“ธนัช” เปิดธุรกิจ Platform ONE Move พลิกโฉมรถโดยสาร 1,000 คัน

เรียกได้ว่าเป็นการพลิกโฉมธุรกิจจากผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ก้าวเข้าสู่การให้บริการ platform ด้านการดูแลฟลีตรถและการขนส่งผู้โดยสาร โดย “ธนัช เงินประเสริฐศรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนัชวิชญ์ แทรเวล

และสมาชิก YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce : YEC) กทม. ได้ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขันระดับประเทศ ในโครงการ YEC Pitching ปี 6 ซึ่งจัดขึ้นในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“นายธนัช” เล่าว่า ที่ผ่านมามีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YECBK (Young Entrepreneur Chamber of Commerce Bangkok) รุ่น 4 ทำให้ได้รู้จัก YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) ซึ่งโครงการ YEC Pitching มีจัดขึ้นทุกปี

โดยที่ผ่านมาเคยสมัครเข้าร่วมโครงการ YEC Pitching ปี 5 ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เข้ามา และเมื่อมีการจัดโครงการ YEC Pitching ปี 6 ได้มีการสมัครเข้าร่วมอีกครั้ง ซึ่งได้รับความรู้หลาย ๆ อย่าง นำไปต่อยอดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ และทำให้เราเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

Advertisment

เดิมทีเราเป็นบริษัทผู้ให้บริการรถโดยสารมากว่า 17 ปี ทำให้ทราบถึงปัญหาของผู้ประกอบการในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งการให้บริการรถโดยสารถือว่ามีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้โดยสารค่อนข้างมาก มีข่าวค่อนข้างบ่อยเกี่ยวกับอุบัติเหตุ

อาทิ เบรกแตก รถพลิกคว่ำ ไฟไหม้ และประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีอุบัติเหตุทางท้องถนน ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้คิดและหาวิธีแก้ไขในเรื่องนี้ จึงได้มีการจัดโครงการ

“ผู้จัดการความปลอดภัยด้านการขนส่งทางถนน (Transport Safety Manager)” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมและกำกับให้ผู้ประกอบการรถโดยสารและรถบรรทุกในประเทศไทย มีระบบการบริหารจัดการ และการตรวจสอบความปลอดภัยด้านการขนส่งทางถนน

“หากให้กรมการขนส่งฯคิดคนเดียว จะคิดในแง่ตัวกฎหมายโดยเนื้องานกลุ่มรถบัส หรือกลุ่มรถขนาดเล็ก ผู้โดยสารไม่เกิน 20 คน หรือรถขนาดกลางผู้โดยสารไม่เกิน 50 คน เราเชื่อว่าไม่สามารถส่งมอบคุณภาพความปลอดภัยได้ตามความคาดหวังของผู้โดยสาร

Advertisment

และตามกฎหมายที่ออกมาบังคับ ถ้าหากไม่มีเครื่องมือมาช่วย ซึ่งเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยต้องเป็น platform ที่ทำได้ง่าย ทางผู้ประกอบการไม่ต้องไปคิดแพลตฟอร์มเอง ไม่ต้องลงทุนเขียนซอฟต์แวร์เอง ซึ่งตามท้องตลาดยังไม่มีซอฟต์แวร์แบบสำเร็จรูปให้ผู้ประกอบการได้ใช้”

จึงได้แนวคิดการทำโครงการ One Move ERP หรือ Platfrom ONE Move เป็นการให้บริการดูแลฟลีตรถและการขนส่งผู้โดยสาร รวมทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งผู้โดยสาร อาทิ การจองรถ การรับงาน การวางแผนขนส่ง ควบคุมการขนส่งรถ จัดรถ จัดคน ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า

รวมถึงการซ่อมบำรุง ประวัติการซ่อม การตรวจแอลกอฮอล์สารเสพติด นอกจากนี้ยังสามารถเก็บสะสมข้อมูลเป็นบิ๊กดาต้าที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนได้ รวมถึงเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการรีเช็กข้อมูลย้อนกลับได้อีกด้วย

ตอนนี้บริษัทกำลังผันตัวมาเป็นผู้ให้บริการ platform ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ใช้งบฯลงทุน 3 ล้านบาท โดยแพลตฟอร์มจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

คือ แอปพลิเคชั่นสำหรับลูกค้า แอปพลิเคชั่นสำหรับเจ้าของรถหรือผู้ดูแลฟลีตรถ แอปพลิเคชั่นสำหรับพนักงานขับรถ โดยสามารถติดตาม หรือ tracking โดยไม่เขียนเอกสารรายงาน ที่ผ่านมาต้องเขียนใบรายงานซึ่งเอกสารค่อนข้างมาก

“ตัวแพลตฟอร์มเราทำอยู่ เชื่อว่าในต่างประเทศที่มีความเจริญน่าจะมีใช้อยู่แล้ว แต่ราคาค่อนข้างสูง คนไทยไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในประเทศไทยถือว่าเป็นเจ้าแรก ๆที่เข้ามาทำ

โดยมีจุดเด่นเรื่องของแพลตฟอร์มที่สามารถใช้งานได้ง่าย ค่าใช้จ่ายในการให้บริการค่อนข้างถูก ถือเป็นศูนย์กลางการบริการตั้งแต่กระบวนการจองรถจนถึงการปิดงบประมาณ”

สำหรับแพลตฟอร์มปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 30% สามารถนำไปใช้กับรถโดยสารได้ทุกประเภท อาทิ รถบัส รถตู้รถสองแถว วินมอ’ไซค์ ที่ผ่านมาได้ทดลองใช้กับรถไปแล้วประมาณ 200 คันมีการเปิดใบงานประมาณ 4,000 ใบ

ซึ่งในการทดสอบยังคงพบปัญหาผู้ใช้บริการยังไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี อินโนเวชั่น แต่หลังจากที่ได้มีการเวิร์กช็อปไปหลายครั้งเริ่มดีมากขึ้น และคาดว่าแพลตฟอร์มจะเสร็จสมบูรณ์ 100% ภายในปลายปี 2565

โดยตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้มีรถโดยสารเข้ามาอยู่ในระบบประมาณ 500-1,000 คันโดยเฟสแรกอาจจะนำไปใช้กับรถตู้ รถบัส ที่ใช้เดินทางเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือการรับส่งพนักงานก่อน

“ช่วงแรกอาจจะต้องให้ทดลองใช้ฟรีไปก่อน เมื่อผู้ประกอบการเห็นข้อดีจึงกล้าตัดสินใจที่จะจ่ายค่าบริการรายเดือน โดยจะเก็บค่าใช้จ่ายเดือนละ 100 บาทต่อคัน ซึ่งก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด รถ 1 คันสามารถทำรายได้ประมาณ 200,000-300,000 บาทต่อเดือน

แม้กระทั่งปัจจุบันรถมีรายได้หลักหมื่นต่อคัน ค่าใช้จ่ายเดือนละ 100 บาทถือว่าคุ้มมาก ๆ ซึ่งจะทำให้เรามีรายได้ประมาณ 1,200,000 ต่อปี โดยปีที่ 3 ถึงจะเริ่มมีกำไร พอเป็นธุรกิจที่อยู่ในออนไลน์ ไม่จำกัดพื้นที่ ในอนาคตคาดว่าจะทำการบุกตลาดประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน

ซึ่งระบบโลจิสติกส์การขนส่งของประเทศไทยถือว่ามีความเจริญกว่าประเทศเพื่อนบ้านพอสมควร ซึ่งแพลตฟอร์ม ONE Move จะสามารถพัฒนาไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย”