ฟาสต์ฟู้ด-คาเฟ่ป่วน ปรับทัพรับเทรนด์…ลดพลาสติก

คอลัมน์ Market Move

ภาพถุงพลาสติกจำนวนมากรวมน้ำหนักกว่า 8 กิโลกรัม ที่ผ่าออกจากท้องวาฬนำร่องครีบสั้นซึ่งตายที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้สะท้อนถึงปัญหาขยะพลาสติกในทะเลที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วโลก ซึ่งเมื่อปี 2559 สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ประเมินว่าในปี 2593 จะมีขยะพลาสติกในทะเลมากกว่าปลาทุกชนิดรวมกัน กระตุ้นกระแสลดการใช้พลาสติกในตลาดหลัก ๆ ของโลก

โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งผู้บริโภคและหน่วยงานรัฐตื่นตัวในเรื่องนี้ จนเริ่มมีมาตรการแบนการใช้พลาสติก เช่น ร่าง กม.ฉบับใหม่ของคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ห้ามการใช้อุปกรณ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อาทิ ช้อน ส้อม มีดและจาน หลอดดื่มน้ำและอื่น ๆ รวม 10 รายการ และการห้ามใช้หลอดพลาสติกของเมืองแวนคูเวอร์ สหรัฐอเมริกา สกอตแลนด์ และไต้หวัน จนสร้างความเปลี่ยนแปลงและความวุ่นวายในวงการธุรกิจทั้งฝั่งร้านฟาสต์ฟู้ดและคาเฟ่ที่เป็นผู้ใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ ไปจนถึงฝั่งซัพพลายเออร์สินค้าทดแทนพลาสติก ซึ่งได้ออร์เดอร์พุ่งสูงจนผลิตไม่ทัน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงความเคลื่อนไหวของฟาสต์ฟู้ดแต่ละราย โดย “แมคโดนัลด์” เริ่มทดลองใช้หลอดดูดน้ำผลิตจากกระดาษในสาขาที่ประเทศเบลเยียม และสหราชอาณาจักร รวมถึงทดลองใช้แก้วและถ้วยกระเบื้องเสิร์ฟเครื่องดื่มร้อนในบางสาขาของเยอรมนี พร้อมกับเร่งหาอุปกรณ์ทดแทนพลาสติกอย่าง จานและช้อนส้อม รวมถึงก้านลูกโป่งซึ่งอยู่ในลิสต์ของคณะกรรมาธิการ

โฆษกหญิงของแมคโดนัลด์กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทดำเนินนโยบายลดขยะพลาสติกทั่วโลกที่กำลังดำเนินการอยู่ในหลากหลายรูปแบบอยู่แล้ว เช่น ให้ส่วนลด 10% สำหรับลูกค้าที่นำแก้วมาเอง รวมถึงร่วมโครงการ RECUP ที่เป็นการรียูสแก้วเครื่องดื่ม ดังนั้นหากร่าง กม.ฉบับใหม่นี้บังคับใช้จะกระทบเพียงเรื่องหลอดพลาสติกเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถหาหลอดที่ผลิตจากวัสดุอื่นในจำนวนมากและต้นทุนใกล้เคียงกันมาทดแทนได้

ไปในทิศทางเดียวกันกับ “ซับเวย์” ที่โฆษกของแบรนด์ระบุว่า กำลังเดินหน้าแผนปรับแพ็กเกจใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะพร้อมหันมาใช้วัสดุรีไซเคิลได้มากขึ้น ตามเป้าที่จะใช้วัสดุรีไซเคิล 100% ขณะเดียวกันก็จับตากระบวนการออก กม.ใหม่ฉบับนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อให้รับมือได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม “เบอร์เกอร์คิง” เชนฟาสต์ฟู้ดสัญชาติสหรัฐรายใหญ่อีกราย กลับยังคงไม่เปิดเผยแผนการใด ๆ ออกมา

ขณะเดียวกัน ฝั่งตลาดสหรัฐอเมริกานั้น นอกจากเชนฟาสต์ฟู้ดแล้ว ยังมีอีกหลายธุรกิจและภาครัฐที่ตื่นตัวกับกระแสนี้ ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่ต่าง ๆ ที่ออก กม.ห้ามใช้หลอดพลาสติก และธุรกิจเอกชน เช่น “บอน แอพเพอไทน์ แมเนจเมนท์” (Bon Appetit Management) ฟู้ดเซอร์วิสที่ให้บริการกว่า 1,000 จุดทั่วสหรัฐ สายการบิน “อลาสกา” และบรรดาคาเฟ่อีกหลายแห่งทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม กระแสที่แพร่เร็วเหมือนไฟลามทุ่งนี้ สร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการรายกลางถึงเล็ก เนื่องจากสินค้าหลายรายการ เช่น หลอดดูดน้ำที่ทำจากกระดาษอยู่ในภาวะขาดตลาด จนอาจต้องสั่งล่วงหน้านานถึง 3 เดือน เพราะถูกแบรนด์ขนาดใหญ่กว้านซื้อไปจนหมด “ลอลา แครเวน” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของ อิมเพอเรียล เดท หนึ่งในผู้ผลิตหลอดดูดน้ำด้วยกระดาษรายใหญ่ของสหรัฐ มีฐานลูกค้ากว่า4 หมื่นราย ระบุว่าดีมานด์สินค้าเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากไตรมาสแรกของปีนี้ สูงกว่ากำลังผลิตสูงสุดของบริษัทไปมาก จนต้องให้ดิสทริบิวเตอร์รอสินค้าอย่างน้อย 2 เดือน และคาดว่าดีมานด์จะสูงขึ้นต่อเนื่องหลังจากหลายเมืองผ่าน กม.ห้ามใช้หลอดพลาสติก โดยเฉพาะจากเมืองริมทะเลและธุรกิจเรือสำราญ

สภาพนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กต้องหันไปใช้หลอดที่ทำจากวัสดุอื่นอย่าง โลหะหรือพลาสติก ที่ย่อยสลายได้แทน

จากนี้ต้องจับตาดูว่ากระแสลดการใช้พลาสติก ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ของธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับวงการ รวมถึงรอดูว่ากระแสนี้จะจุดติดในเมืองไทยด้วยหรือไม่