จักรวาลเมตา “เวลาเวิร์ส”

Velaverse
คอลัมน์ : สามัญสำนึก

ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

 

 

ตั้ งแต่เจ้าพ่อโซเชียลเน็ตเวิร์กโลก “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจเข้าสู่โลกเสมือน (Metaverse) หรือจักรวาลนฤมิต ทั้ง “คำและความ” เกี่ยวกับ “Metaverse” กลายเป็นกระแสที่ธุรกิจต่าง ๆ ให้ความสนใจ หนึ่งในนั้นมี “คลาสคาเฟ่” สตาร์ตอัพร้านกาแฟดังรวมอยู่ด้วย

หลังปลุกปั้นอยู่เดือนเศษก็พร้อมเผยโฉม “Velaverse” แพลตฟอร์มโลกเสมือนเวอร์ชั่นแรกออกมาได้ นำร่องที่ “โคราช” เพื่อเปิดพื้นที่สร้างสรรค์และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ เกี่ยวกับ Metaverse

ตอกย้ำวิถีการทำธุรกิจแบบสตาร์ตอัพที่มักใช้ประโยชน์จากความเล็กและรวดเร็ว เมื่อคิดได้ก็ “ทำทันที” บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า “ล้มเร็ว ลุกเร็ว มีโอกาสสำเร็จเร็ว”

โปรเจ็กต์แรกของ “Velaverse” เปิดด้วยการแข่งขัน CLASS 3D Velaverse Hackathon เป็นเวทีเฟ้นหานักสร้างโมเดล 3 มิติด้วยโปรแกรม blender โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีมาประชันฝีมือในการออกแบบสิ่งปลูกสร้างในโลกเสมือน

“มารุต ชุ่มขุนทด” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ “คลาสคาเฟ่” บอกว่า แม้ในแง่มุมเทคโนโลยี “โลกเสมือน” จะไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เมื่อนำทั้ง 3 ส่วน คือ VR (virtual reality) บล็อกเชน, คริปโตเคอร์เรนซี่ และโซเชียลมีเดีย มาประกอบร่างกันจะกลายเป็นสิ่งใหม่ และโอกาสใหม่ ๆ ได้อีกมาก เพราะเทคโนโลยี VR ถ้าไม่มีบล็อกเชนก็เป็นได้แค่ “เกมมิ่ง” เมื่อมีบล็อกเชนแม้จะปิดสวิตช์คอมพิวเตอร์หรือหน้าจอไปแล้ว ชีวิตบน “เมตาเวิร์ส” ก็ยังอยู่ เช่นกันกับสินทรัพย์ในโลกจริงเมื่อไปอยู่ในโลกเสมือนจะกลายเป็น NFT (ผลงานดิจิทัลบนระบบบล็อกเชน)

vela

“จุดเริ่มต้นของคลาสคาเฟ่เมื่อ 4 ปีก่อน นอกจากเป็นร้านกาแฟแล้วเรายังต้องการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นคอมมิวนิตี้ของคนในชุมชน ซึ่งเรามีสาขากระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ก็เคยคิดว่าถ้าเปิดประตูมาแล้วเข้าไปหากันได้เลยก็คงจะดี ซึ่งในโลกจริงทำไม่ได้ แต่จะเป็นไปได้ใน Velaverse”

Velaverse เป็นออนไลน์คอมมิวนิตี้แพลตฟอร์มในรูปแบบ GameFi (เกมบนบล็อกเชน) ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาร่วมกันสร้างและออกแบบสิ่งต่าง ๆ ได้ แบ่งเป็นพื้นที่ธุรกิจ, ที่อยู่อาศัย, พื้นที่จัดกิจกรรม และสถานที่ท่องเที่ยว มีการจำลองสถานที่สำคัญ ๆ ของจังหวัดนครราชสีมา เช่น อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี, ร้านค้าแบรนด์ดังต่าง ๆ รองรับ NFT และ DeFi

ผู้เล่นเข้าไปเยี่ยมชม, ซื้อขายตัวละคร, ที่ดิน และสินทรัพย์อื่น ๆ รวมถึงสร้างสังคมโลกเสมือนเพื่อเชื่อมต่อกับโลกจริงได้ผ่านดิจิทัลโทเค็น “CLASS COIN” ที่ใช้ซื้อเครื่องดื่ม แลกสินค้า และบริการต่าง ๆ ได้ทั้งใน “ร้านกาแฟคลาสคาเฟ่” ทุกสาขา และบนออนไลน์คอมมิวนิตี้ Velaverse

“เบื้องหลังการทำงานเราเจอสิ่งที่ไม่รู้ตลอดทาง ซึ่งสำหรับผมเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ที่สุดของเรื่องนี้ มากกว่าผลลัพธ์เสียอีก การสร้างความเปลี่ยนแปลง การดิสรัปต์ตนเองยังเป็นดีเอ็นเอของคลาส และครั้งนี้เราไม่ได้ทำคนเดียวแต่ชวนพี่ ๆ เพื่อน ๆ ในแวดวงธุรกิจ และสถาบันการศึกษามาทำด้วย”

ไม่ว่าจะเป็นแมคกรุ๊ป, ยูบิลี่, โทเคนไนนท์, มัลติเวิร์ส เอ็กซเปิร์ท และมหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ทั้งยังเชิญชวนศิลปิน, นักดนตรีที่ได้รับผลกระทบจากโควิดให้ขึ้นมาแสดงผลงาน ต่อไปเราอาจจัด “มิวสิคเฟสติวัล” ซึ่งจะมีรายได้เกิดขึ้นทันที รวมไปถึงการเปิดพื้นที่สร้างงานสร้างอาชีพด้าน 3D ดีไซน์ อีกอาชีพที่จะมีความสำคัญในโลก Metaverse ในอนาคตด้วย

เขาเชื่อว่าถ้าเชื่อมต่อ 2 โลกเข้าหากัน โลกเสมือนจะใหญ่กว่าโลกจริง และใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่มีขีดจำกัด

มากไปกว่านั้น เขาตั้งใจทำให้ Meta ของ Velaverse ใหญ่กว่าที่คิด และไม่ใช่แค่การออกแบบโลกเสมือน เพราะโลกเทคโนโลยีที่เรียกว่า decentralize คือการกระจายอำนาจ และกระจายความเท่าเทียม

“สิ่งเดียวที่จำกัดเรา คือ จินตนาการของเราเองจึงต้องคิดใหม่ และเปลี่ยนวิธีคิด ใช้ Metaverse สร้างเศรษฐกิจใหม่โดยไม่จำเป็นต้องรองบประมาณจากรัฐบาลหรือจากใคร”

เป็นการทำงานสไตล์ “วิ่งเข้าชน ความไม่รู้” เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปได้