เคลียร์ความสงบภาคใต้ สามเหลี่ยมเมืองต้นแบบ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

การก่อความรุนแรงและความไม่สงบในภาคใต้ในอดีตเกิดขึ้นและมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหาและปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามกาลเวลา กระทั่งถึงรัฐบาลทหารปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้วางยุทธศาสตร์และแผนงานในการแก้ปัญหา โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ดำเนินโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนŽ งบประมาณระหว่างปี 2560-2563 โดยคัดเลือกพื้นที่ใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา ให้เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พิเศษเฉพาะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน สามารถสร้างงานและสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ทั้งสามพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ ขณะที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พัฒนาเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน และ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

จากระยะเริ่มต้นโครงการปี 2559 ถึง 2560 กอ.รมน.เน้นขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้ กฎหมายนำŽ เพื่อให้เห็นถึงความถูกต้อง จริงใจ และอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ตามด้วย การทหารŽ เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ให้เกิดความเชื่อมั่นŽกับผู้ประกอบการ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว นำไปสู่การสร้างความเข้าใจ ลดความหวาดระแวง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

พล.ต.บรรพต พูลเพียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ลงพื้นที่ติดตามงานด้านความปลอดภัย ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ที่จะไปลงทุนใน 3 เมือง โครงการเมืองต้นแบบกำหนดไว้ 3 เมือง คือ สุไหงโก-ลก, หนองจิก และเบตง ระยะที่ผ่านมายังไม่ถึงปีดี รัฐบาลมีความแน่วแน่กำหนดให้เห็นทิศทางชัดเจนว่าแต่ละเมืองจะเป็นต้นแบบในเรื่องอะไร การค้าชายแดน แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือเมืองเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคธุรกิจหรือภาคเอกชนได้เห็น แล้วจะได้วางแผนธุรกิจได้สอดคล้อง ส่วนเขาจะวางแผนธุรกิจของเขาอย่างไร ไม่ต้องมีใครไปแนะนำ เขาคำนวณความคุ้มทุน ระยะเวลาได้เอง

สำคัญคือทิศทางภาครัฐต้องชัดเจนก่อนนโยบายต้องชัดเจนก่อน ซึ่งตอนนี้รัฐกำหนดแล้วว่าจะให้ 3 เมืองนี้เป็นเมืองต้นแบบ ส่วนจะเอาอะไรมาพัฒนา เขามีแผนออกมาหมดแล้ว กอ.รมน.ก็ทำหน้าที่สนับสนุนในพื้นที่ หน้าที่มีอยู่ประการเดียว คือทำสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อนักลงทุน ให้นักลงทุน ผู้ประกอบการมีความปลอดภัยŽ

สิ่งที่นักลงทุนหวั่นเกรงอย่างมากในจังหวัดชายแดนใต้ มีอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐ 2.เรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ สองเรื่องนี้มาก่อนเลย ตอนนี้รัฐบาลชัดเจนแล้วเรื่องนโยบาย และมีความก้าวหน้า ไปตามขั้นตอนของปฏิทินงบประมาณ คือมีการพัฒนาแบ่งเป็นระยะ ๆ อาทิ รถไฟสายอาเซียน ทิศทางโลจิสติกส์ ขอให้ภาครัฐส่งเสริม นักลงทุนที่นี่เขาพร้อม แล้วเราก็สร้างบรรยากาศในพื้นที่ให้เกื้อกูลหน่อย ให้เขาเชื่อมั่น ผมว่าไปได้Žในมุมมองของ พล.ต.บรรพต แล้วเห็นว่า สุไหงโก-ลก มีความพร้อมสูงที่จะเป็นเมืองค้าชายแดนระหว่างประเทศ รอเพียงการสนับสนุนจากรัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมองถึงความต้องการของคนในท้องถิ่นด้วย เช่น การเสนอขอใช้พื้นที่ของการเคหะแห่งชาติ เพื่อทำเป็นศูนย์การค้าสร้างพื้นที่การค้าขายให้คนในท้องถิ่น เป็นต้น

การที่นักลงทุนหรือผู้ประกอบการจะไปลงทุน ไม่ว่าที่ไหนต้องประเมินก่อนแล้วว่า คุ้มหรือไม่ และต้องเชื่อมั่นว่า ถ้ามาลงทุนแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ด้านความมั่นคงต้องทำให้เห็น

ผมว่าความเชื่อมั่นเป็นประเด็นใหญ่ ส่วนเรื่องความปลอดภัย ไปดูตัวเลขเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ปีนี้เหตุการณ์สงบกว่าที่ผ่านมา เกิดเหตุน้อยที่สุด สถิติที่เก็บไว้ มันลดลงเป็น 0.0 เลยนะ (จำตัวเลขชัดเจนไม่ได้) มีรวบรวมอยู่ ภาค 4 ส่วนหน้าŽ

ตัวเลขจากหลายฝ่ายที่นำมาอ้างอิงตรงกัน คือจุดพีกที่สุดของเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ในปี 2550 แต่หลังจากนั้นค่อย ๆ ลดลง โดยยกตัวอย่างเทศกาลรอมฎอนปีนี้เกิดเหตุน้อยที่สุด ตั้งแต่รอมฎอนตอนเริ่มมีเหตุการณ์ปี 2547 เป็นต้นมา เมื่อเปรียบเทียบห้วงเดียวกันของปีนี้กับปี 2559 เหตุการณ์ลดลง คิดเป็น 33% ระยะแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แบ่งคร่าว ๆ เป็น 3 ระยะ

ขณะนี้ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว คือการสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตัวบ่งชี้ที่บอกว่าเปลี่ยน คือให้ทหารกลับพื้นที่ กลับสังกัด แล้วเสริมสร้างอาสาสมัคร (อส.) เข้ามาแทน อันนี้คือตัวบ่งชี้ที่สำคัญ คือเราไม่ใช้กำลังมาก เราเริ่มให้ทหารกลับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ยกเว้นทหารพรานที่ยังให้อยู่ เท่ากับสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว ใช้คนในพื้นที่ในตำบลเดียวกันแทน ส่วนสถานการณ์ปกติจะลงเอยรูปแบบไหนยังไม่ทราบ เป็นเรื่องของอนาคตŽ

ช่วงเปลี่ยนผ่านŽ ที่สำคัญนี้ เห็นได้ชัดว่าทหารกลับเข้าหน่วยสังกัดของตัวเองทุกปี คือที่กองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีการลดอัตรากำลัง ลดโครงสร้างลง และเตรียมถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานราชการปกติ ขณะเดียวกันก็สร้าง อส.มาทำหน้าที่แทน ซึ่งในปี 2560 ได้บรรจุ อส.เพิ่มเข้ามาอีก 2,160 อัตรา ผ่านการอนุมัติของ ครม.แล้ว

ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ปรับแผนเช่นกัน การเสริมสร้าง อส. เป็นการเสนอของกระทรวงมหาดไทย เดิมมี 106 ชุดคุ้มครองตำบล ปีนี้อนุมัติเป็น 166 ชุดคุ้มครองตำบล แต่ตำบลในพื้นที่นี้รวมถึงทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลาด้วย จึงมีทั้งหมด 290 ชุดคุ้มครองตำบล งบประมาณใช้งบฯกลาง จำนวน 500 ล้านบาท

ถ้าเราเอาเจ้าหน้าที่ลงวางกำลังตามจุดต่าง ๆ ภาพของนักธุรกิจก็จะมองว่าเป็นเมืองที่มีความเสี่ยง แต่ถ้าเราไม่เอาเจ้าหน้าที่มาลงวาง ประชาชนในพื้นที่ก็มองว่าไม่มีความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย มันมองคนละมุม สื่อต่างชาติ

มองว่าถ้ามีเจ้าหน้าที่ถือปืนมายืน เขาบอกว่าพื้นที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นเราจะเอาภาพลักษณ์หรือเอาความเชื่อมั่น ผมตั้งคำถามง่าย ๆ ถ้าเราเอาภาพลักษณ์ มันก็จะเสียความเชื่อมั่นจากคนในพื้นที่ เพราะคนในพื้นที่เขาบอกว่า มีเจ้าหน้าที่อยู่ใกล้ ๆ เขาปลอดภัย แต่ถ้าจะเอาภาพลักษณ์ ไม่ให้เจ้าหน้าที่มายืนถือปืน ธุรกิจก็เสียความเชื่อมั่น ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงผมเชื่อว่านักธุรกิจเขาประเมินได้อยู่แล้ว ว่าควรหรือไม่ควรมีเจ้าหน้าที่ระดับไหน ด่านบางด่าน เราต้องลดเจ้าหน้าที่ประจำด่าน หรือลดความเข้มงวดเพื่อรองรับภาพลักษณ์

ผมคิดว่ายังไงเสีย เขาต้องดูความจริงใจของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลจริงใจและมีแนวทางอย่างนี้ คนที่มีหมายจับดำเนินการตามกฎหมาย คนที่ยังหลบหนีหรือมีความหวาดระแวงอยู่ เขาก็หันกลับมาพึ่งขบวนการยุติธรรมตามปกติ ก็น่าจะกลับไปสู่การเสริมสร้างสันติสุขได้

ส่วนการมีส่วนร่วมของทุกระดับก็เปิดกว้างมากขึ้นในทุกพื้นที่ มีภาคประชาสังคมใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก พวกนี้จะนำทิศทางการมีส่วนร่วมของคนระดับล่าง เป็นโซ่ข้อกลางให้คนระดับนโยบายกับระดับภาคประชาชนมีความเห็นตรงกัน ตรงไหนที่เป็นเงื่อนไขอยู่ก็แก้ และต้องไม่สร้างเงื่อนไขขึ้นใหม่ด้วยŽ

แผนคืนความสงบสุขให้ชายแดนใต้จะสัมฤทธิ์ผลดังรัฐบาลวาดไว้หรือไม่ ต้องช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิด