แจงยิบ! 6 ค่ายโทรคมนาคมร้องนายกฯ ห้าม “กทม.” ให้สิทธิ์เอกชนผูกขาดท่อร้อยสาย

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2562  ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ 6 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด และบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน)ได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีพร้อมออกแถลงการณ์ขอให้นายกรัฐมนตรีห้ามมิให้กรุงเทพมหานครให้สิทธิผูกขาดท่อร้อยสายสื่อสารแก่เอกชนเพียงรายเดียว

โดยในแถลงการณ์ระบุว่า  ตามที่ปรากฏตามข่าวว่า กทม. ได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด  ซึ่ง กทม. ถือหุ้นร 99.98%  ดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร โดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2561 ได้มีมติเห็นชอบ

และปรากฎต่อมาว่าบริษัทกรุงเทพธนาคม มิได้ดำเนินการดังกล่าวเองโดยตรง แต่ได้คัดเลือกเอกชนโดยให้ยื่นข้อเสนอและปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว และทำให้บริษัทกรุงเทพธนาคมมอบสิทธิให้เอกชนรายนั้น แสวงหาประโยชน์จากท่อร้อยสายอันเป็นทรัพย์สินของรัฐและเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ได้ถึง 80% (โดยให้สิทธินำสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปให้ผู้อื่นใช้ต่อได้ด้วยโดยเอกชนรายดังกล่าวมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทน) เป็นเวลาถึง 30 ปี ซึ่งเท่ากับว่าหากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใดนำสายสื่อสารที่พาดตามเสาในปัจจุบันลงไปใต้ดินตามนโยบายของรัฐบาลก็จำต้องมาขอใช้ท่อร้อยสายและชำระค่าตอบแทนให้แก่เอกชนคู่สัญญากับบริษัทกรุงเทพธนาคม

บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด และบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (“กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม”) ซึ่งมีประชาชนผู้ใช้บริการรวมกันมากกว่า 70 ล้านราย

มีความเห็นว่า กทม. ในฐานะหน่วยงานของรัฐควรให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายเข้าถึงบริการท่อร้อยสายของรัฐได้โดยตรงตามหลักเกณฑ์ของ กสทช. ไม่ควรมอบสิทธิผูกขาดให้แก่เอกชนรายใดรายหนึ่งเพียงรายเดียวในการนำไปแสวงหาประโยชน์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ กสทช. เนื่องจาก

1.โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นกิจการสาธารณูปโภค ที่ กทม. จะขุดเจาะที่สาธารณะเพื่อวางท่อ ถือเป็นกิจการของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยใช้อำนาจมหาชนของรัฐ จึงถือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครอง สูงสุดที่ ฟ 35/2550) หน่วยงานของรัฐจึงควรให้ผู้รับใบอนุญาตทุกรายเข้าถึงสาธารณูปโภคนี้จากหน่วนงานของรัฐ ได้โดยตรงและมิควรมอบสิทธิผูกขาดให้แก่เอกชนรายใดรายหนึ่งไปแสวงหาประโยชน์จากสาธารณะสมบัติของ แผ่นดินดังกล่าวได้

2. การดำเนินการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม และประกาศ กสทช. เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการใช้ การลงทุน และการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินหรือกับโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานของรัฐเพื่อให้บริการโทรคมนาคม ข้อ 4 กำหนดว่า “ผู้รับใบอนุญาตที่มีท่อร้อยสายสื่อสาร (หมายถึงบริษัทกรุงเทพธนาคม) ต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นใช้ท่อร้อยสายของตน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดในประกาศนี้”

กล่าวคือ บริษัทกรุงเทพธนาคมในฐานะผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำ “ข้อเสนออ้างอิงการใช้ท่อร้อยสาย” ให้ กสทช. เห็นชอบ ก่อนเพื่อความโปร่งใสและเพื่อเป็นกรอบให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นสามารถรู้รายละเอียดเส้นทาง อัตราค่าบริการ เทคโนโลยีต่างๆ และขอใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน กรุงเทพธนาคมจึงไม่สามารถดำเนินการไปในทางอื่น เช่น การมอบสิทธิผูกขาดให้แก่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใดรายหนึ่งแสวงหาประโยชน์จากท่อร้อยสายร้อย อันจะทำให้หลักประกันความโปร่งใสและการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันตามที่ประกาศ กสทช กำหนดหมดไป

3. การดำเนินการดังกล่าวเป็นทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรม และไม่มีหลักประกันใดให้แก่ ผู้บริโภค ผู้ผูกขาดจะอยู่ในฐานะที่สามารถหากำไรส่วนเกินในระยะยาว (monopoly profit) เปรียบเสมือนค่าสัมปทาน ที่เรียกเก็บและสามารถนำกลับมาแข่งขันกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่น อันเป็นการบิดเบือน การแข่งขัน ซึ่งผู้บริโภคก็จะเป็นผู้ได้รับความเสียหายในท้ายที่สุด

อนึ่ง ในขณะเดียวกัน เมื่อต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ค่าบริการก็จะสูงขึ้น โปรดพิจารณาจากตาราง

จากตาราง ปรากฎตามข่าวต่างๆ ว่าอาจมีการกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมชำระค่าบริการท่อร้อยสายในอัตรา 3,217 บาท/Micro Duct/ กิโลเมตร /เดือน (ภายใต้โครงการมหานครอาเซียน) หรือ 7,000 – 8,000 บาท/ Micro Duct/กิโลเมตร /เดือน (ภายใต้การกำหนดของบริษัทกรุงเทพธนาคม)

ทำให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะต้องรับภาระการลงทุนใหม่ประมาณ 6,860 ล้านบาท และมีต้นทุนเพิ่มจากการเช่าท่อร้อยสาย สื่อสารใต้ดินที่สูงอย่างมีนัยยะสำคัญประมาณ 95 ล้านบาทต่อปี (อัตราภายใต้โครงการมหานครอาเซียน) หรือ ประมาณ 205.80 – 235.2 ล้านบาท (อัตราที่บริษัทกรุงเทพธนาคมกำหนด) ซึ่งสูงเกินสมควรและจะทำให้ผู้ใช้บริการเดือดร้อนจากภาระค่าใช้บริการที่สูงขึ้น

4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าโครงการนี้ จะเข้าข่ายที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายใดบ้าง รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน

และ 5. กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสนับสนุนการจัดระเบียบสายสื่อสาร แต่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร ก็อาจให้บริการท่อร้อยสายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสิ้นเปลืองน้อยกว่า และการแก้ปัญหาสายสื่อสารที่พาดบนเสาไฟฟ้าที่ไม่เป็นระเบียบมีได้หลายวิธีและวิธีที่เหมาะสมจะแตกต่างกันในแต่ละเส้นทาง ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีปลดลงทุกเส้นทางเสมอไป เช่น หากดำเนินการจัดระเบียบให้เรียบร้อย ก็จะมีภาระการลงทุนใหม่เพียง 490 ล้านบาท และต้นทุนค่าเช่าประมาณ 5.4 ล้านบาทต่อปี

และขณะนี้ กลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้เข้าร่วมศึกษาหาแนวทางการจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นระเบียบร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะได้รูปแบบทดลองจัดระเบียบที่ชัดเจนราวเดือนสิงหาคมนี้

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจึงเห็นว่าภาครัฐควรชะลอการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครไว้ก่อน และควรให้คณะกรรมการดิจิทัลฯ หารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำข้อเสนอประกอบความเห็นของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

โดยการดำเนินการอยู่ ภายใต้หลักการที่ว่ามิให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควรแก่ผู้บริโภคและความเป็นธรรมในการแข่งขัน ดังนี้

1) ให้ศึกษาแนวทางการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมและความคุ้มค่าของ แต่ละวิธีการในแต่ละเส้นทาง หากจำเป็นที่จะต้องปลดสายสื่อสารเพื่อนำลงใต้ดินตามท่อร้อยสายก็ให้จัดทำเท่าที่ จำเป็นเท่านั้นและดำเนินการในระยะเวลาที่เหมาะสม

2) ให้ผู้ขอใช้ท่อร้อยสายทุกรายสามารถเข้าถึงท่อร้อยสายของหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง โดยไม่ต้อง ผ่านเอกชนรายใดโดยให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศ กสทช เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการใช้ การลงทุน และการ สร้างท่อร้อยสายสื่อสาร หรือกับโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริการโทรคมนาคม