จุดเปลี่ยน Ehtesab แอปแจ้งเหตุร้ายในอัฟกานิสถาน

อัฟกานิสถาน
TechTimes
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

การให้บริการแอปแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายในอัฟกานิสถานไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งยากลำบากขึ้นหลังการบุกยึดเมืองคาบูลโดยกลุ่มตาลิบันเมื่อเดือนก่อน แต่ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังแอปแจ้งเหตุภายใต้ชื่อ Ehtesab ยังไม่ย่อท้อและยืนหยัดให้บริการต่อไป เพื่อเป็นที่พึ่งให้ชาวอัฟกันในยามวิกฤต

Ehtesab เปิดบริการเมื่อ 3 ปีก่อนเพื่อแจ้งข้อมูลเรียลไทม์เวลาเกิดเหตุการณ์ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในเมืองคาบูล มีหลักการทำงานคล้าย “Citizen” แอปแจ้งเหตุชื่อดังในอเมริกา ที่เปิดให้ชาวบ้านช่วยกันรายงานเหตุ และมีทีมงานคอยกรองข้อมูลอีกทีก่อนเผยแพร่

นอกจากแจ้งเหตุต่าง ๆ แล้ว Ehtesab ยังทำหน้าที่เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในด้านต่าง ๆ แต่หลังกลุ่มตาลิบันบุกยึดเมือง หน้าที่ของแอปก็เปลี่ยนไป Ehtesab ใช้เป็นช่องทางเตือนภัย

ตลอดจนชี้ช่องทางเข้าถึงแหล่งอาหาร ธุรกรรมการเงินที่จำเป็น ตลอดจนแจ้งอัพเดตเหตุการณ์ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในเมืองคาบูล

แม้จะมียอดดาวน์โหลดแค่ 5,000 แต่มีปริมาณการใช้งานสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังตาลิบันยึดเมือง สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ Ehtesab สามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำและรวดเร็ว

ผู้ก่อตั้งแอป คือ “ซาร่า วาฮิดี” สาวชาวอัฟกันวัย 26 ที่ลี้ภัยไปแคนาดาพร้อมครอบครัว ตั้งแต่ 6 ขวบ

หลังจากใช้ชีวิตในต่างแดนหลายปี ซาร่ากลับมาบ้านเกิดอีกครั้งในปี 2016 เพื่อทำงานอาสาสมัครด้านการพัฒนาสังคมให้กับสำนักประธานาธิบดี

2 ปีต่อมา เธอและเพื่อนอีก 3 คน ก่อตั้ง Ehtesab

Ehtesab เปิดให้บริการต้นปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมออนไลน์ในอัฟกานิสถานกำลังเติบโต มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 10 ล้านคน และมีคนใช้สมาร์ทโฟนถึง 23 ล้านคน ทำให้ชาวอัฟกันกว่า 89% เข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้

ผู้ใช้งานเลือกได้ว่าจะแจ้งปัญหาด้านใด เช่น ความปลอดภัย จราจร ไฟฟ้าขัดข้อง คอรัปชั่น หรือปัญหาอื่น ๆ โดยจะต้องให้ข้อมูลพร้อมพิกัด และหลักฐานประกอบเป็นรูปหรือคลิปวิดีโอ หลังจากนั้นทีมงานจะเช็กความถูกต้อง ก่อนเผยแพร่ผ่านแอปโดยแสดงจุดเกิดเหตุต่าง ๆ บนแผนที่ของเมือง พร้อมอัพเดตความคืบหน้าเป็นระยะต่อไป

ปัจจุบัน Ehtesab มีทีมงานราว 20 คน ในกรุงคาบูล โดยมีซาร่าคอยดูแลการทำงานจากนิวยอร์ก

หลังจากตาลิบันยึดเมืองคาบูล ทีมงานก็ทำงานยากขึ้น จากที่เคยได้อาศัยหน่วยงานราชการและตำรวจในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ตอนนี้ได้แต่พึ่งการรายงานสถานทูต และสหประชาชาติ

ที่ทยอยลดคนและลดบทบาทในกรุงคาบูลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทีมงานยังต้องทุ่มเทเวลาและทรัพยากรไปในการรักษาความปลอดภัยให้ชาวบ้าน ที่แจ้งเหตุเข้ามาไม่ให้ถูกตาลิบันแกะรอยได้

แม้จะทำงานลำบากและไม่รู้ว่าตาลิบันจะสั่งปิดอินเทอร์เน็ตเหมือนที่เคยทำในช่วงปี 2000 หรือไม่ แต่สิ่งที่ทำให้ทีม Ehtesab มีกำลังใจสู้ต่อคือการที่รู้ว่าบริการของตนมีประโยชน์ต่อชาวบ้านจริง ๆ โดยซาร่าบอกว่าทีมของเธอจะทำงานต่อไปตราบที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ถูกปิด

ก่อนหน้านี้ Ehtesab ตั้งเป้าขยายบริการให้ครอบคลุม 5 เมืองหลักในสิ้นปี แต่แผนนี้ต้องเลื่อนไปก่อน สิ่งที่ทีมต้องการมากที่สุดตอนนี้ คือ ผู้เชี่ยวชาญหรือองค์กรที่ทำงานด้านเทคโนโลยี


ที่สามารถช่วยให้ชาวอัฟกันที่ไม่มีสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะชาวชนบทเข้าถึงบริการได้ แต่ความหวังก็ดูริบหรี่ เพราะถึงจะมีชาวอัฟกันและบริษัทที่มีความสามารถมากมาย แต่พอตาลิบันบุกทุกคนก็แพ็กกระเป๋าและจากไป เหลือแต่ชาวบ้านที่ไร้หนทาง ให้เผชิญชะตากรรมอย่างเดียวดาย