จีนหันใส่ใจสุขภาพ ดันฟิตเนสบูมสวนเศรษฐกิจ

MARKET MOVE

ช่วง 2-3 ปีมานี้นับเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสสำหรับธุรกิจจีน ซึ่งต้องเผชิญกับทั้งสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาและสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย อย่างไรก็ตาม ยังมีเซ็กเมนต์หนึ่งที่ยังคงเติบโตนั่นคือ ฟิตเนส รวมถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างแอปออกกำลังกายและชุดกีฬา ซึ่งได้รับเม็ดเงินจาก “กลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมืองรอง” ที่มีกำลังซื้อและสนใจสุขภาพ รวมถึงจับจ่ายกับสินค้า-บริการเหล่านี้มากกว่าปี 2561 อย่างเห็นได้ชัด สวนทางกับภาพรวมค้าปลีกที่เติบโตลดลงจาก 9% ในปีที่แล้ว เหลือ 8%

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานโดยอ้างผลวิจัยของบริษัทวิจัย “แมคคินซีย์” ซึ่งสำรวจผู้บริโภคชาวจีนกว่า 5,400 ราย จาก 44 เมือง ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 2562 ว่า ชาวจีนรุ่นใหม่อายุน้อยที่อาศัยในเมืองระดับรอง มีกำลังซื้อสูงขึ้นและมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาลงทุนกับสุขภาพของตนเองมากขึ้น เป็นผลจากค่าครองชีพที่ต่ำ รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่น้อยกว่าเมืองหลักอย่างปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ ทำให้คนกลุ่มนี้มีงบฯและเวลาเหลือพอที่จะมาใช้จ่ายกับสุขภาพ

โดยฟิตเนสในแดนมังกรกำลังเฟื่องฟูสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจ และกลายเป็นความหวังใหม่ของภาคธุรกิจ
แดนมังกร เนื่องจากกลุ่มคนเมืองรุ่นใหม่ทุ่มลงทุนกับสุขภาพของตนกันแบบเต็มที่ สะท้อนจากใน 10 อันดับสินค้าที่มีเม็ดเงินไหลเข้าไปมากขึ้น นั้นมีสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพถึง 4 กลุ่ม คือ นมสด, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว, โยเกิร์ตและสินค้ากีฬา แม้คนกลุ่มนี้จะมีจำนวนเพียง 25% ของผู้บริโภคจีนทั้งประเทศ แต่มีส่วนถึง 60% ในเม็ดเงินช็อปปิ้งที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2560-2561 ที่ผ่านมา

“เฟลิกซ์ โฟร์” หนึ่งในทีมงานวิจัยของแมคคินซีย์ กล่าวว่า แม้เทรนด์การใช้จ่ายกับสุขภาพจะเกิดขึ้นในหลายกลุ่มผู้บริโภคในประเทศจีน แต่กลุ่มรุ่นใหม่อายุน้อยที่อาศัยในเมืองระดับรองถือเป็นกลุ่มหลักที่ผลักดันเทรนด์นี้ และทำให้ดีมานด์สินค้าและบริการหลายประเภทพุ่งสูงขึ้น เช่น เทรนเนอร์ส่วนตัว, คลาสซุมบ้า และคลาสออกกำลังกายที่อิงกับเทรนด์จากต่างประเทศ

แน่นอนว่ากลุ่มธุรกิจและกลุ่มทุนทั้งในจีนและต่างประเทศเริ่มเห็นศักยภาพของคนกลุ่มนี้และปรับแนวทาง รวมถึงทุ่มลงทุนเพื่อชิงส่วนแบ่งเม็ดเงินด้วยเช่นกัน

เห็นได้จากยอดฟิตเนสเปิดใหม่ในช่วง 1-2 ปีนี้ที่คาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 3.7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ จากทั้งการขยายตัวของรายเก่าอย่าง “เดอะ วัน ฟิตเนส” ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2551 และขยายสาขาต่อเนื่องจนปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 60 สาขาในปักกิ่งและเทียนจิน

ในขณะที่กลุ่มทุนทั้ง “โกลด์แมน แซกส์” ทุนข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน และ “เทนเซ็นต์” เครือบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ต่างลงมาเป็นผู้ลงทุนรายหลักใน “คีพ” บริการขายคอร์สออกกำลังกายผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งเปิดตัวเมื่อ 5 ปี

และขณะนี้ครองอันดับ 3 ในแอปสโตร์ของจีน รวมถึงมีสาขาฟิตเนสของตนเองอีกด้วย เช่นเดียวกับกองทุนสัญชาติจีน “โฟซั่น อาร์ซี” และ “เจียนเชน สปอร์ต” ที่เป็นผู้ลงทุนหลักของ “ซูเปอร์มังกี้” เชนฟิตเนสจากเสิ่นเจิ้น ซึ่งมีจุดขายด้านความอินเทรนด์และการเปิดให้สมาชิกจองคลาสผ่านแอปแชตยอดฮิตอย่างวีแชต จนสามารถระดมทุนไปได้ถึง 410 ล้านหยวน

แม้แต่แบรนด์จากต่างชาติยังได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย เช่น “ลูลูเลม่อน” (Lululemon) แบรนด์ชุดกีฬาสัญชาติอเมริกัน เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 3 รายได้จากอีคอมเมิร์ซจีนพุ่งขึ้นถึง 60% จน “คาลวิน แมคโดนัลด์” ซีอีโอต้องประกาศแผนเพิ่มจำนวนสาขาในจีนขึ้นอีก 1 เท่าตัว ภายในช่วงไตรมาส 4 นี้

“ชาวจีนนับเป็นผู้บริโภคที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก ทำให้ตราบเท่าที่แบรนด์ยังสามารถนำเสนอสินค้า-บริการที่ตอบโจทย์และมูลค่าเหมาะสม ชาวจีนก็พร้อมที่จะจับจ่ายเสมอ” เฟลิกซ์ โฟร์ กล่าวทิ้งท้าย