เอสเอ็มอีใต้วอนรัฐผ่อนปรนเงื่อนไขเข้าถึงซอฟต์โลน

ซอฟต์โลน

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยวภาคใต้ชี้เข้าไม่ถึงสินเชื่อฟื้นฟู “ซอฟต์โลน” ดอกเบี้ย 5% วงเงิน 2.5 แสนล้านบาทของแบงก์ชาติ วอนรัฐบาลให้แบงก์พาณิชย์ผ่อนปรนเงื่อนไขการพิจารณา หลังเจอพิษโควิดกระหน่ำลูกค้าเงียบสนิท

นายจรูญ แก้ววจีทรัพย์ ผู้จัดการ บริษัท หาดทองการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมหาดทองรีสอร์ต อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพัทลุง จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ธุรกิจในกลุ่มบริการและธุรกิจการท่องเที่ยวโรงแรม บริษัททัวร์ ห้องอาหาร ฯลฯ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ถือว่าหนักที่สุด

นับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2564 เป็นต้นมาธุรกิจของกลุ่มเหลือเป็น 0 บริษัทจำเป็นต้องให้พนักงานหยุดพัก และจัดเวลาสลับกันทำงาน โดยโรงแรมไม่สามารถปิดได้ และยังต้องจ่ายค่าไฟฟ้า น้ำ ภาษี ฯลฯ และยังไม่มีทางออกในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

“อยากฝากไปถึงรัฐบาล ทำอย่างไรที่จะมีทางออกให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจไปได้เศรษฐกิจต้องเดินไปควบคู่กับมาตรการป้องกันโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะมาตรการด้านการเงินของรัฐบาล

ต้องดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาตอนนี้จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางส่วนที่สามารถเข้าถึง และบางส่วนไม่สามารถเข้าถึง

เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมา ธนาคารพาณิชย์มีเงื่อนไขพิจารณาเรื่องของสเตตเมนต์ รายได้ และข้อมูลการดำเนินกิจการอีกหลายอย่าง ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายไม่ผ่านการพิจารณา

ดังนั้น ทำอย่างไรจะให้สถาบันการเงินมาหารือพูดคุยกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่ต้องปิดกิจการ แบงก์ต้องยอมปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว

เพื่อให้มีเงินไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าพนักงานในระดับหนึ่ง เป็นต้น ถ้าผู้ประกอบการเดินหน้าต่อไปได้ เกิดการจ้างแรงงาน เศรษฐกิจก็เดินไปด้วยกันกับโควิด-19 ได้” นายจรูญกล่าว

นายจรูญกล่าวต่อไปว่า ยกตัวอย่างคนที่เคยกู้เงินธนาคารมาแล้ว จำนวน 30 ล้านบาท และผ่อนชำระต้นพร้อมดอกเบี้ยไปแล้ว 10 ล้านบาท ยังคงเหลือเงินอีก 20 ล้านบาท

จึงอยากกู้ต่ออีก 10 ล้านบาท เพื่อให้เติมเต็มเป็น 30 ล้านบาทเหมือนเดิม โดยหลักทรัพย์ค้ำประกันยังเหมือนเดิมไม่ต้องดำเนินการใหม่ เป็นเวลา 5 ปี โดย ธปท.เป็นผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้เป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการเดินต่อไปได้ไม่ต้องปิดกิจการ

อนึ่ง มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน250,000 ล้านบาทของ ธปท. มุ่งเน้นให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องดังกล่าวแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ

แต่ยังมีศักยภาพ ซึ่งได้ปรับปรุงข้อจำกัดจากมาตรการครั้งที่แล้ว โดยขยายขอบเขตลูกหนี้ให้ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายเดิมและลูกหนี้รายใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

พร้อมกับรองรับการฟื้นตัวที่ต้องใช้เวลา ด้วยการปรับเพิ่มวงเงินกู้ให้สูงขึ้น ขยายระยะผ่อนชำระให้ยาวขึ้น และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการยิ่งขึ้น นอกจากนั้น

ภาครัฐยังสนับสนุนกลไกการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ ธปท.สนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงิน เพื่อให้เกิดการส่งผ่านสภาพคล่องไปยังกลุ่มเป้าหมาย

โดยลูกหนี้เก่าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท และลูกหนี้ใหม่ที่ไม่เคยกู้เงินจากสถาบันการเงินที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยลูกหนี้เก่าให้กู้เพิ่มได้ 30% ของวงเงินสินเชื่อต่อราย ระยะเวลากู้ได้ 5 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 5% ต่อปี และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามารับประกัน 40% ของสินเชื่อรวม 10 ปี