NT โอกาสและปัญหา เมื่อรวม “ทีโอที-แคท”

ในที่สุดวันที่ 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมของประเทศอย่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เริ่มกระบวนการควบรวมเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ชื่อ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (National Telecom : NT Co.) ก็มาถึง หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 14 ม.ค. 2563 มีมติให้เริ่มควบรวมให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน โดย NT จะมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

“พิพัฒน์ ขันทอง” กรรมการ บมจ.ทีโอที และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า แม้มติ ครม.จะสั่งให้ดำเนินการควบรวมแล้ว แต่ในระหว่าง 6 เดือนนี้ การลงทุน การทำธุรกิจของแต่ละบริษัทยังต้องเดินหน้าตามแผนธุรกิจเดิมก่อน

ยังเดินหน้าสรรหาซีอีโอ “ทีโอที”

“การจะควบรวบมีกระบวนการที่ต้องเดินอยู่ ไม่ใช่ ครม.มีมติแล้วจะตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาได้ทันทีทันใด ต้องมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาประเมินทรัพย์สิน ข้อกฎหมายต่าง ๆ แผนยุทธศาสตร์ใหม่ว่าจะต้องเดินอย่างไร ที่สำคัญ คือ โครงสร้างบุคคลใหม่ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แล้วทั้งแคทกับทีโอทีก็ต้องหารือร่วมกันตลอดเวลา ฉะนั้นต้องทำคู่ขนานกันไป ทั้งควบรวมและเดินตามแผนธุรกิจเดิม”

เช่นเดียวกับการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ บมจ.ทีโอที เพื่อทดแทนในตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งได้เปิดรับสมัครจนถึง 17 ม.ค.นี้ จะยังคงเดินหน้าต่อไปก่อน

“ส่วนจะสรรหาจนจบ หรือว่าหยุดเมื่อใด คงต้องแล้วแต่ความเหมาะสม และเป็นการตัดสินใจร่วมกันของบอร์ด ซึ่งจะมีการประชุมอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือน”

ชงบอร์ด “ดีอีเอส” ให้คลื่น NT

ขณะที่มติ ครม. นอกจากการให้ทั้ง 2 องค์กรควบรวมแล้ว ยังคงสิทธิ์ให้ NT ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับ ตามที่ทั้งทีโอทีและแคทเคยได้รับ

ที่สำคัญคือระบุว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัท NT ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พิจารณานำเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาให้ NT เป็นผู้สนับสนุนนโยบายของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและความมั่นคง รวมทั้งบริการเพื่อสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยให้รัฐสนับสนุนคลื่นความถี่ที่เหมาะสมในภารกิจดังกล่าว

หนุนเข้าประมูล 5G

ทั้งครม.ยังเห็นชอบให้ทีโอทีและ กสท เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 5G ซึ่งหากชนะการประมูลให้สามารถเบิกค่าใช้จ่ายเพื่อนำไปชำระค่าประมูลล่วงหน้าและการลงทุนเบื้องต้นได้ โดยให้บอร์ดของทั้ง 2 บริษัทอนุมัติ แต่หากเป็นค่าใช้จ่ายอื่นใดที่นอกเหนือจากนี้ ให้นำเสนอ ครม.พิจารณาดำเนินการ

รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า การประมูล 5G ถ้า กสทช.ให้เข้าประมูลได้ ทีโอทีก็จะเข้า เพราะต้องถือว่ากระบวนการควบรวมยังไม่เสร็จสิ้น สถานะความเป็นบริษัทของทั้ง 2 บริษัทยังแยกจากกันอยู่

“ศักยภาพที่เราทำได้ 5G เราเข้าประมูลเพื่อประโยชน์เชิงสังคมเป็นหลัก ไม่ว่าการสาธารณสุข การค้าขายของชาวบ้านในต่างจังหวัด ที่จะสามารถนำสินค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชนออกสู่สาธารณะได้ นำมาตั้งหลักตั้งกิจการได้”

โอกาสและความเสี่ยง

แหล่งข่าวภายใน บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า การควบรวมทั้ง 2 บริษัท หมายถึงการรวม 2 บริษัทที่มีทรัพย์สินรายละกว่า 1.4 แสนล้านบาทเข้าด้วยกัน แข็งแรงพอที่จะแข่งขันในตลาดได้

แต่ในขณะเดียวกัน แต่ละฝั่งก็ยังมีข้อพิพาทที่มีทั้งระหว่างกันและกับเอกชนภายนอก อย่างทีโอทีเป็นจำเลยในคดีสำคัญมีมูลค่ารวมราว 3 หมื่นล้านบาท ส่วนแคทมีคดีที่ตกเป็นจำเลย มูลค่าคดีราว 4 หมื่นล้านบาท

รวมถึงการต้องรักษาสถานะการจ้างงานของพนักงานทั้งหมดกว่า 2.4 หมื่นคน แบ่งเป็น ทีโอที 1.9 หมื่นคน และแคท 4 พันคน ก็เป็นความท้าทายที่จะขับเคลื่อน NT ต่อไปอย่างไร

“แค่เวลาทำงานของ 2 องค์กรที่ผ่านมาก็ไม่เท่ากันแล้ว ถ้าแก้ปัญหาง่าย ๆ โดยคงแยกเป็น 2 ส่วนไว้เหมือนเดิม สภาพการทำงาน การรวมเป็น NT ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าปรับมาก รื้อมาก ก็จะเกิดปัญหาในองค์กร”