พิโกฯ ภูธรโวยยกร่างใหม่ ผุดผู้ถือหุ้นนอมินี-บีบกู้นอกระบบ

พิโกไฟแนนซ์

กว่า 6 ปีที่กระทรวงการคลังเปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด หรือสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ขึ้นในเดือนธันวาคม 2559 และส่งมอบให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ถือดาบทำหน้าที่กำกับดูแล

คลังรื้อเกณฑ์เดิมเสริมช่องโหว่

ด้วยสถานการณ์การแข่งขันในการประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์มีมากขึ้น ณ เดือนมิถุนายน 2566มีผู้ประกอบกิจการพิโกไฟแนนซ์ที่ได้รับอนุญาตถึง 1,114 ราย จาก 75 จังหวัด ประกอบกับมีการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ต่าง ๆ ส่งผลให้โครงสร้างและรูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนไปจากเดิม

สศค.โดยกระทรวงการคลังจึงมีนโยบายจะปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประกอบธุรกิจฉบับใหม่ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้มีการจัดทำร่างประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่องสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) ฉบับใหม่ขึ้น และได้เปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 6-20 กันยายน 2566

โดยหลักเกณฑ์ใหม่ที่ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ เช่น การกำหนดให้ผู้ถือหุ้นเปิดบริษัทพิโกไฟแนนซ์ได้เพียง 1 บริษัท ใน 1 จังหวัด และผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว ไม่สามารถแยกไปจัดตั้งบริษัทพิโกไฟแนนซ์แห่งใหม่ขึ้นอีกในจังหวัดเดียวกันได้ รวมถึงไม่ให้มีการปล่อยกู้ข้ามจังหวัด

อย่างไรก็ตาม คาดว่าประกาศฉบับปรับปรุงใหม่จะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนตุลาคม 2566 และสามารถประกาศบังคับใช้ได้ทันภายในปีนี้

บูราพาณิชย์ชี้แก้ไม่ตรงจุด

นายบูรพงศ์ วรรักษ์ธารา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูราพาณิชย์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ได้รับความเดือดร้อนมากจากการที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการดำเนินธุรกิจ

โดยเฉพาะประเด็นที่ไม่ให้ผู้ถือหุ้นและดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของบริษัทหนึ่งที่ทำธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ในจังหวัดหนึ่ง สามารถถือหุ้นบริษัทอื่นในจังหวัดเดียวกันได้ ซึ่งผู้ประกอบการหลายคนตั้งบริษัทอยู่แล้วในจังหวัดเดียว 2-3 แห่ง ส่วนที่บางแห่งมีมากกว่า 10 บริษัทในจังหวัดเดียวอาจเป็นส่วนน้อย จาก 1,114 รายมีไม่ถึง 10%

โดยกฎหมายที่ออกมาจะมีผลย้อนหลัง โดยมีเวลาให้ผู้ประกอบการแก้ไขภายใน 180 วัน โดยต้องไปลดหุ้น ถอนหุ้นออกจากบริษัท หรืออาจจะต้องคืนใบอนุญาตและยกเลิกบริษัท ถือเป็นการลิดรอนสิทธิในการตั้งบริษัท ที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้จำกัดไว้ เพราะเป็นธุรกิจถูกกฎหมาย หากต้องบังคับใช้จริงก็ไม่ควรมีผลย้อนหลัง ควรใช้กับบริษัทใหม่

“อยากรู้ว่าประเด็นการปรับเปลี่ยนร่างกฎหมายนี้เพื่ออะไร ใครคือผู้เดือดร้อนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สศค.ตอบไม่ได้ว่าเกิดจากปัญหาอะไร เพียงให้เหตุผลว่าไม่อยากให้เกิดการผูกขาด ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ที่ก่อตั้งขึ้นในแต่ละจังหวัดล้วนเป็นทุนท้องถิ่นรายย่อย จดทะเบียนไม่กี่ล้านบาท ไม่ใช่การผูกขาดเลย การตั้งหลายบริษัทในจังหวัดเดียว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

เพราะลูกค้าบริษัทพิโกไฟแนนซ์ แห่งเดียวกู้ได้เพียง 5 หมื่นบาท หรือลูกค้าพิโกพลัสกู้ได้แค่ 1 แสนบาท ซึ่งบางครั้งลูกค้าอยากได้เงินกู้ 2 แสนบาท ฉะนั้นการมีมากกว่า 1 บริษัทจะสามารถให้บริการกับลูกค้าได้อย่างเต็มที่ และเมื่อรวมดอกเบี้ยก็ไม่ได้สูง ในแวดวงธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ไม่มีใครเดือดร้อน ต่างคนต่างดำเนินธุรกิจของตัวเอง อยู่คนละจังหวัด”

บูรพงศ์ วรรักษ์ธารา
บูรพงศ์ วรรักษ์ธารา

นายบูรพงศ์กล่าวต่อไปว่า หากกรณีที่ สศค.ต้องการแก้ปัญหาการผูกขาด ห้ามตั้งบริษัทเกิน 1 แห่ง แต่กลับไม่ห้ามการเปิดสาขาเพิ่ม ถ้า 1 บริษัทขยายสาขาได้นับ 1,000 สาขา จะแก้ปัญหาการผูกขาดได้หรือไม่ กฎหมายนี้คล้ายว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด อนาคตอาจมีนอมินีเกิดขึ้นแทน การปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้จึงไม่ตอบโจทย์และไม่ควรถูกนำมาใช้

18 บริษัทย่อย “ทรีมันนี่” กระทบ

“บริษัท ทรีมันนี่ โฮลดิ้ง จำกัด” ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากร่างหลักเกณฑ์ใหม่

เนื่องจากลักษณะการประกอบธุรกิจตามข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าเพจ “บริษัท ทรีมันนี่ โฮลดิ้ง จำกัด” ถือเป็นบริษัทแม่เข้าไปลงทุนในกิจการ และให้สินเชื่อในกิจการ โดยมีบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ในสัดส่วนร้อยละ 100 จำนวน 18 บริษัท ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ

และดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ สศค. ครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมถึงจังหวัดข้างเคียง ได้แก่ ปราจีนบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นในบริษัท เดอะ วูลฟ์ จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 91 ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนลูกค้าในการจัดหาสินเชื่อ และช่วยเหลือลูกค้าในการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ร้องรัฐถกทางออกร่วมกัน

นายไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ทรีมันนี่ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างกฎหมายที่ออกมามีอยู่ 3 เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ คือ

1.ให้ผู้ประกอบการผู้ถือหุ้นในบริษัทพิโกไฟแนนซ์ ได้เพียงบริษัทเดียวใน 1 จังหวัด

2.ห้ามผู้ประกอบการเป็นกรรมการบริษัทมากกว่า 1 บริษัทในจังหวัดเดียวกัน

3.ห้ามบริษัทพิโกไฟแนนซ์ระดมทุน หรือชักชวนคนมาลงทุน

ไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์
ไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์

ส่วนใหญ่หลายบริษัทพิโกไฟแนนซ์จดทะเบียนมากกว่า 1 บริษัทในจังหวัดเดียวกัน เพราะยอดสินเชื่อที่ลูกค้ามาขอกู้มักได้น้อยกว่าความเป็นจริง ยกตัวอย่าง เช่น การนำโฉนดที่ดินที่มีราคาสูงมาค้ำประกัน แต่กลับกู้เงินได้สูงสุดเพียง 50,000 บาท หากต้องการเงินเพิ่ม ต้องไปขอกู้ในบริษัทที่ 2 บริษัทที่ 3 เพื่อให้ได้เงินอย่าง “ยุติธรรม” ซึ่งก่อนหน้านี้ “รัฐบาลไม่มีกฎห้าม”

เมื่อปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์จึงส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการบางรายลงทุนร่วมกันหลายบริษัทแล้วใช้ชื่อบุคคลเดียวเป็นกรรมการสามารถบริหารบริษัทได้สะดวก

“ร่างประกาศฉบับใหม่คล้ายต้องการสร้าง CEO เพิ่มขึ้นอีกนับพันคน นอกจากนี้ยังสร้างปัญหา เพราะลูกค้าที่กู้เงินไปแล้ว ต้องใช้เวลาหาเงินมาคืนก็ค่อนข้างยาก เรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ฟ้องร้องต้องใช้เวลาอีกหลายปี เรียกได้ว่ากระทบอย่างมาก”

สศค.ร่างกฎออกมาแล้วใช้คำว่า เพื่อป้องกัน “การผูกขาดสินเชื่อ” เหมือนป้องกันไม่ให้พิโกไฟแนนซ์เติบโต โดยไม่ได้พูดคุยหารือกับผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ไม่หาแนวทางร่วมกัน ถ้าเป็นแบบนี้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ต้องมากกว่า 50,000 บาท พิโกพลัสต้องมากกว่า 100,000 บาท ตามความต้องการของลูกค้า ถ้าไม่ได้ สุดท้ายผู้ประกอบการคงคืนใบอนุญาตแล้วยกเลิกกิจการ

เรื่องนี้ประเด็นหลักอยู่ที่การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ระบบพิโกไฟแนนซ์ที่ดอกเบี้ยน้อยกว่า และการออกกฎหมายแบบนี้เหมือน “บีบคนให้กลับเข้าไปสู่หนี้นอกระบบ” อีกครั้ง ที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นและผู้บริหารของกลุ่มบริษัท เคยประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อนอกระบบ ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวที่ดำเนินการมากว่า 20 ปี ทำให้มีความเข้าใจธุรกิจ และลูกค้า

สำหรับทรีมันนี่ถือหุ้นธุรกิจพิโกไฟแนนซ์อยู่ถึง 3 บริษัท ถ้ารัฐบาลกำหนดให้ถือหุ้นได้บริษัทเดียว อีก 2 บริษัทคงต้องปรับพอร์ตลูกหนี้แล้วคืนใบอนุญาต ในฐานะหนึ่งในผู้ประกอบการพิโกอยากร้องขอรัฐบาล หากประกาศร่างกฎหมายออกมาบังคับใช้จริง 1.ตั้งกองทุนซื้อพอร์ตลูกหนี้และซื้อกิจการพิโกไฟแนนซ์ไปบริหารเอง เพราะคงไม่มีใครมารับซื้อบริษัทไปบริหารต่อ

2.เพิ่มวงเงินขอกู้ให้กับลูกค้า ให้สามารถกู้เงินพิโกไฟแนนซ์ได้มากขึ้น เพราะในตลาดเฉลี่ยยอดเงินกู้ทั่วไปวงเงินเกิน 150,000 บาทต่อราย มีหนี้นอกระบบอยู่มากกว่าที่รัฐบาลเข้าใจ

นายไชยวัฒน์กล่าวว่า การเป็นหนี้โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนมีอยู่ในทุกอาชีพ และพิโกไฟแนนซ์ถูกตั้งมาเพื่อแก้หนี้นอกระบบ ประเทศไทยมี 75 จังหวัด มีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไปแล้ว 1,114 บริษัท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เพราะแต่ละจังหวัดมีหลายอำเภอ ผู้ประกอบการขยายไปตามความต้องการของลูกค้า

แต่หากให้เหลือ 1 บริษัทต่อ 1 จังหวัด ผู้ประกอบการทำพิโกไฟแนนซ์น่าจะเหลือไม่ถึง 1,000 ราย อยากให้ สศค.จัดประชุมสัมมนาร่วมกับผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป