องอาจ กิตติคุณชัย ปั้น Food Valley สู่ Food Safety ดันเศรษฐกิจภาคเหนือ 5 พันล้าน

สัมภาษณ์

อุตสาหกรรมอาหาร” เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจภาคเหนือ ด้วยพื้นที่การเกษตรที่มีมากกว่า 29 ล้านไร่ เป็นปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารให้มีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ เป็นฐานการผลิตโรงงานแปรรูปอาหารราว 2,500 แห่ง และมีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 23,291 ล้านบาท จึงไม่ใช่เรื่องยากนักที่ภูมิภาคนี้จะถูกปักหมุดวางตำแหน่งให้เป็น food valley ที่ขับเคลื่อนมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว

“องอาจ กิตติคุณชัย” ประธานคณะกรรมการบริหาร โครงการพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ (Northern Thailand Food Valley : NTFV) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางและก้าวต่อไปของ Food Valley ภาคเหนือ

องอาจกล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ (Northern Thailand Food Valley : NTFV) ได้พัฒนาและขับเคลื่อนเรื่องสำคัญ ๆ หลายด้านให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ การพัฒนาด้านการตลาดและงานแสดงสินค้า การพัฒนาบุคลากรให้ความรู้สมาชิก-ผู้ประกอบการ เป็นต้น ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น

“ตอนนี้เรากำลังเตรียมขยายพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุมภาคเหนือทั้งหมด ทั้งภาคเหนือตอนบนและเหนือตอนล่าง เพื่อยกระดับ Northern Thailand Food Valley สู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่ตลาดสากล ที่จะมุ่งพัฒนากระบวนการผลิตและการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ”

Advertisment

ทั้งนี้ รูปธรรมที่สำคัญของโครงการ NTFV ในการขับเคลื่อนการพัฒนา Food Valley ภาคเหนือ คือ การสร้างคลัสเตอร์ (3 ประสาน) ตามแนวทางการดำเนินงาน โดยมีเอกชนนำ มีหน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษาเป็นองค์กรสนับสนุนในรูปแบบ PPP (public private partnership) เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เหมือนที่เรามีต้นแบบ (model) food valley จากเมือง Wageningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่นำมาเป็นแบบอย่าง

องอาจบอกว่า ก้าวต่อไปของ NTFV ในระยะ 5 ปีข้างหน้า มีความท้าทายหลายด้านและจะต้องมุ่งไปให้ได้ โจทย์สำคัญ คือ การทำ food valley ให้ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย (food safety) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้นน้ำคือเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ที่ต้องให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีตลาดรองรับจริงที่ปลายทาง คือ ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า ซึ่งการเป็น food safety ต้องเปลี่ยนและพัฒนาทั้งห่วงโซ่การผลิต

“เราเริ่มมีการพูดคุยหารือกันแบบจริงจังในคลัสเตอร์ 3 ประสาน (PPP) เป็นกลุ่มเล็ก ๆ และกำลังขยายเครือข่ายให้ใหญ่ขึ้น ตอนนี้มีผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมหลายราย เริ่มพัฒนาระบบ smart farm เช่น “ร้านสลัดโอ้กะจู๋” ส่งเสริมให้เกษตรกรในอำเภอแม่แจ่ม หันมาปลูกกะหล่ำปลีแบบไม่มีสารเคมี พื้นที่ราว 20 ไร่ และรับซื้อผลผลิตทั้งหมด เพื่อนำมาขายและผลิตอาหาร สอดรับกับเทรนด์ในยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องอาหารปลอดภัย ซึ่งแน่นอนว่า food trends คือ อาหารสุขภาพ โลกจะเริ่มเคลื่อนย้ายไปในเรื่องอาหารสุขภาพมากขึ้น และมีแนวโน้มที่เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ”

Advertisment

โดยก้าวต่อไปของ NTFV มองเรื่องการพัฒนาระบบมาตรฐานและการรับรองควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรม (standard drive innovation) ในมาตรฐานที่สำคัญ อาทิ มาตรฐาน organic มาตรฐาน nonGMO และมาตรฐานอาหารปลอดภัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมาตรฐานที่เป็น corporate brand คือ Northern Thailand Food Valley Select ที่จะรองรับมาตรฐานอาหารปลอดภัยตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติ

ขณะที่อีกโจทย์สำคัญที่ต้องทำ คือ การทำตลาดแผนใหม่ ที่จะมุ่งเน้นเรื่องการสื่อสารในกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 400 ราย ผ่านการทำตลาด social media ที่สามารถซื้อขายตรงกันได้เลยภายในกลุ่ม เช่น จังหวัดเชียงรายมีข้าว ถั่ว ข้าวโพด สับปะรด หรือจังหวัดตากมีกล้วย จะทำให้ผู้ซื้อพบผู้ขายโดยตรง

ทั้งนี้ นอกจากการพัฒนาในเชิงนโยบาย การวิจัยและพัฒนาแล้ว การตลาดเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งรัดดำเนินการเพิ่มขึ้น เช่น การจัดหาพื้นที่แสดงและจำหน่ายสินค้าในรูปแบบ digital market place โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งขับเคลื่อนการจัดงาน Northern Thailand Food Valley Expo ซึ่งเป็นงานมาตรฐานสากล เน้นการเจรจาธุรกิจ การเชื่อมโยงและการร่วมทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5,000 ล้านบาท ภายในระยะ 5 ปี เป็นแนวทางการพัฒนาก้าวต่อไปที่ยั่งยืน (sustainability step) ในแบบฉบับของ Northern Thailand Food Valley ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเหนือในอนาคต