ติดฉลากแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มอำนาจผู้บริโภค-ลดโกงออนไลน์

โควิด-19 เร่งให้เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทต่อผู้บริโภคมากขึ้น ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศเพิ่มจำนวนขึ้นมาก ทั้งด้านอีคอมเมิร์ซ, บริการการเงิน, สุขภาพ และอีกสารพัดเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ ไม่ใช่น้อย แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้าน ทำให้เกิดปัญหาการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในหลากหลายรูปแบบด้วย สร้างความเสียหายให้ประชาชนและเศรษฐกิจไม่น้อย

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ สนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้บริการภายใต้มาตรฐานเดียวกันบนพื้นฐานของความโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะดำเนินการตรวจ พิจารณา และเตรียมประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป

เร่งสร้างมาตรฐานใหม่

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า แนวคิดของร่างกฎหมายดังกล่าวมาจากความต้องการในการสร้างมาตรฐานการดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งแพลตฟอร์มของไทยและต่างชาติที่ดำเนินการในประเทศไทยที่ควรจะต้องมีการมาลงทะเบียน

และมีตัวแทนในไทย หากมีปัญหาหรือเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถหาผู้รับผิดชอบได้ อีกส่วนกรณีร้านค้าก็เพื่อให้มีการยืนยันตัวตนผู้ขายอย่างชัดเจน ป้องกันการใช้อวตาร

ด้าน “ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำความรู้จักกับแพลตฟอร์มข้ามชาติต่าง ๆ

เช่น มีการขอข้อมูลว่าให้บริการอะไร มีลูกค้าไทยมากแค่ไหน เป็นต้น ซึ่งในระยะยาวจะสามารถออกมาตรการที่เข้มข้นเพิ่มขึ้นเพื่อกำกับดูแลเฉพาะรายที่เห็นว่ามีความเสี่ยงในการกระทำความผิด และช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนได้ด้วย

ยกตัวอย่าง กรณีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ร่างกฎหมายนี้ทำให้เกิดความโปร่งใส และความเป็นธรรมมากขึ้นทั้งกับผู้ขาย ผู้ซื้อ และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม โดยฝั่งผู้ขายบางครั้งอาจสงสัยว่าสินค้าทำไมไม่ขึ้นหน้าฟีดแรกของแพลตฟอร์ม เป็นต้น

ในร่างจะระบุไว้ชัดเจนว่าแพลตฟอร์มต้องแจ้งหลักเกณฑ์ที่ใช้จัดอันดับ หรือการแนะนำสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์ม ขณะที่ในฝั่งผู้ซื้อ หากสินค้ามีปัญหาก็จะมีช่องทางกลางในการร้องเรียนที่ชัดเจน เป็นต้น

“ที่ผ่านมา เราไม่เคยเก็บข้อมูลเหล่านี้ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งตามความหมายของร่างกฎหมายดังกล่าวจะครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มทั้งในและต่างประเทศ

ยกเว้นแพลตฟอร์มที่มีการกำกับดูแลอยู่แล้วก็จะไม่เข้าไปดูแลอีก เช่น แพลตฟอร์มซื้อขายหุ้น เพราะอยู่ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เป็นต้น กรณีแพลตฟอร์มที่อยู่ในต่างประเทศ

แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการคนไทยในไทย เช่น มีการแสดงผลทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นภาษาไทย มีการจดทะเบียนโดเมนเนม .th เป็นต้น จะต้องมาแจ้งรายละเอียด”

หากประกาศเป็นกฎหมายแล้ว แพลตฟอร์มที่เข้าข่ายแต่ไม่ดำเนินการ ทาง สพธอ.จะมีหนังสือแจ้งไป และมีมาตรการลงโทษ ทั้งยังกำหนดด้วยว่าทั้งแพลตฟอร์มไทยและต่างประเทศจะต้องมีการตั้งตัวแทนที่ชัดเจน รวมถึงมีการรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการทุกปี หากเกิดปัญหา ผู้บริโภคจะได้มีช่องทางการร้องเรียน

ชำแหละแนวทางกำกับดูแล

ผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายดิจิทัล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางการกำกับดูแลผู้ประกอบการในประเทศไทยในภาพรวม มี 4 ระดับ

คือ 1.ไม่มีการกำกับดูแล ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด 2.information regulator รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มมีการแทรกแซง โดยมีมาตรการเข้ามากำกับ เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องบอกข้อมูลบางอย่าง

เช่น ฉลากบนซองบุหรี่ที่มีการบอกรายละเอียดถึงโทษในการสูบบุหรี่ หรือฉลากอาหารที่ต้องบอกข้อมูลโภชนาการ ส่วนผู้ซื้อจะอ่านหรือไม่ก็เป็นเรื่องของผู้ซื้อ แต่ผู้ขายต้องทำหน้าที่บอกรายละเอียด

3.การกำหนดมาตรฐาน และ 4.ต้องได้รับอนุญาตก่อน ถึงจะดำเนินการได้ หรือการออกใบอนุญาตต่าง ๆ

กรณีร่างกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลถือว่าอยู่ระดับ 2 และ 3 คือ ภาครัฐเริ่มเข้ามากำกับ และกำหนดมาตรฐาน ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดรับกับสภาพความเป็นจริงของตลาดปัจจุบัน

เนื่องจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป โดยแพลตฟอร์มต่างชาติสามารถเข้ามาให้บริการในประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องมีการตั้งบริษัท หรือตัวแทน

ประกอบกับที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าแนวทางการให้ขอใบอนุญาตก่อนไม่มีผลกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ ท้ายที่สุดจึงไม่มีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาขอใบอนุญาต ซึ่งประเทศไทยยังติดว่าต้องขออนุญาตก่อนถึงจะดำเนินการได้

ขณะที่บางเรื่องอาจไม่ต้องขออนุญาตก็ได้ เพราะการแข่งขันในธุรกิจปัจจุบันไม่มีการแบ่งเขต แบ่งประเทศแล้ว

“ในร่างนี้ระบุให้แพลตฟอร์มลงทะเบียน ซึ่งไม่ได้บังคับ แต่ดิจิทัลแพลตฟอร์มต้องให้รายละเอียดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น เงื่อนไขการให้บริการ การระงับ หรือหยุดการให้บริการ การคิดค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน ค่าบริการ เป็นต้น

เพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าใจ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ถือเป็นเรื่องดีแม้จะไม่ได้บังคับว่าต้องทำ หรือไม่ทำแล้วจะดำเนินธุรกิจต่อในไทยไม่ได้แต่ถ้าแพลตฟอร์มไหนไม่ทำ ไม่แสดงข้อมูล ประชาชนหรือผู้ที่จะใช้บริการก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น”

ติดฉลากเพิ่มอำนาจผู้บริโภค

สำหรับการกำหนดให้มีการแต่งตั้งตัวแทนของแพลตฟอร์มนั้น ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาหลายอย่าง ทั้งการหลอกลวง การได้สินค้าไม่ตรงปก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกเผชิญปัญหานี้เช่นกัน

จากการไม่สามารถควบคุมแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้ามาให้บริการในประเทศ ดังนั้นการกำหนดให้มีตัวแทนจึงเป็นข้อดี เพราะเมื่อมีปัญหาจะประสานและดำเนินการช่วยเหลือได้

หรือในกรณีที่แพลตฟอร์มไม่มีตัวแทนในไทย ผู้บริโภคที่จะใช้บริการจะได้ระมัดระวังตนเองมากขึ้น อาจเป็นอีกข้อมูลสำหรับตัดสินใจได้ด้วยว่าจะเลือกใช้หรือไม่ใช้บริการของแพลตฟอร์มนั้น ๆ

ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงเปรียบได้กับ “ฉลาก” บอกรายละเอียดก่อนใช้ และเพิ่มข้อมูลให้ผู้บริโภค ก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วย

สแกนร่าง พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มดิจิทัล

ในร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …ประกอบด้วยการกำหนดหน้าที่ ความหมายของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล แบ่งเป็น 4 หมวด

ได้แก่ หมวดที่ 1 การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์ม (digital platform) ซึ่งต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ และการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)

ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ มีผลบังคับใช้กับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคในไทย ไม่ว่าผู้ประกอบการจะอยู่ในไทยหรือนอกราชอาณาจักรไทย

กรณีอยู่นอกราชอาณาจักรจะถือว่าการให้บริการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคในไทย หากเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ 1.มีการแสดงผลทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นภาษาไทย

2.มีการจดทะเบียนโดเมนเนม Th หรือไทย หรือชื่ออื่นที่มีความหมายถึงประเทศไทย หรือใช้ชื่อโดเมนภาษาไทย 3.มีการกำหนดให้ชำระเงินหรือสามารถเลือกชำระเงินเป็นสกุลเงินไทย

4.มีการตกลงให้ใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับธุรกรรมซื้อขายสินค้า หรือบริการที่ได้ทำบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

5.มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ให้บริการสืบค้นแหล่งที่ตั้งของข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคในไทยเข้าถึงบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นการเฉพาะ

6.มีการจัดตั้งสำนักงาน หน่วยงาน หรือบุคลากร เพื่อให้การสนับสนุน หรือช่วยเหลือผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทย 7.มีลักษณะอื่น ๆ ใดที่คณะกรรมการกำหนด

รายละเอียดหลักหมวดที่ 2 การควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล บอกหลักเกณฑ์เงื่อนไขด้านการให้บริการต่าง ๆ เช่น การประเมินความพึงพอใจและการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล การสอบถาม ร้องเรียน เป็นต้น

หมวดที่ 3 การห้ามประกอบธุรกิจ ซึ่งรายละเอียดการให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ประกอบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

จนกว่าจะปฏิบัติตามที่กำหนด และหมวดที่ 4 การตรวจสอบ และให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานรัฐ ทั้งเรื่องการส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงการจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนกลางด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นช่องทางการรับเรื่องของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม