4จว.เหนือชงครม.เชียงราย1.5หมื่นล. จุดพลุถ้ำหลวง-ดันNCE-แผนแม่บทรองรับไฮสปีด

ถ้ำหลวง
ถ้ำหลวง-แฟ้มภาพ

4 จังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ชง ครม.สัญจรเชียงรายเกือบ 7 ด้าน มูลค่าเฉียด 1.5 หมื่นล้าน ชูจุดพลุด้านท่องเที่ยว “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” เปิดพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมลุยขอเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง 24 สาย ทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงเชียงใหม่-รถไฟทางคู่เชื่อมโยงเด่นชัย-พะเยา-เชียงราย พร้อมเตรียมแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานี แถมดันตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมเกษตรอาหาร จ.พะเยา

นายพรเทพ อินทะชัย ประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 29-30 ต.ค.นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดจัดประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.เชียงราย ภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ได้หารือกันและเตรียมนำเสนอให้รัฐบาลเร่งพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NCE) ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ทั้งในรูปแบบของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ การค้าชายแดน ฯลฯ เพราะในปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในพื้นที่ได้รับการก่อสร้างไปแล้วจำนวนมาก ทั้งท่าเรือแม่น้ำโขง สะพานข้ามแม่น้ำโขง สนามบิน ถนน โครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ฯลฯ ดังนั้น สิ่งที่เหลือคือรายละเอียด หรือซอฟต์แวร์ที่ต้องนำเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ เพื่อให้เชียงรายเป็น NCE ได้อย่างแท้จริง

“รายละเอียดที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎระเบียบ เช่น การลดข้อจำกัดที่กำหนดให้ชาวเมียนมาที่ทำเอกสารผ่านแดนเข้ามาชั้นในของประเทศได้เพียงประมาณ 5 กิโลเมตร การลดกฎระเบียบที่ไม่เอื้อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนนำรถยนต์เข้ามาทางถนน R3A

ด้านสะพานแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 อ.เชียงของ จ.เชียงราย หลังจากปัจจุบันมีการเข้มงวดจนทำให้ปริมาณรถนักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างมาก โดยแนวทางแก้ไขที่จะเสนอ คือ การสร้างศูนย์บริการ หรือวันสต็อปเซอร์วิส ณ ชายแดน อ.เชียงของ เพื่อลดขั้นตอน ฯลฯ”

ประธานหอการค้า จ.เชียงรายกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวที่ จ.เชียงราย โด่งดังไปทั่วโลกจากกรณีทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าติดในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่ง อ.แม่สาย การเป็นเมืองแห่งชาและกาแฟ ศิลปะ การแข่งขันกีฬาแห่งชาติที่เชียงรายจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 18-28 พ.ย.นี้ และต่อเนื่องถึงกีฬาคนพิการ ครั้งที่ 36 “น้ำกกเกมส์” ระหว่างวันที่ 18-22 ม.ค. 2562 จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างกระแสอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การท่องเที่ยวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า สถิติการเดินทางของชาวจีนเข้าด่านเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว บนถนน R3A เชื่อมถึง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ช่วงวันชาติจีนที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนกว่า 12,467 คน มีรถเข้ามาจำนวน 3,957 คัน และถ้ารวมสถิติทั้งขาเข้า-ออกกว่า 31,651 คน รถยนต์จำนวน 9,423 คัน

แต่ปรากฏว่า มีคนจีนเดินทางต่อมายังประเทศไทยเพียง 276 คน และเดินทางด้วยรถยนต์เพียง 18 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มาที่คนจีนเดินทางต่อมายังประเทศไทยกว่า 60-70% หรือเท่ากับเข้ามาประเทศไทยไม่ถึง 5% ดังนั้นจึงมีการนำเสนอปัญหานี้สู่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จ.เชียงราย เพื่อให้นำเสนอ ครม.สัญจรครั้งนี้พิจารณา

ชงเสนอ 7 ด้านเฉียด 1.5 หมื่นล้าน

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาเป็นประธานจัดการประชุมเพื่อสรุปร่างข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้ง 4 จังหวัดเข้าร่วม แต่ละจังหวัดนำเสนอการพัฒนาแบ่งเป็น 7 ด้าน คือ

1.ด้านการท่องเที่ยว 2.การค้าการลงทุน 3.โครงสร้างพื้นฐาน 4.การเกษตร 5.การพัฒนาคุณภาพชีวิต 6.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 7.อื่น ๆ โดยมีรายงานว่างบประมาณที่จะนำเสนอทั้งหมดมีมูลค่ารวมกันประมาณ 14,455,550,000 บาท

โดยด้านการท่องเที่ยว ขอรับการสนับสนุนหลายโครงการ เช่น พัฒนาถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน, สำรวจโบราณสถาน จ.น่าน, อนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเมืองเก่าเวียงลอ จ.พะเยา, ด้านการค้าการลงทุน เช่น พัฒนานวัตกรรมดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ และฟินเทค, ขอให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมดิจิทัลฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ รวมทั้งขอให้ขยายระยะเวลาสินเชื่อให้ SMEs

ดันแผนแม่บทรองรับทางคู่-ไฮสปีด

ด้านโครงสร้างพื้นฐานมีการขอสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพ บูรณะ เร่งรัดทางหลวง 24 สาย รวมถึงการพัฒนาระบบคมนาคมทางราง เช่น ศึกษาการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งทางราง จ.พะเยา, พัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟความเร็วสูงเชียงใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ จ.พะเยา, ศึกษาแผนแม่บทรองรับรถไฟทางคู่เชื่อมโยงเด่นชัย-พะเยา-เชียงของ และจัดทำแผนแม่บทรองรับรถไฟรางคู่เชื่อมโยงเด่นชัย-พะเยา-เชียงของ

นอกจากนี้ ด้านโครงข่ายทางอากาศ ศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา, ศึกษาความเหมาะสมศูนย์กระจายสินค้า จ.พะเยา รองรับรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ จ.พะเยา,

การศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาระบบการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะด้านการเกษตร ขอรับการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการธนาคารน้ำใต้ดินในการแก้ปัญหาภัยแล้ง, ยกเลิกพื้นที่ ส.ป.ก. (ที่อยู่อาศัย) โดยการส่งคืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้ เพื่อจำแนกเป็นเขตป่าเสื่อมโทรม และนำมาออกเป็นเอกสารสิทธิให้แก่ผู้ครอบครองพื้นที่รายเดิม, ส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ขอให้พัฒนาและขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์,

ตั้งศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมรายใหม่ (สตาร์ตอัพ) ด้านการเกษตรและอาหารภาคเหนือ, ตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมเกษตรอาหารเพื่อสุขภาพ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือล้านนาตะวันออก จ.พะเยา, ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ขอตั้งศูนย์กลางบริการสุขภาพและการแพทย์นานาชาติ (WMH), ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านสมุนไพรครบวงจร, พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในภาคเหนือ ฯลฯ

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของภูมิภาค และประเทศ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน จึงขอรับการสนับสนุนการบริหารจัดการลุ่มน้ำ ทั้งลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำโขงเหนือ, ลุ่มน้ำน่าน, ลุ่มน้ำอิง, ลุ่มน้ำยม, กว๊านพะเยา เป็นต้น