ดึงงานวิจัยจาก “หิ้ง” สู่ตลาด A-MED เพื่อสังคมเท่าเทียม

ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) ในปี 2564 ซึ่งจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (super aged society) ด้วยประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 28

ขณะที่จำนวนผู้บกพร่องทางกายก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากสภาพแต่กำเนิด อุบัติเหตุ ความเสื่อมของอวัยวะจากวัย อาทิ จำนวนผู้บกพร่องทางการได้ยินและการสื่อความหมายในปัจจุบันมีกว่า 3 แสนคน และยังมีผู้สูงอายุที่อาจมีปัญหาทางการได้ยิน เนื่องจากความเสื่อมของอวัยะอีก 10 ล้านคน ซึ่งล้วนไม่ได้รับความสะดวกในการดำรงชีวิต และกระทบต่อขีดความสามารถในการเข้าถึงการเรียนรู้ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมามักจะถูกมองว่าเป็น “ภาระ” และก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม

“สวทช.” สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหานี้ จึงได้ตั้ง “A-MED” ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ ขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

มุ่ง 3 ภารกิจหลัก

“วันทนีย์ พันธชาติ” ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะทาง A-MED เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานหลักของ A-MED คือการนำงานวิจัยของ สวทช. ไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยมุ่งไปที่ 3 ด้านหลัก คือ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือแพทย์ และแพลตฟอร์ม

โดยในส่วนของ “เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก” ล่าสุดทีมวิจัยเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ฝังใน ได้พัฒนาวัสดุทดแทนกระดูกสำหรับปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์ (M-Bone) เป็นต้นแบบวัสดุทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล มีจุดเด่นคือ เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีความปลอดภัย สำหรับการนำไปใช้งานเป็นวัสดุทดแทนกระดูกสำหรับปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์ ซึ่งสามารถใช้ในด้านการแก้ปัญหาทันตกรรม หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระดูก

ยกระดับคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมสุขภาพที่โฟกัสการดูแลผู้สูงอายุ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่น และเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจสุขภาพได้จากกิจวัตรประจำวัน อาทิ แอปพลิเคชั่น “สูงวัย fighting” ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย และระบบบริหารจัดการ ของทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ

ในด้าน “เครื่องมือแพทย์” ที่พัฒนาและต่อยอดการนำไปใช้แล้ว คือ “เครื่องล้างไตอัตโนมัติ” ซึ่งได้ร่วมกับ “สปสช.” สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จะนำไปให้ผู้ป่วยโรคไตที่มีสิทธิ์การรักษาพยาบาลของ สปสช.ได้นำไปใช้ หลังได้ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว

“ผู้ป่วยของ สปสช.มีราว 3 หมื่นคน ที่ต้องล้างไตผ่านทางช่องท้องที่บ้าน ซึ่งเครื่องล้างไตแบบเดิมต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมงให้เครื่องทำงาน จึงกระทบกับการประกอบอาชีพของผู้ป่วย แต่เครื่องอัตโนมัตินี้ได้พัฒนาให้ผู้ป่วยใช้งานได้เอง โดยใช้ช่วงเวลาที่นอนหลับล้างไต จึงไม่กระทบกับเวลาในการหารายได้และคุณภาพของชีวิตของผู้ป่วย และกำลังพัฒนาเพื่อให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการล้างไตที่ราคาถูกลงกว่าการล้างไตแบบปกติ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งของ สปสช. และของผู้ป่วย”

สร้างการเรียนรู้ “เท่าเทียม”

ส่วนด้าน “แพลตฟอร์ม” ได้มุ่งไปที่สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ อาทิ การพัฒนาระบบคอลเซ็นเตอร์สายด่วน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ให้รองรับการใช้งานของผู้บกพร่องทางการได้ยิน โดยปรับปรุงให้ระบบสามารถรองรับการสื่อสารได้ครอบคลุมทั้งการใช้เสียง วิดีโอคอล และตัวพิมพ์อักษร ซึ่งน่าจะเริ่มนำมาใช้งานได้ในเร็ว ๆ นี้

อีกงานวิจัยคือ ระบบถอดความเสียงพูดแบบเรียลไทม์ ที่จะซัพพอร์ตให้ช่องทีวีดิจิทัลสามารถสร้างคำบรรยายรายการให้รองรับผู้บกพร่องทางการได้ยินได้

นอกจากนี้ ยังกำลังพัฒนาระบบเรียนรู้สำหรับผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ (LD : learning disabilities) ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นผู้ที่มีระบบสติปัญญาปกติ แต่มีปัญหาในการประมวลผลทางภาษา ซึ่งปัจจุบันจะถูกกันให้ออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากความไม่เข้าใจของผู้ใหญ่ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการพัฒนาชุดเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ของกลุ่ม LD ให้กระจายไปยังโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน

สตาร์ตอัพของภาครัฐ

เป้าหมายของ A-MED คือ ทำให้งานวิจัยทุกชิ้นไปสู่จุดที่พร้อมใช้งานจริง โดยดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ร่วมพัฒนาโปรดักต์เพื่อให้ตอบโจทย์ โดยมีรัฐสนับสนุนทางอ้อมในรูปแบบของงานวิจัย การให้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบของกองทุน การลดภาษีจากเงินลงทุนวิจัยที่เอกชนเข้ามาร่วมทุน และมีทีมดูแลให้ผลงานออกสู่ตลาด โดยมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนทุกงานวิจัย

ขณะที่โมเดลรายได้ที่ A-MED จะได้จากผลงานวิจัย จะมีหลายรูปแบบ อาทิ รายได้ตามข้อตกลงการอนุญาตสิทธิ ส่วนแบ่งรายได้จากการร่วมลงทุน

“งานของ A-MED คล้ายกับสตาร์ตอัพ คือ สร้างสิ่งใหม่เพื่อแก้ปัญหาของสังคม โดยมีงบประมาณด้านการวิจัยประจำปีราว 100-200 ล้านบาท แต่มีตัวชี้วัดชัดเจนว่า ผลงานวิจัยที่ผลักดันออกสู่สาธารณะจะต้องทำเงินรายได้กลับมาอย่างน้อย 50% ของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยต่อปี”