ทุเรียนหลินลับแล อุตรดิตถ์ บูมหนัก 2 อินฟลูฯดังจีน บุกไลฟ์สด

2 อินฟลูเอนเซอร์จีนบุก จ.อุตรดิตถ์ ต้นกำเนิดทุเรียนพันธุ์ “หลินลับแล” พร้อมไลฟ์สดจากต้นแม่พันธุ์ ลงแพลตฟอร์มดัง “โต่วอิน” (Douyin) ที่มีผู้ติดตามกว่า 20 ล้านคน คาดคนจีนรู้จักทุเรียนไทยเพิ่ม 10 ล้านคน

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 นางสาวสุภาพ ปันลาด เจ้าของสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตร “บ้านหลินลับแล” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 บีไถ่ (B Tai) และลู เซียวซีไถ่ (Zhu Xiao Si ) 2 อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ชื่อดังด้านทุเรียนของจีนในแพลตฟอร์มโต่วอิน (Douyin) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่น วิดีโอสั้นที่โด่งดังเป็นที่นิยมในจีน และคล้ายคลึงกับ TikTok ที่มีผู้ติดตามกว่า 20 ล้านคน

ได้เดินทางมาชิมและไลฟ์สดทุเรียนหลินลับแลแท้ ๆ จากต้นแม่พันธุ์ ที่สวนบ้านหลินลับแล เจ้าของสายพันธุ์หลินลับแล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ที่ปัจจุบันสืบทอดมาถึงรุ่นลูกและตนเองเป็นรุ่นหลาน

จากการสอบถาม 2 อินฟลูเอนเซอร์ เป็นคนรุ่นใหม่ รู้จักทุเรียนหลินลับแล หลงลับแลมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีคนไทยพาตระเวนชิมไปตามสวนต่าง ๆ และเห็นว่าที่สวนบ้านหลินลับแลเป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์ โดยเมื่อ 74 ปีที่ผ่านมา คุณปู่เป็นผู้นำทุเรียนสายพันธุ์นี้มาปลูกเป็นคนแรก

Advertisment

จนกระทั่งมีการประกวดทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้าน และได้รับรางวัลชนะเลิศ ต่อมาพัฒนาเป็นทุเรียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ปัจจุบันมีการขยายพันธุ์นำไปปลูกทั่วประเทศ แต่ที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ถือว่าเป็นต้นกำเนิด รสชาติเป็นที่หนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าทุเรียนไทยถือเป็นสินค้า Super Premium สายพันธุ์พิเศษที่กำลังได้รับกระแสความนิยมอย่างสูงในจีน

จริง ๆ แล้วที่สวนปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองผสมผสานอยู่ด้วยกันกับทุเรียนพันธุ์หลินลับแล หลงลับแล แต่ส่วนใหญ่พันธุ์หมอนทองจะขายส่งให้พ่อค้าเพื่อส่งออก ส่วนหลินลับแลและหลงลับแลมีปริมาณปีละไม่มาก 2-3 ตัน จะขายออนไลน์ ข้อดีคือจะทยอยสุกง่ายต่อการจัดการและได้ราคาดี ค่อนข้างนิ่งตลอดฤดูกาล 3 เดือน คือ (พฤษภาคม-ตุลาคม) เกรด A B ราคา 300-350 บาทต่อกิโลกรัม และจะลดลงเล็กน้อยในช่วงพีกสั้น ๆ ต้นมิถุนายน

และข้อจำกัดสำคัญ 2 ข้อที่โรงคัดบรรจุหรือล้งไม่นิยมส่งออกคือ ปริมาณทั่วไปยังมีน้อยไม่เพียงพอในการบรรจุตู้ส่งออก และเป็นทุเรียนที่ต้องตัดแก่ประมาณ 90 วัน ระยะเวลาที่ส่งออกหลายวันจะทำให้สุกก่อน จริง ๆ แล้วทุเรียนพันธุ์หลงลับแลและหลินลับแล

Advertisment

จะปลูกยากกว่าพันธุ์หมอนทองและมีลูกน้อยกว่า ลูกเล็กกว่าการปลูกเชิงพาณิชย์ น้ำหนักสู้หมอนทองไม่ได้ แต่ทำตลาดออนไลน์ราคาดี และการทำสวนเกษตรท่องเที่ยวจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ปีนี้สภาพอากาศค่อนข้างร้อน การออกดอกค่อนข้างช้า ผลผลิตทุเรียนโดยรวมลดลง 30%

ความโดดเด่นแตกต่างกันระหว่างทุเรียนพันธุ์หลงลับแลและหลินลับแล โดยหลินลับแล รสชาติหวานแหลม รสมัน เนื้อแห้งละเอียด เหนียวไม่แฉะ เส้นใยน้อย มีกลิ่นอ่อน เมล็ดลีบเล็ก ผลทรงกระบอกคล้ายมะเฟือง ส่วนพันธุ์หลินลับแลเป็นทุเรียนป่าเบญจพรรณเช่นกัน การตั้งชื่อหลินลับแลเปรียบเทียบว่าเป็นเพศหญิง โด่งดังต่อจากหลงลับแล มีรสชาติหวานมัน มีลักษณะเป็นครีมมี่ เนื้อแห้งละเอียด เหนียว ไม่มีเส้นใย กลิ่นอ่อน ผลเป็นทรงกลม

“ตนเองจบปริญญาตรี ด้านบริหารธุรกิจ ทำธุรกิจส่วนตัว ออกแบบเสื้อผ้า ขายส่ง อินทีเรียรับเหมาก่อสร้างกว่า 20 ปี ก่อนที่จะกลับบ้านมาช่วยครอบครัวทำสวนผลไม้ ทุเรียน ลองกอง มังคุด ในช่วงโควิด-19 จึงเรียนรู้ทำตลาดออนไลน์หลงลับแล หลินลับแล และ 3-4 ปีที่แล้ว เปิดสวนทำท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ชิม ช็อปผลไม้ในสวน เพราะเห็นว่าสวนมีสตอรี่ของหลงลับแลเป็นต้นกำเนิด เปิดเพจบ้านหลินลับแล ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีสื่อมาทำออกรายการช่วยประชาสัมพันธ์แพร่หลาย ล่าสุดมี 2 อินฟลูเอนเซอร์จีนทำแพลตฟอร์มโต่วอิน (Douyin) เข้ามาด้วย”

ทางด้านนางพรทิพย์ ศรีสมโภชน์ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียน จ.อุตรดิตถ์ ผลผลิตเริ่มออกมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ต้นเดือนมิถุนายน โดยผลผลิตผลไม้โดยรวมจะลดลง 20-30% ทุกชนิด ด้วยสภาพอากาศร้อนแห้งแล้ง ทุเรียนปี 2567 สถานการณ์การผลิตทุเรียน จ.อุตรดิตถ์ ปีการผลิต 2567 พื้นที่เพาะปลูก 49,830.00 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 42,055.00 ไร่ ผลผลิตรวม 33,854.28 ตัน

สถานการณ์การผลิตทุเรียน (พันธุ์หลงลับแล) พื้นที่เพาะปลูก 2,917.00 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 2,278.00 ไร่ ผลผลิตรวม 1,100.27 ตัน สถานการณ์การผลิตทุเรียน (พันธุ์หลินลับแล) พื้นที่เพาะปลูก 662.00 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 367.00 ไร่ (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2567)

คาดว่าผลผลิตมีปริมาณลดลงกว่าปี 2566 เกือบ 30% จ.อุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีผลผลิตทุเรียนจำนวนมาก มีล้งที่ขึ้นทะเบียนส่งออก 20 กว่าล้ง ได้ทยอยเปิดรับซื้อ 14-15 ล้ง ซึ่งจะเคลื่อนย้ายมาจากภาคตะวันออก ส่วนใหญ่จะส่งออกหมอนทองเป็นหลัก เพราะหลงลับแล หลินลับแล มีปริมาณน้อยและการตัดแก่จัด 80-90% หากใช้ระยะเวลาขนส่งไปจีน 5-6 วัน ผลจะสุกก่อนถึงปลายทาง และตลาดยังให้ความนิยมหมอนทองที่มีเนื้อมาก พูใหญ่ แม้ว่ารสชาติหลงลับแลจะอร่อยกว่า

ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ (Uttaradit Long Lab Lae Durian) ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ลักษณะเด่น ผลทรงกลมหรือกลม ขนาดเล็ก เปลือกบาง เนื้อเยอะ สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งละเอียดเหนียว มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบเล็ก ปลูกในพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ และ ต.นางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ (Uttaradit LIN Lab Lae Durian)

ลักษณะเด่น ผลทรงกระบอก เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเหนียวแห้ง รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน เนื้อมาก เส้นใยน้อย เก็บไว้ได้นาน ไม่แฉะ เมล็ดลีบเล็ก ปลูกในพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ และ ต.นางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ และยังมีทุเรียนหมอนทองเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ปลูกบนภูเขาสูงหรือดอย

ปัจจุบันมีจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ 83 ราย และทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ 23 ราย