“เชียงใหม่” เป้า5ปี ขึ้นแท่น “ฮับเมืองกาแฟ” ตลาดเติบโต3พันล้าน ดีมานด์อราบิก้าพุ่งหมื่นตัน !

จังหวัดเชียงใหม่เร่งดันยุทธศาสตร์เมืองกาแฟ มุ่งเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการผลิต-บริโภคกาแฟคุณภาพดีเยี่ยม ตั้งเป้าภายใน 5 ปีขึ้นแท่น “ฮับเมืองกาแฟ” เจาะกลุ่มนิชมาร์เก็ต ชี้ตลาดเติบโตไม่หยุด ร้านกาแฟผุดพรึ่บกว่า 1,000 แห่ง มูลค่าตลาดแตะ 3 พันล้านบาท เผยดีมานด์อราบิก้าพุ่งกว่า 9 พันตันต่อปี แต่ผลิตป้อนได้เพียง 3.8 พันตัน/ปี เตรียมพัฒนาแหล่งปลูก 19 อำเภอ เพิ่มผลผลิต 20% ปั้นอราบิก้าเกรดพรีเมี่ยม

เชียงใหม่ ปักธงเมืองแห่งกาแฟ

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่มีนโยบายส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองแห่งกาแฟ ด้วยศักยภาพที่เป็นจังหวัดต้นน้ำและมีสภาพภูมิอากาศดี บางพื้นที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 1,000 เมตร จึงเหมาะสำหรับเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างยุทธศาสตร์กาแฟจังหวัดเชียงใหม่ปี 2561-2565 ภายใต้ 5 กลยุทธ์สำคัญ คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 2.พัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม 3.พัฒนาด้านการตลาด 4.การวิจัยและพัฒนา และกลยุทธ์ 5.การบริหารจัดการ ทั้งนี้ตั้งเป้าภายในระยะเวลา 5 ปี จังหวัดเชียงใหม่จะก้าวสู่การเป็นเมืองแห่งกาแฟ

สำหรับประเด็นสำคัญของยุทธศาสตร์เมืองแห่งกาแฟของจังหวัดเชียงใหม่ คือต้องขับเคลื่อนให้เป็นเมืองกาแฟตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการปลูกกาแฟบนพื้นที่สูงส่งผลให้เกษตรกรไม่เผาทำลายป่า เพราะต้องดูแลรักษาต้นกาแฟให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพ ขณะที่ด้านการตลาดก็พบว่ากาแฟยังมีความต้องการสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“หัวใจหลักคือ การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตและการบริโภคกาแฟคุณภาพดีเยี่ยม เมื่อตลาดมีความต้องการกาแฟมากขึ้น มูลค่าตลาดก็จะสูงขึ้น และเมื่อเกษตรกรมีการพัฒนาคุณภาพทุกขั้นตอน ก็จะทำให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในชุมชน” นายปวิณกล่าว

ผลผลิตฤดูกาลนี้ 3.8 พันตัน

ด้านนายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกกาแฟ 19 อำเภอ จำนวน 20,144 ไร่ เป็นพื้นที่ให้ผลผลิตแล้วจำนวน 17,487 ไร่ และยังไม่ให้ผลผลิตจำนวน 2,657 ไร่ และคาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในปีการผลิต 2559/2560 จำนวน 3,848 ตัน มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่จำนวน 220 กิโลกรัมต่อไร่ โดยอำเภอที่มีการปลูกมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ดอยสะเก็ด 7,414 ไร่ รองลงมาคือแม่แตง 2,317 ไร่ และแม่แจ่ม 1,340 ไร่

ทั้งนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ได้เร่งส่งเสริมการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพ บูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ โครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และภาคเอกชน เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตและการตลาด ให้เชียงใหม่เป็นผู้นำการผลิตและศูนย์กลางการค้ากาแฟอราบิก้าคุณภาพภายใต้มาตรฐานกาแฟเชียงใหม่ (LANNA COFFEE) โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟอราบิก้าอย่างน้อย 20%

ร้านกาแฟพรึ่บ 1,000 แห่ง

ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ นายกสมาคมกาแฟอราบิก้าไทยภาคเหนือ เปิดเผยว่า สถานการณ์ธุรกิจกาแฟของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชียงใหม่เมืองแห่งกาแฟ ต้องมีเป้าหมายชัดที่มุ่งผลิตกาแฟคุณภาพดีเยี่ยม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเริ่มจากกระบวนการเพาะปลูกในพื้นที่ระดับความสูงที่เหมาะสม การพัฒนาเทคโนโลยี-นวัตกรรมในการผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ทั้ง 19 อำเภอที่เป็นแหล่งปลูกสำคัญ โดยเฉพาะการอยู่ในพื้นที่ปลูกที่ต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันปริมาณความต้องการกาแฟอราบิก้าเพิ่มมากขึ้น แต่ผลผลิตที่มีในพื้นที่เชียงใหม่และในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยภาพรวมทั้งประเทศมีความต้องการบริโภคกาแฟอราบิก้าราว 30,000 ตันต่อปี โดยมีการนำเข้าจากประเทศลาว 3-4 หมื่นตันต่อปี นำเข้าจากเมียนมา 4-5 พันตันต่อปี ขณะที่ในอนาคตจะมีการนำเข้าจากจีน ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่เมืองสิบสองปันนาและซือเหมา มีการปลูกกาแฟอราบิก้าเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้การขยายพื้นที่ปลูกกาแฟของจังหวัดเชียงใหม่ ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้น ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ปลูกที่ขยายไม่ได้มากนัก กลยุทธ์สำคัญของยุทธศาสตร์เมืองแห่งกาแฟ ควรต้องมุ่งการผลิตกาแฟเชิงคุณภาพเป็นจุดขาย และเจาะตลาดกลุ่มเฉพาะ (niche market) มุ่งการสร้างมูลค่าสูงทางการตลาด

ขณะที่ในจังหวัดเชียงใหม่มีธุรกิจร้านกาแฟมากกว่า 1,000 แห่ง ทั้งที่เป็นร้านที่มีดีไซน์ มีบรรยากาศ และร้านริมถนน (street coffee) ซึ่งร้านกาแฟที่เกิดขึ้นจำนวนมากเพื่อรองรับการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ คาดว่าธุรกิจกาแฟของจังหวัดเชียงใหม่มีมูลค่าตลาดราว 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี

สร้าง value มากกว่า volume

นายจักริน วังวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รามิโน่ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตกาแฟอราบิก้า กล่าวว่า การผลิตกาแฟอราบิก้าของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยความต้องการใช้กาแฟอราบิก้าของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ราว 9,000 ตันต่อปี แต่ผลิตได้เพียง 3,800 ตันเท่านั้น จึงต้องมีการนำเข้าผลผลิตจากประเทศลาว เวียดนาม และเมียนมา

โดยเฉพาะในพื้นที่เขตตัวเมืองเชียงใหม่ คาดว่ามีร้านกาแฟ 400-500 แห่ง ไม่นับรวมร้านกาแฟริมถนน และถือว่าปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีบาริสต้าระดับโลกมากที่สุด

สำหรับการยกระดับเชียงใหม่เป็นเมืองแห่งกาแฟ จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพทั้งห่วงโซ่การผลิต ที่มุ่งสร้างมูลค่าสินค้าในระดับพรีเมี่ยม ตั้งแต่ต้นน้ำ (การปลูก) กลางน้ำ (การแปรรูป-การคั่ว) และปลายน้ำ (การตลาด) โดยแหล่งปลูกแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะพิเศษเฉพาะของกาแฟที่แตกต่างกัน บ่งบอกถึงความพิเศษของพื้นที่นั้นที่เป็นแหล่งปลูกเดียว