ยันสำรวจ 3 อำเภอกาญจน์ ผันน้ำ “เขื่อนศรีนครินทร์”

Srinakarin Dam

ชลประทานเดินหน้าสำรวจออกแบบ “โครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำและระบบส่งน้ำ” จากเขื่อนศรีนครินทร์ช่วยภัยแล้งพื้นที่เกษตร 414,000 ไร่ พื้นที่ 3 อำเภอ บ่อพลอย-ห้วยกระเจา-เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี

นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้กรมชลประทานอยู่ระหว่างทำการสำรวจและออกแบบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำและระบบส่งน้ำ เพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งของอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

ให้มีน้ำอุปโภค-บริโภค และทำให้พื้นที่เกษตร 414,000 ไร่ เพาะปลูกได้ตลอดปี ทั้งนี้โครงการมีระยะเวลาสำรวจและออกแบบ 720 วัน ตั้งแต่ 16 กันยายน 2566 สิ้นสุด 4 กันยายน 2568

“ที่ผ่านมาพื้นที่ 3 อำเภอประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากมีข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้และพื้นที่อับฝน จึงมีฝนตกน้อยมาก”

สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา เป็นการปฐมนิเทศกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์ที่มาและรายละเอียดโครงการ ได้แก่ 1.อาคารหัวงาน ประกอบด้วย อุโมงค์ผันน้ำขนาด 4.20 เมตร จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู ความยาวประมาณ 20.53 กม. อัตราการผันน้ำ 12.00 ลบ.ม./วินาที พร้อมด้วยอาคารรับน้ำและอาคารจ่ายน้ำ ขนาด 4.20×4.20 เมตร

Advertisment

2.ระบบอุโมงค์และอาคาร ประกอบด้วย ท่อส่งน้ำชนิดท่อเหล็กเหนียว ขนาด 2.50 ม. จากอ่างเก็บน้ำลำอีซู ไปยังบ่อพักน้ำหลุมรัง ระยะทาง 14.27 กม. และบ่อพักน้ำหลุมรัง ขนาดพื้นที่ 651 ไร่ ความจุ 3.70 ล้าน ลบ.ม.

และ 3.พื้นที่รับประโยชน์ เป็นพื้นที่การเกษตร 414,000 ไร่ ประกอบด้วย คลองส่งน้ำสายใหญ่ จากบ่อพักน้ำหลุมรัง ไปยังพื้นที่ฝั่งซ้ายของคลองลำตะเพิน ความยาว 94.20 กม. มีอัตราการส่งน้ำ 10.00 ลบ.ม./วินาที มีท่อส่งน้ำสายซอย และท่อส่งน้ำสายแยกซอยรวม 42 สาย ความยาวรวม 315.00 กม.

อนึ่ง ก่อนหน้านี้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรคัดค้านโครงการดังกล่าวที่สร้างผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จึงขอให้มีการสำรวจและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน