โต๊ะจีนขอรัฐเยียวยา โควิดพ่นพิษเจ้าภาพงานเลี้ยงแห่ยกเลิก

โต๊ะจีนอ่วม
อ่วมเหมือนกัน - ธุรกิจรับจัดโต๊ะจีนรายใหญ่ในจังหวัดนครปฐมกำลังเดือดร้อน เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการ "ระยะห่าง" 1 โต๊ะ นั่งได้ 4-5 คนเท่านั้น จากปกติเคยนั่งได้ 8-10 คน เจ้าภาพงานเลี้ยงบอกไม่คุ้มค่า ทำให้แห่เลิกจัดงานมากขึ้นเรื่อยๆ

ธุรกิจโต๊ะจีนอ่วมหนักหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ผู้ประกอบการชมรมธุรกิจโต๊ะจีนจังหวัดนครปฐมกว่า 228 ราย หนี้ท่วมเพียบ ร้องรัฐขอเยียวยา แหล่งเงินกู้ยังถูกลอยแพพนักงานต้องประคองตัวเองให้รอด “ดีเจโต๊ะจีน” สระบุรี ชี้ถูกยกเลิกจัดงานเหตุข้อจำกัด 4-5 คนต่อโต๊ะ เจ้าภาพไม่คุ้มค่าจ้าง เผยเงินออมก้อนสุดท้ายหมด ไม่รู้ธุรกิจจะไปต่ออย่างไร

นายประพฤติ อรรฆธน ประธานชมรมธุรกิจโต๊ะจีนจังหวัดนครปฐม และเจ้าของธุรกิจโต๊ะจีนยุทธพงษ์โภชนา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ผู้ประกอบการธุรกิจโต๊ะจีนเริ่มมีโอกาสรับงานบ้าง สำหรับนครปฐมสามารถรับจัดเลี้ยงได้ แต่เป็นงานขนาดเล็ก 10-20 โต๊ะ ต้องจัดแบบ new normal โดยการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด เฉลี่ยราคาไม่เกิน 3-4 หมื่นบาทต่องาน ประมาณ 3-4 งานต่อเดือน หรือไม่มีงานเลย เทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 มีงานใหญ่งานเล็กประมาณ 10 งานต่อเดือนและขณะนี้ได้ผ่านช่วงไฮซีซั่นของโต๊ะจีนไปแล้ว ธุรกิจโต๊ะจีนจึงกลับมายังไม่ถึง 10%

“เรายังคงอยู่อย่างยากลำบากมากครับเวลานี้ หลังโควิดจนถึงตอนนี้ผู้ประกอบการบางรายยังไม่มีงานเข้ามาเลยแม้แต่งานเดียว จาก 228 รายในนครปฐมศักยภาพของผู้ประกอบการแต่ละรายก็ไม่เท่ากัน กลุ่มลูกค้าต่างกัน เราไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปช่วยพนักงาน เพราะแม้แต่ตัวผู้ประกอบการเองยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลเลย” นายประพฤติกล่าว

“เราขอเงินเยียวยาจากรัฐบาลไปรายละ 10,000 บาทปรากฏว่ายังไม่ได้รับการเยียวยาและยังคงความเดือดร้อนอยู่ แถมยังต้องมาเสียภาษีในจำนวนเท่าเดิมไม่มี ลดหย่อนลงเลย”

สำหรับแนวทางที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยในขณะนี้ คือ การจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพราะสามารถนำมาผ่อนปรนภาระหนี้สินที่มีอยู่ได้ ช่วยเหลือให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโต๊ะจีนดำเนินอาชีพต่อไปได้ เพราะแต่ละรายหากไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ส่งผลกระทบต่อลูกน้องอีกหลายคน รวมถึงสามารถปรับปรุงกิจการที่เสียหายในช่วงหยุดยาวจากการถูกล็อกดาวน์ไปได้

ทางสมาคมได้ประสานงานกับทางรัฐบาลและได้รับอนุเคราะห์จากธนาคารเพื่อขอกู้เงินในอัตราดอกเบี้ย 1% หรืออัตราดอกเบี้ยในราคาถูกกำหนดระยะคืน 7 ปี แต่ยื่นเรื่องไปแล้วจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้เงินกู้มา การดำเนินการทุกอย่างมีความล่าช้า ผู้ประกอบการต้องช่วยประคองตัวเองเพื่อให้รอดเพียงอย่างเดียว

นายประพฤติกล่าวต่อไปว่า ปกติการทำธุรกิจโต๊ะจีนผู้ประกอบการจะซื้อวัตถุดิบจากยี่ปั๊วหรือพ่อค้าคนกลางหลายราย โดยทำสัญญาซื้อล่วงหน้า ไม่จ่ายเงินสด ยี่ปั๊วหรือพ่อค้าคนกลางจะให้เครดิตระยะเวลา 10-15 วันแล้วแต่ข้อตกลง เมื่อจัดงานเสร็จแล้วค่อยนำเงินมาจ่าย

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 งานถูกยกเลิก ตอนนี้ผู้ประกอบการหลายรายไม่มีเงินจ่ายหนี้คืนเพราะถูกยกเลิกจัดงานจากการล็อกดาวน์กะทันหัน คาดว่าน่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 50% ของผู้ประกอบการทั้งหมดกว่า 228 รายในนครปฐม

“มีผู้ประกอบการบางรายซื้อวัตถุดิบในห้างสรรพสินค้าด้วยเงินสด และซื้อของตามออร์เดอร์ก็ประสบกับภาวะขาดทุน หลายรายจำเป็นต้องลอยแพทีมงานและพนักงานของตนเองโดยไม่มีเงินเยียวยา เช่น พนักงานเสิร์ฟ ทีมงานในครัว ส่วนสินค้าหรือวัตถุดิบที่เอามาแล้วบางอย่างเสียหายหมด ของกินบางอย่างพอเปิดฝาใช้ไม่หมดพอผ่านไปกว่า 3 เดือนก็ใช้ไม่ได้แล้ว” นายประพฤติกล่าว

นางฉวีวรรณ ชมะโชติ เจ้าของดีเจโต๊ะจีน จ.สระบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้การจัดโต๊ะจีนยังถูกจำกัด จัดได้ไม่เกิน 30 โต๊ะ จำนวนผู้ร่วมงานสามารถนั่งได้เพียง 4-5 คนต่อโต๊ะ ทำให้เจ้าภาพผู้จัดงานแบกภาระไม่ค่อยไหวยกตัวอย่าง โต๊ะจีน 1 โต๊ะ มีค่าใช้จ่าย 1,500 บาท แต่ให้แขกนั่งได้เพียง 4 คน ฉะนั้น ดีเจโต๊ะจีนที่รับงานไว้ 60-80 โต๊ะก็ถูกยกเลิกไป

แม้จะมีทุนสำรองเตรียมจัดงานแบบงานต่องาน นางฉวีวรรณระบุว่า ทุนก็เริ่มร่อยหรอเพราะการหยุดกิจการตามนโยบายของภาครัฐในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่การเตรียมจัดงานในแต่ละครั้งลูกทีมก็มีการขอเบิกเงินล่วงหน้า เพราะทุกคนมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เมื่องานถูกเลื่อนออกไปหรือถูกยกเลิกเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ เงินที่จ่ายค่าแรงลูกทีมไปก็ไม่สามารถเอาคืนได้

“2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย แม้จะมีการปลดล็อกมาตรการแล้วก็ตาม แถมยังมีการเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าเดิมไม่มีการลดหย่อนจนบอกได้เลยว่าช่วงนี้ไม่โอเคเลย อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือทุกทาง หากจำกัดการจัดงานแบบนี้ต่อไปคงไม่มีเจ้าภาพที่ไหนอยากจัดงาน นอกจากสถานที่จัดงานไม่พอแล้ว ก็คงไม่มีใครมาจ้างโต๊ะจีน ในมุมของเจ้าภาพก็ขาดทุนเหมือนกัน” นางฉวีวรรณกล่าว

“สำหรับผู้ประกอบการ ถ้าเงินเก็บออมที่มีสะสมไว้หมดแล้วก็ไม่รู้จะเป็นยังไงต่อไป จะหันหน้าไปพูดกับใครอย่างไร”