รออย่างสงบ…ลุ้นรัฐเยียวยา ไตรมาสแรก “ทีวีดิจิทัล” ขาดทุนไม่หยุด

เลือดไหลไม่หยุดสำหรับธุรกิจทีวีดิจิทัล สะท้อนจากผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ที่เรียกว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลแต่ละรายก็ออกอาการสาหัสไม่ต่างกัน ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา ถือว่าเป็นรายได้หลักของสื่อทีวี ก็ไม่เติบโตจากเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

4 เดือนแรกงบฯ โฆษณาลด 6%

จากรายงานการใช้งบฯ โฆษณาผ่านสื่อล่าสุดของบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า การใช้งบฯโฆษณาช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค-เม.ย. 61) เติบโตลดลง 6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือคิดเป็นมูลค่ารวม 33,321 ล้านบาท

หากเจาะเฉพาะสื่อทีวีก็พบว่ามีแนวโน้มการใช้งบฯ ที่ลดลง แบ่งเป็น ช่องเก่า 12,495 ล้านบาท ลดลง 17.58% เคเบิลทีวีดาวเทียม 793 ล้านบาท ลดลง 25.68% และช่องใหม่ 8,877 ล้านบาท โต 21.82%

ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีทำได้ขณะนี้ คือ การประคองตัว สร้างความอยู่รอด และรอสัญญาณบวกจากมาตรการเยียวยาของรัฐบาลที่จะประกาศอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ ทั้งการยืดอายุการชำระใบอนุญาต การสนับสนุนค่าโครงข่าย 50% เพื่อยืดลมหายใจให้เดินหน้าต่อ

รอสัญญาณ “ภาครัฐ” เยียวยา

แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัลวิเคราะห์ว่า ด้วยสถานการณ์ของธุรกิจสื่อที่เปลี่ยนไป ทำให้ทีวีต้องเผชิญกับหลาย ๆ มรสุม ทั้งการแข่งขันระหว่างช่องด้วยกันเอง การป้องกันส่วนแบ่งตลาดจากแพลตฟอร์มจากสื่ออื่น ๆ โดยออนไลน์ที่เข้ามาแย่งชิงความสนใจของผู้ชมจากหน้าจอทีวีไป

ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีก็เติบโตลดลงต่อเนื่อง เพราะลูกค้า (สินค้า) ลดการใช้งบฯโฆษณาลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ที่กระทบต่อเนื่องทั้งอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของรัฐบาลในการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งการยืดชำระใบอนุญาต การสนับสนุนค่าโครงข่าย ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะช่องเล็ก ๆ ให้มีสภาพคล่องมาดำเนินธุรกิจต่อ และหาคอนเทนต์ใหม่ ๆ มาเติม เพื่อดึงคนดูเพิ่มเรตติ้งให้แก่ช่อง

ตอนนี้จำนวนช่องมากเกินความต้องการของผู้ชมและอุตสาหกรรมโฆษณา คนซื้อโฆษณาก็ต้องเลือก เพราะตอนนี้เวลาโฆษณามีจำนวนมากและหลาย ๆ ช่องก็เหลือพื้นที่โฆษณาเยอะ ซึ่งหากเฉลี่ยแล้ว 1 ช่องสามารถโฆษณาได้ 240 นาที แต่มีถึง 22 ช่อง เท่ากับว่า ซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ซึ่งถ้าช่องยังมีจำนวนมากแบบนี้ ธุรกิจทีวีก็ยังคงต้องอยู่ในสถานการณ์ขาดทุนต่อไป”

ไตรมาส 1..ยังติดลบรอบทิศ

แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัลวิเคราะห์ต่อว่า หากมีมาตราการเยียวยาออกมาก็อาจจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาของทีวีดิจิทัลในระยะยาว แต่เป็นแค่การชะลอปัญหานี้ไว้เท่านั้น เพื่อยืดลมหายใจให้ผู้ประกอบการ เพราะปัญหาของธุรกิจนี้ คือ การมีจำนวนช่องที่มากเกินความต้องการของผู้ชม

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากผลประกอบการไตรมาส 1 ปีนี้ พบว่า หลายช่องที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังตกอยู่ในภาวะขาดทุนต่อเนื่อง จากการลงทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัลเริ่มตั้งแต่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือช่องอมรินทร์ทีวี มีรายได้รวม 513.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังคงขาดทุน 19.05 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 79.71 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจทีวีมีรายได้เติบโตขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเนื้อหาของรายการ ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้ชมมากขึ้น ส่งผลให้เรตติ้งของช่องอมรินทร์ทีวีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่กระแสบุพเพสันนิวาส ก็กู้รายได้ให้บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 33 เอชดี ช่อง 28 เอสดี และช่อง 13 แฟมิลี่ไม่ทัน โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมามีรายได้ 2,420.5 ล้านบาท ลดลง 18.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และขาดทุนอยู่ที่ 126 ล้านบาท นอกจากนี้มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม คือ การลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทของ “วรวรรธน์ มาลีนนท์” ลูกชายของ “ประวิทย์ มาลีนนท์” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา เท่ากับว่า ครอบครัวของประวิทย์ มาลีนนท์ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบีอีซีฯแล้ว

ตามด้วยบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่มีรายได้ 562 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขาดทุน 125 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากรายได้จากธุรกิจโทรทัศน์เติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่มีรายได้รวม 1,601 ล้านบาท ลดลง 22.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคงขาดทุนอยู่ที่ 38 ล้านบาทจากการขาดทุนต่อเนื่องของธุรกิจทีวีดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ทิศทางธุรกิจทีวีดิจิทัลของแกรมมี่ก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ช่องวัน 31 เตรียมเปิดตัวคอนเทนต์ใหม่ต่อเนื่อง ทั้งละครซิตคอม รายการวาไรตี้ เกมโชว์ใหม่ เช่น เดอะวอลล์กำแพงพลิกชีวิต สตาร์วอร์ส สงครามดวงดาว เป็นต้น เพื่อเพิ่มเรตติ้งอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขยายฐานผู้ชมในช่องทางออนไลน์ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มหลักเว็บไซต์ ONE 31 ตั้งเป้าหมายว่ารายได้จากช่องทางออนไลน์จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนช่องจีเอ็มเอ็ม 25 จะเดินหน้าสร้างช่องให้เติบโตตั้งเป้าขยายฐานผู้ชมเพิ่มขึ้น เน้นเจาะกลุ่มคนดูต่างจังหวัดที่มีไลฟ์สไตล์ทันสมัย ด้วยการสื่อสารผ่านกิจกรรม “จีเอ็มเอ็ม 25 มาหาแฟน”

ฟากเวิร์คพอยท์ทีวี กับโมโน 29 ยังเป็นช่องที่ยังสามารถสร้างผลกำไรได้ดีต่อเนื่อง โดยบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 885.06 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไร 165.60 ล้านบาท เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจทีวีจากช่องเวิร์คพอยท์ทีวี มีรายได้ 774.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนบริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือช่องโมโน 29 มีรายได้รวม 640.15 ล้านบาท ลดลง 1.10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน แต่ยังคงมีกำไร 19.47 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2560 เพราะมีรายได้จากสื่อโฆษณาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้โฆษณาของช่องโมโน 29 เพิ่มขึ้น จากเรตติ้งที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

สถานการณ์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลขณะนี้ยังต้องตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ต่อไป