ชาวนาบึงกาฬเดือดร้อนหนัก หลังน้ำแห้งนาข้าวกว่า 6 หมื่นไร่เน่าตาย

เมื่อวันที่ 21 กันยายน เวลา 08.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดบึงกาฬ หลังจากได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำสงครามที่หนุนสูงขึ้นเอ่อท่วมพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ ของจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งสถานการณ์เช้าวันนี้ระดับน้ำบางพื้นที่ลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ มีเพียงบางพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังเล็กน้อย ในบางอำเภอ

ส่วนภาพที่เห็นอยู่ขณะนี้เป็นนาข้าวของชาวนาบ้านพันลำ ม.2 ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ ที่อยู่ติดกับลำน้ำสาขาใกล้แม่น้ำโขงถูกน้ำท่วมขังนาข้าวนานเกือบ 1 เดือน หลังน้ำลดลงจะเห็นสภาพของต้นข้าวยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก และในพื้นที่บ้านนาแสงสาคร หมู่ที่ 7 ต.นาแสง อ.ศรีวิไล ผู้นำชุมชน ร่วมกับ เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ คณะกรรมการหมู่บ้าน ลงพื้นที่ตรวจสอบนาข้าวของเกษตรกร หลังยื่นความประสงค์ขอรับเงินเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบว่านาข้าวกว่า 60 ไร่เน่าตายเสียหายสิ้นเชิง หลังถูกน้ำท่วมขังนานนับเดือนเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายวิจารณ์ เหล่าธรรมยิ่งยง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ (ปภ) ได้สรุปรายงานพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้ง 8 อำเภอ 49 ตำบล 417 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 58,488 ไร่ / พืชไร่ 8,294 ไร่ / พืชสวน 1,946 ไร่ / ประมง 963 บ่อ/ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 9,312 ครัวเรือน 34,199 คน รายละเอียดดังนี้

1. อ.เมือง จำนวน 11 ตำบล 94 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 19,650 ไร่ พืชไร่ 6,367 ไร่ พืชสวน 1,356 ไร่ ประมง 565 ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 3,848 ครัวเรือน 13,490 คน

2.อ.บุ่งคล้า จำนวน 3 ตำบล 25 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 2,003 ไร่ ประมง 161 ไร่ ปศุสัตว์ 121 ตัว มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 349 ครัวเรือน 1,153 คน

3.อ.ศรีวิไล จำนวน 4 ตำบล 23 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ ระหว่างการสำรวจ ไม่ท่วมบ้านเรือนประชาชน

4.อ.โซ่พิสัย จำนวน 6 ตำบล 57 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ ระหว่างการสำรวจ

5.อ.ปากคาด จำนวน 6 ตำบล 31 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 7,350 ไร่ พืชไร่ 1,158 ไร่ พืชสวน 391 ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 1,099 ครัวเรือน 3,996 คน

6. อ.บึงโขงหลง จำนวน 4 ตำบล 36 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 6,476 ไร่ พืชไร่ 632 ไร่ ประมง 207 ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 1,200 ครัวเรือน 6,000 คน

7. อ.เซกา จำนวน 9 ตำบล 120 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ นาข้าว 23,009 ไร่ พืชไร่ 137 ไร่ พืชสวน 78 ไร่ ประมง 30 ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 2,816 ครัวเรือน 9,560 คน

8. อ.พรเจริญ จำนวน 6 ตำบล 31 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ ระหว่างการสำรวจ

ส่วนนายสมรัก ภูเดช เกษตรจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ขอให้เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ยื่นความจำนงขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ที่เป็นที่ตั้งของแปลงเพาะปลูก ขอให้เกษตรกรที่ประสบภัยด้านพืช ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งจังหวัดได้ประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และเกษตรกร ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้ว โดยให้ยื่นความจำนง ขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่เป็นที่ตั้งของแปลงเพาะปลูกที่ได้รับความเสียหายได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

โดยจะได้รับความช่วยเหลือตามพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย แต่ไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งหากเป็นนาข้าว จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,149 บาท และพืชสวน ไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ โทรศัพท์ 042-490-838

ส่วนพืชยางพารา สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดบึงกาฬ แจ้งเกษตรกรชาวสวนยาง กรณีหน้ายางเน่าเสีย ต้นยางมีอาการใบเหลืองหรือร่วงหล่น น้ำท่วมสวนยางไม่สามารถกรีดยางได้ไม่น้อยกว่า 1 เดือน หรือกรณีเกิดโรคระบาด ใบร่วง จากเชื้อราไฟทอปธอร่า ต้นยางใบร่วง 80 % ต้นยางเกิดโรคเส้นดำ หากเข้าเกณฑ์ กรณีใดกรณีหนึ่ง ให้ถ่ายภาพประกอบแล้วติดต่อกับสำนักงาน กยท.จังหวัดบึงกาฬ หรือสำนักงาน กยท.ย่อยอำเภอเซกา อำเภอเมืองบึงกาฬ เพื่อขอรับสวัสดิการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกรณีสวนยางพาราประสบภัยพิบัติได้ทันที หรือโทร 042-492-194

 

ที่มา มติชนออนไลน์