำอีคอมเมิร์ซในไทยคิดเพียงแค่ 3 สิ่งหลัก ๆ 1.ทำยังไงให้ของขึ้นหน้าเว็บ 2.ทำยังไงให้ของถึงลูกค้า 3.เก็บเงินลูกค้ายังไง แต่ตอนนี้ทั้งร้านค้าและผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก ดังนั้นอีคอมเมิร์ซก็ต้องเปลี่ยน เช่น มีแชท, ไลฟ์สตรีมมิ่งขายของ นอกจากนี้มีเทรนด์ใหม่ ๆ เช่น โซเชียลคอมเมิร์ซ ดังนั้นนี่เป็นหนึ่งโซลูชั่นที่เข้ามา”

บื้องต้น บริษัทจะเน้นที่อุตสาหกรรมความงามและเครื่องสำอางเป็นหลัก เนื่องจากมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมความงามมีมูลค่าถึง 5.5 พันล้านเหรียญ มีการเติบโต 7-8% ต่อปี และสินค้ากลุ่มนี้ยังมียอดขายผ่านโซเชียลมากกว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และคนไทยใช้จ่ายกับสินค้าด้านความงามถึง 1.2% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด และสูงเป็น 2 เท่าของประเทศเกาหลี โดยบิซซิเนสโมเดลของบริษัทใช้รูปแบบเรเวอร์นิวแชร์ริ่ง โดยเก็บคอมมิชชั่นจากการเติบโตของแบรนด์ เพราะอยากให้ทุกแบรนด์เข้าหาได้ง่าย
สำหรับบริการมี 6 บริการ ได้แก่ 1.การสร้างแบรนด์ออนไลน์ 2.ให้ความรู้เชิงลึกและการทำงานในระบบต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ 3.โซเชียลคอมเมิร์ซ 4.แบรนด์ดิ้งครีเอทีฟ โดยการสร้างคอนเทนท์ที่น่าสนใจบนออนไลน์ 5.ให้ข้อมูลเชิงลึกด้านสถิติของทุกชาแนล แบรนด์ และคู่แข่ง เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้ทำการตลาดออนไลน์ และ 6.คำนวณความคุ้มค่าเงินที่ใช้ในการตลาดแต่ละช่วงทางว่าควรได้ ROI เท่าไหร่

“สาเหตุที่ซื้อของออนไลน์ เพราะราคาถูก มีส่วนลด และสินค้าน่าสนใจ แต่ในมุมอื่น ๆ ที่เลือก เพราะมีความมั่นใจว่าเป็นของแท้ถ้าซื้อจากแบรนด์ ต่อมาคือ คอนเทนท์ ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีความเชื่อมต่อกับสินค้าและแบรนด์ ซึ่งส่วนนี้แบรนด์เข้าใจว่ายังมีช่องว่างอยู่ แม้จะเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร แต่การจะทำให้เกิดขึ้นได้ยังไม่รู้จะทำยังไงเพราะเป็นสิ่งใหม่ ดังนั้นจึงทำเครียเพื่อเชื่อมต่อระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค”

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ใช่มีเดียเอเจนซี่ โดยสิ่งที่แตกต่างคือ ไม่ได้แค่ซื้อมีเดีย แต่จะดูแบรนด์ในภาพรวมทั้งหมด ว่าแบรนด์จะโตในส่วนแพลตฟอร์มอย่างไร เจาะตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซได้อย่างไร เป็นเหมือนบริษัทที่ปรึกษามากกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลออนไลน์มากกว่าที่อื่น รวมทั้งประสบการณ์ที่เหนือกว่า เพราะเป็นผู้บุกเบิกในอีคอมเมิร์ซ

ในส่วนของลูกค้า บริษัทสามารถเปิดเผยได้ว่ามีแบรนด์ไหนใช้บริการบ้าง รวมทั้งเงินลงทุนที่ได้รับก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่บริษัทได้รับเงินลงทุนจาก 4 อินเวสเตอร์จากอเมริกาและยุโรป เช่น Angel Capital Management, Picus Capital และ Founders Fund Pathfinder ทำให้เครียมีเน็ตเวิร์กการเข้าถึงแบรนด์ที่มีและยังไม่มีในไทยและเข้าถึงบุคคลากรที่มีคุณภาพ โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ลงที่เทคโนโลยีและคน ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 15 คน สำหรับเป้าหมายของบริษัท ต้องการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคภายใน 12-24 เดือนจากนี้

“เรามีประสบการณ์การทำอีคอมเมิร์ซมา 7 ปี เราเป็นผู้บุกเบิกตลาดในไทย ดังนั้นเราเห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว โดยเฉพาะคนมิลเลนเนียลและเจน Z ที่มีพฤติกรรมการใช้โซเชียลและการช้อปปิ้งออนไลน์ที่แตกต่างจากคนวัยอื่น ๆ ซึ่งแบรนด์ก็เห็น แต่ไม่รู้จะทำยังไง เราก็จะเข้ามาช่วย”