“นรินทร์ คลังผา” จี้รัฐบริหารน้ำแล้ง-ท่วม ป้องลพบุรี

Narin
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม กลายเป็นประเด็นท้าทายทุกรัฐบาล นั่นหมายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับปากท้องของประชาชน บางพื้นที่ปริมาณฝนเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และบางพื้นที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน น้ำราคาแพงและหายากราวกับทองคำ จังหวัดลพบุรีถือเป็นอีกพื้นที่ในการเผชิญปัญหาดังกล่าว

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นรินทร์ คลังผา” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 จังหวัดลพบุรี พรรคภูมิใจไทยในการแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ที่มองการแก้ปัญหาระยะยาวมากขึ้น

ชู 3 แนวทางบริหารจัดการน้ำ

ปรากฏการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ อย่างอำเภอโคกสำโรงและอำเภอบ้านหมี่ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นายนรินทร์ต้องผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา ทั้งระดับพื้นที่และนำเสนอต่อ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งลงตรวจเยี่ยมพื้นที่จังหวัดสระบุรีและจังหวัดลพบุรี นายกฯระบุชัดเจนว่า ให้พื้นที่บริหารจัดการทางเดินน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก รวมถึงไหลลงสู่พื้นที่ทุ่งนา หรือพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง ก่อนจะไหลลงสู่บ้านเรือนของประชาชน

นายนรินทร์กล่าวถึงแนวคิดของนายเศรษฐา นายกฯว่า ได้นำมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานชลประทาน และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะศึกษาแนวทางป้องกันน้ำแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอโคกสำโรงและอำเภอบ้านหมี่ “โจทย์” สำคัญในเรื่องนี้ คือ อำเภอโคกสำโรงไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำ

ฉะนั้นน้ำจึงมาเร็ว-ไปเร็ว ใช้เวลาเพียง 1-2 วัน น้ำก็ไหลท่วมบ้านเรือน ทำอย่างไรจึงจะชะลอน้ำได้ 4-5 วัน รวมถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น ขาดความเชื่อมต่อของคลองบางส่วน จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี

Advertisment

จากโจทย์ข้างต้น นายนรินทร์ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาถึงความเป็นไปได้ว่าจะใช้รูปแบบใดแก้โจทย์ แบ่งเป็น 1) การทำฝาย หรือการทำแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำ ด้วยการฟื้นฝายที่มีกว่า 100 แห่ง และผ่านการใช้งานมา 10-20 ปี ในพื้นที่อำเภอโคกสำโรง และอยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. ให้ใช้ประโยชน์เต็มศักยภาพ และหาพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติม เพื่อทำพื้นที่แก้มลิง

2) การขุดลอกคลองเพื่อกักเก็บน้ำเพิ่ม เช่น คลองสนามแจง ที่มีการสำรวจเบื้องต้นพบว่า คลองมีความยาวที่ต้องขุด 950 เมตร และคลองห้วยปลาหมอ และ 3) การสร้างพนังกั้นน้ำ บริเวณเหนือคลองห้วยยาง และยังเป็นพื้นที่ที่น้ำจากคลองศรีสุก เพื่อเบนทางน้ำให้ไหลลงสู่แหล่งเก็บน้ำใกล้เคียง พร้อมกับเพิ่มคลองซอยช่วยบริหารจัดการน้ำทั่วถึง

เทงบฯ 200 ล้านจบปัญหาน้ำ

โดยรายละเอียดทั้งหมดกำหนดเป็น “ยุทธศาสตร์จังหวัด” เพื่อของบประมาณในการดำเนินการศึกษาและดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป ส่วนจะใช้งบประมาณเท่าไหร่นั้น นายนรินทร์ให้ข้อมูลว่า หากทำฝายชะลอน้ำและทำตัวคลอง

คาดว่าจะใช้งบประมาณที่ประมาณ 10-20 ล้านบาท ให้น้ำวิ่งไปคลองห้วยปลาหมอ หมู่ 1 ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง แต่หากต้องการสร้างให้ใหญ่กว่านั้น และอาจต้องสร้างพนังกั้นน้ำเพิ่ม คาดว่าจะใช้งบประมาณอยู่ที่ราว 100-200 ล้านบาท

Advertisment

“เราจึงต้องเริ่มจากขนาดเล็กก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่ หากว่าแก้ปัญหาได้จบก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม”

หวั่นน้ำท่วมซ้ำรอยปี’64

พื้นที่อำเภอโคกสำโรงและอำเภอบ้านหมี่ ถือเป็นพื้นที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม โดยนายนรินทร์ได้ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์น้ำท่วมตลาดอำเภอโคกสำโรง ในปี 2564 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของลพบุรี ทั้งที่โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้น้ำจำนวนมากไหลสู่ถนนเส้น 205 (ถนนสุรนารายณ์)

ในขณะนั้นมีการวางแท่งแบริเออร์ยาว ส่งผลให้ถนนสูงขึ้น ขณะเดียวกันส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นตามไปด้วย น้ำจำนวนมากจึงไหลย้อนไปยังตลาดอำเภอโคกสำโรง และเข้าถึงอำเภอบ้านหมี่ ที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญของจังหวัดลพบุรี

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขึ้นอีก จึงต้องกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยนายนรินทร์ได้ฉายภาพถึงแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจน ด้วยการอธิบายง่าย ๆ ว่าต้องใช้พนังกั้นน้ำกำหนดเส้นทางน้ำเข้าสู่ทุ่งนาให้เต็มก่อน เป็นการใช้จุดแข็งของคันนาที่มีความสูงราว 50-60 เซนติเมตร จะช่วยลดปริมาณน้ำได้ระดับหนึ่ง ใช้ฝายเป็นตัวชะลอน้ำ เพื่อให้มีเวลากักเก็บไว้ใช้

“จากเดิมที่น้ำอาจต้องเข้าพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งทั้ง 100% ก็เปลี่ยนมาเข้าที่นาบ้าง พร้อมจัดสรรที่กักเก็บน้ำ พร้อมกับการชะลอน้ำด้วยฝาย ทั้งนี้ต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ว่า น้ำที่จะมาจากพื้นที่อื่น ๆ เช่น ตำบลคลองเกตุ และหมู่บ้านนกเขาเปล้า ตำบลเพนียด ให้ไหลเข้ามาที่คลองปลาหมอ แตกออกตามทางหมู่บ้านหนองสำโรง ตำบลสะแกราบได้หรือไม่ เพราะพื้นที่นี้มีการทำนา แต่ขาดน้ำ ปี 2566 ที่ผ่านมาไม่ได้ข้าวเลย น่าจะเป็นพื้นที่ที่ต้องเบนทางน้ำให้ไหลเข้าทุ่ง”

ทั้งนี้หัวใจสำคัญของแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม จะต้อง “ไม่ส่งผลกระทบ” ต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งนายนรินทร์เน้นย้ำเรื่องนี้เป็นเรื่องส่งท้าย