สยามพิวรรธน์แชมป์ Global Destination ของไทย

สยามพิวรรธน์ครองแชมป์ Global Destination อันดับหนึ่งของไทย ประกาศยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนธุรกิจขานรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล พร้อมเตรียมทุ่มงบประมาณกว่า 1,000 ล้าน อัดฉีดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นให้ทะลุ 30 ล้านคน ในไตรมาส 4 ปีนี้

วันที่ 13 กันยายน 2566 นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวว่า สยามพิวรรธน์เป็นผู้นำในการพัฒนาจุดหมายปลายทางระดับโลก (Global Destinations) ที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายที่ครองความเป็นที่หนึ่งในใจผู้คนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกด้วยรางวัลชนะเลิศหลากหลายเวที อีกทั้งยังเป็นผู้ครองฐานลูกค้ากำลังซื้อสูงมากที่สุดในประเทศไทยตลอดมา

นางชฎาทิพ จูตระกูล

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์มีถึง 14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 46% จากปี 2565 โดยมียอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยที่ 8,500 บาท/คน/วัน เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่จะอำนวยความสะดวกและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเต็มที่แล้ว เชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้ประเทศไทยจะมียอดนักท่องเที่ยวถึง 30 ล้านคน และสยามพิวรรธน์จะทุ่มทุนจัดกิจกรรมในไตรมาสสุดท้ายทุกศูนย์การค้าด้วยงบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแม่เหล็กให้ผู้คนทั่วโลกอยากมาเยี่ยมชม

โดยการขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มสยามพิวรรธน์เพื่อขานรับนโยบายรัฐบาล ได้กำหนดยุทธศาสตร์ผ่าน 4 Strategic Pillars ดังนี้

1.ผู้นำการสร้างประสบการณ์ Shopping ยิ่งใหญ่เหนือความคาดหมาย เสริมแกร่งผู้นำในตลาด Luxury Retail ด้วยการผนึกกำลังกับ Luxury Brand  ร้านค้าผู้เช่า และพันธมิตรธุรกิจ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเตรียมเปิดร้าน Luxury Brands ใหม่เพิ่มเติมถึง 20 ร้านค้าในไตรมาส 4 ซึ่งหลายแบรนด์เป็นสาขาแรกในประเทศไทย อีกทั้งมีคิวจัด Pop-up Store และงานอีเวนต์ระดับโลก ร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ มากกว่า 40 แบรนด์ไปจนถึงสิ้นปี 2567 รวมทั้งบรรดาลักเซอรี่แบรนด์ทุกค่าย เตรียมขยายพื้นที่กว่าเท่าตัวให้เป็น Iconic Store ที่ใหญ่ที่สุดในสยามพารากอนและไอคอนสยามในปีหน้าอีกด้วย

2.ผู้นำการจัด World Class Event และการประชุมนานาชาติ โดยทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีกำลังซื้อสูงจากทั่วโลก

โดยใช้พื้นที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และทรู ไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ไอคอนสยาม เป็นสถานที่จัดงานอีเวนต์มาตรฐานระดับโลกหรือการประชุมนานาชาติ ซึ่งในปีนี้ได้รองรับงานสำคัญรวมกันกว่า 40 งาน และมีการจองใช้ในปี 2567 แล้วมากถึง 70% โดยสยามพิวรรธน์จะร่วมมือกับพันธมิตรใน Global Ecosystem ซึ่งประกอบด้วยพันธมิตรจากหลากหลายธุรกิจ ทั้งสายการบิน ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ภัตตาคาร เพื่อรองรับการจัดงานหลากหลายรูปแบบ ส่งเสริมธุรกิจ MICE และสนับสนุนประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการจัดประชุมนานาชาติของ S/E Asia

นอกจากนี้ สยามพิวรรธน์ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้จัดงานอีเวนต์รายใหญ่ของโลกรายหนึ่งที่จะมาร่วมลงทุนสร้างศูนย์ประชุมและการแสดงเพิ่มเติมอีกด้วย สำหรับในไตรมาส 4 ของปีนี้จะลงทุนจัดกิจกรรมระดับชาติครั้งยิ่งใหญ่ในทุกศูนย์การค้ารวมกันถึง 40 กิจกรรม ด้วยงบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะสื่อสารประชาสัมพันธ์ออกสื่อทั่วโลก จึงมั่นใจว่าจะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต้องการมาชมและสนุกสนานร่วมกัน

3.ผู้นำในการส่งเสริมศิลปะไทย ยกระดับกรุงเทพฯให้เป็นศูนย์กลางศิลปะระดับโลก โดยสยามพิวรรธน์ได้บุกเบิกและเป็นผู้ประกอบการที่สนับสนุนศิลปินไทยมาตลอดเวลากว่า 15 ปี เป็นรายแรกที่นำผลงานของศิลปินไทยมาจัดแสดงเป็น Public Arts ประจำในศูนย์การค้า และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ส่งเสริมความสามารถของศิลปินไทยตลอดมา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

ขณะเดียวกัน สยามพิวรรธน์เตรียมแผนเสนอรัฐบาลที่จะปั้นให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางของ S/E Asia ที่จะจัดงานศิลปะระดับโลกให้เกิดขึ้นเพื่อดึงดูดบุคคลในวงการศิลปะเข้ามาในประเทศไทย อาทิ งาน Art Basel และ Frieze เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บรรดาศิลปินไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานร่วมกับศิลปินระดับโลกด้วย โดยจะร่วมทำงานกับภาครัฐในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

ยิ่งไปกว่านั้น สยามพิวรรธน์มีนโยบายที่จะเปิดศูนย์ศิลปะริเวอร์มิวเซียม ชั้น 8 ไอคอนสยาม ในปี 2026 ด้วยพื้นที่ 8,000 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นมิวเซียมมาตรฐานโลกแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถรองรับงานศิลปะ master piece ระดับโลกได้ทัดเทียมกับมิวเซียมชั้นนำในประเทศต่าง ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะดึงดูดบุคคลสำคัญในวงการศิลปะและบรรดานักสะสมงานศิลปะจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทย นับว่าเป็นกลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพสูงกลุ่มใหม่ที่จะต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีในระยะยาว

4.ผู้นำในการปั้น Soft Power ของไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดสู่เวทีโลก ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่สยามพิวรรธน์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มแห่งโอกาสที่นำสุดยอดฝีมือในด้านต่าง ๆ ของไทย เพื่อนำเสนอ Soft Power ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น ดีไซเนอร์ และอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs และพ่อค้าแม่ค้าจาก 77 จังหวัด จำนวนกว่า 6,000 ราย มารวมตัวกันนำเสนออัตลักษณ์ไทยรูปแบบต่าง ๆ ผ่านเมืองสุขสยาม

ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมไม่ต่ำกว่าวันละ 70,000 คน และเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากใน Social Media ทั่วโลก นอกจากนี้ การสร้างแบรนด์สินค้าของคนไทยผ่านธุรกิจรีเทลของสยามพิวรรธน์ อันได้แก่ ICONCRAFT, ODS และ ECOTOPIA ก็สามารถขายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ ทั้งนี้ สยามพิวรรธน์พร้อมที่จะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งพันธมิตรระดับโลก ยกระดับ Soft Power ของคนไทยให้เป็นที่ชื่นชมบนเวทีโลกด้วยเช่นกัน

นางชฎาทิพย์ย้ำว่า สยามพิวรรธน์พร้อมที่จะผสานพลังทุกภาคส่วน สนับสนุนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ร่วมผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ทำให้ประเทศไทยครองแชมป์จุดหมายปลายทางของโลก ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ส่งผลครอบคลุมในวงกว้าง ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจ MICE และบริการที่จะได้ประโยชน์จากการมาเยือนของชาวต่างชาติ

“สยามพิวรรธน์จะเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง โดยเตรียมอัดงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในไตรมาส 4 นี้ และเตรียมจัดงบประมาณเพิ่มอีกเท่าตัวในปีหน้า เพื่อเดินเครื่องหนุนการท่องเที่ยวของไทยตามนโยบายของรัฐบาล โดยมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นจุดแข็งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม สร้างปรากฏการณ์ ปักหมุดให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางแรกที่ต้องมาเยือนสำหรับนักท่องเที่ยวและนักเดินทางจากทั่วโลก” นางชฎาทิพกล่าว

สยามพิวรรธน์