“อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ฝ่าวิกฤตโควิด ลุย Plant-based Food

สัมภาษณ์

ในวิกฤตโควิด-19 หลายธุรกิจจำใจปิดกิจการ หรือเลิกจ้างพนักงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่บางธุรกิจสามารถปรับตัว ต่อสู้กับสถานการณ์นี้ด้วยกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่นอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังสร้างตำแหน่งงานเพิ่ม สวนทางกับตลาดภาพรวมอีกด้วย

“วี ฟู้ดส์” ผู้ผลิตน้ำนมข้าวโพด ข้าวโพดฝัก ฯลฯ ขายในเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อแบรนด์ “วี คอร์น” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถตั้งรับกับสถานการณ์โควิดได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการหันไปเพิ่มช่องทางขายใหม่อย่าง ดีลิเวอรี่ รวมถึงการเปิดรับสมัครงานเพิ่ม ทั้งหนุ่มสาววีฟาร์ม รวมถึงตัวแทนจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับคนที่ตกงาน หรือได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและทำการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์วี คอร์น และวี ฟาร์ม ถึงแนวคิด และมุมมองทางธุรกิจที่น่าสนใจ ทั้งกลยุทธ์ในการฝ่าวิกฤตระยะสั้น ไปจนถึงเป้าหมายระยะยาวที่จะสร้างแบรนด์คนไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

Q : หลายธุรกิจลดคน แต่เราจ้างคนเพิ่ม

Advertisment

เนื่องจาก วี ฟู้ดส์ สามารถปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว ก่อนโควิด-19 ช่องทางขายหลักของเราอยู่ที่โมเดิร์นเทรด เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นหลัก แต่พอเกิดโควิดก็หันมาเพิ่มช่องทางจำหน่ายแบบ “ดีลิเวอรี่” ซึ่งไม่นานนัก รัฐบาลก็ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลายธุรกิจต้องปิดกิจการกันชั่วคราว มีคนตกงาน หรือต้อง leave without pay จำนวนมาก จึงคิดโมเดลของหนุ่มสาววีฟาร์ม และตัวแทนจำหน่ายขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนดังกล่าวให้มีรายได้เสริมในช่วงนี้

ซึ่งช่องทางดีลิเวอรี่เองก็มีการเพิ่มเอสเคยูใหม่ ๆ เข้าไปอย่างต่อเนื่อง เช่น มันหวานญี่ปุ่น และชุดของนึ่งในเร็ว ๆ นี้ จากช่วงแรกที่มีแค่น้ำนมข้าวโพด และน้ำฟักทอง พร้อมกับจัดโปรโมชั่นราคาพิเศษ รวมถึงการเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ผ่านแอปพลิเคชั่น GET ไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

Q : สถานการณ์ของวี ฟู้ดส์ วันนี้เป็นอย่างไร

สินค้าของวี ฟู้ดส์ ยังคงขายดีในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดยอดขายตกลงไปพอสมควร ก็ต้องมารีโฟกัสใหม่ เน้นในพื้นที่ที่เราแข็งแรง หรือดีลิเวอรี่ และตัวแทนจำหน่าย ก็ช่วยในการเข้าถึงกลุ่มคนตามชุมชน หมู่บ้านได้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งผลตอบรับในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาของช่องทางนี้ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

Advertisment

ผมพยายามคุยกับทีมงานว่า เราต้องใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส มันไม่จำเป็นต้องบริษัทใหญ่ที่จะพร้อมอย่างเดียว จะเป็นบริษัทขนาดกลาง หรือเล็กที่ปรับตัวแล้วเข้าใจสถานการณ์ก็ได้

องค์กรของเรามีประมาณ 25 คน ได้หันมาใช้ OKR (objective and key results) ในการตั้งเป้าหมายและวัดผล พยายามเอาเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้ ดูดาต้า ดูคอนซูเมอร์อินไซต์ หรือให้คนที่เก่งในเรื่องเทรนด์โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วย แทนที่จะไปทำรีเสิร์ชแบบเดิม เพราะเราอยากจะเติบโต อยากมีความเป็นผู้ประกอบการที่มี DNA ของ innovation ที่สร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ

Q : เป็นการใช้นวัตกรรมในการฝ่าวิกฤต

ทุก ๆ ปี วี ฟู้ดส์ จะมีโปรดักต์ใหม่อย่างน้อย 3-5 รายการ อย่างล่าสุดก็เพิ่งออกสินค้าตัวใหม่ ส้มตำข้าวโพด V Corn สูตรตำมั่ว ในช่องทางเซเว่นอีเลฟเว่น และภายในไตรมาส 3 จะออกสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์ V Farm Local เป็นสินค้าที่ทำร่วมกับคนในชุมชน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ เอาสินค้าและบริการของเขาที่มีสตอรี่ มีจุดขาย มาพัฒนาร่วมกัน เป็นแคทิกอรี่ใหม่ที่เรายังไม่เคยทำ มีเชลฟ์ไลฟ์ที่นานกว่าสินค้าพาสเจอไรซ์ ซึ่งมีข้อจำกัดบางส่วน โดยเฉพาะเรื่องของช่องทางจำหน่าย ทำให้สินค้าตัวนี้สามารถกระจายไปยังตลาดที่กว้างขว้างมากขึ้น

จะเรียกว่าเป็นการเรียนรู้ จากโควิดก็ได้ ด้วยความที่สถานการณ์มันบังคับ ถ้ามองว่าวิกฤตเป็นโอกาสมันก็ต้องดิ้นรน และมองไปข้างหน้าว่าเราต้องปรับตัวแล้ว

และบริษัทยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ จากการเป็นองค์กรแบบ “IDE” (innovation driven enterprises) หรือผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างสรรค์ธุรกิจหรือสินค้าใหม่ ๆ ทำให้บริษัทได้ทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯที่ต้องการสนับสนุนเอสเอ็มอีแนวนี้ มีบริษัทที่ปรึกษามาช่วยดูว่า บริษัทจะใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างมูลค่า หรือต่อยอดสินค้าและบริการได้อย่างไร

วี ฟู้ดส์ จึงมาดูแพลตฟอร์มที่มีอยู่ และมาดูว่าเทรนด์อะไรที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกและไทย ซึ่งก็คือกระแสของอาหารแบบ “plant based meat” หรือเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืชเป็นหลัก ประมาณ 95% ที่ได้รับความนิยมสูงมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

Q : โอกาสของ Plant Based Meat ในไทย

สำหรับในไทย โดยพื้นฐานแล้วคนไทยส่วนหนึ่งกินเจ และกินมังสวิรัติอยู่แล้ว ซึ่งช่วงเทศกาลกินเจ เดือนตุลาคมของทุกปี ยอดขายโตขึ้นจากช่วงปกติ 30-40% ขณะเดียวกันกระแสของการกินมังสวิรัติ หรือวีแกน ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มีร้านอาหารย่านทองหล่อ อารีย์ สุขุมวิท ที่ขายอาหารแบบวีแกนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

plant based meat เองก็เป็นกระแสที่ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ คนรุ่นใหม่ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น รู้เทรนด์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกของคนที่รักสุขภาพ แต่ถ้าถามว่าวันนี้ตลาดมันมีมูลค่าเท่าไหร่ ผมยังไม่มีตัวเลข แต่เชื่อว่าจากการที่มันมีฟู้ดเทคที่เป็นสตาร์ตอัพในไทย หันมาทำโปรดักต์ในแคทิกอรี่นี้ ก็จะช่วยให้ตลาดนี้มีโอกาสโตได้มากขึ้นแน่นอน

จากการทำธุรกิจมาแล้ว 6 ปี เรามองว่าในอนาคตแทนที่วี ฟู้ดส์ จะเป็นบริษัทที่ขายข้าวโพด หรือขายอาหารสุขภาพ และกำลังวางแผนที่จะ transform บริษัทไปอีกสเตจ มีไดเร็กชั่นในการส่งเสริมเรื่อง plant based food ล่าสุดกำลังคุยกับบริษัทฟู้ดเทคสตาร์ตอัพที่ชื่อว่า More Meat ที่ทำสินค้า plant based meat ในไทย ซึ่งเขาสามารถเอามาทำเป็นวัตถุดิบสำหรับเมนูแบบร่วมสมัยได้เลย โดยบริษัทวางแผนว่าจะเปิดตัวโปรดักต์ที่ทำร่วมกัน “V Corn x More Meat” ในช่วงต้นเดือนนี้ โดยเอาสินค้าของมอร์มีทมาจับคู่กับสินค้าของวี คอร์น มาพรีเซนต์เมนูต่าง ๆ เช่น สปาเกตตี มอร์มีท วี คอร์น ฯลฯ มีการแชร์ช่องทางการจัดจำหน่าย แชร์การโปรโมตแบรนด์ด้วยกัน เพื่อให้เซ็กเตอร์นี้เติบโต โดยจะเริ่มโปรโมตในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ ๆ ต่อไป เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น

Q : มองเทรนด์ใหม่ ๆ จากอะไร

เวลาเราทำงานจะทำรีเสิร์ชกันตลอด เพื่อดูเรื่องของ consumer trend และ global food trend ตอนนี้เรากำลังดูเทรนด์ของอาหารในปี 2030 อยู่ บวกกับในวี ฟู้ดส์ มีหน่วยงานที่ชื่อ V Foods “LAB” ซึ่ง L คือ lifestyle ส่วน A คือ ASEAN และ B คือ business innovation แปลว่า ไม่ได้ทำแค่ R&D ทั่วไป แต่เป็นการวิจัยและพัฒนาที่ดูคอนซูเมอร์อินไซต์ ดูไลฟ์สไตล์ของคน ดูเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก และหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ

ตอนแรกวางแผนว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่เริ่มส่งออกสินค้า แต่พอเจอโควิดก็เลยชะลอเอาไว้ก่อน และมาโฟกัสสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดในประเทศแทน เมื่อก่อนสินค้าขายดีเมืองไทย ต้องไปขยายต่อที่เมืองนอก วันนี้และอนาคตมันอาจไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ขายดีเมืองไทยแล้วก็พยายามสร้างเครือข่ายสินค้าไทยให้เข้มแข็ง แล้วอนาคตค่อยดูกันอีกที มันจะไม่ใช่แค่ส่งออกเท่านั้น เพราะมันขึ้นอยู่กับราคาค่าเงินบาทซึ่งเสี่ยงสูงมาก คงออกไปในรูปแบบของการหาพาร์ตเนอร์ ทำทีละประเทศ แล้วพัฒนาร่วมกัน

Q : มองถึงการเป็น Regional Brand เลยไหม

วันนี้องค์กรของเรา อีกภายในไม่กี่ปีก็ใกล้ 10 ปี มันเข้มแข็งระดับหนึ่ง ทำให้สามารถเอาแบรนด์ไปทำตลาดร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีศักยภาพในต่างประเทศ แทนที่จะไปส่งออกเพียงอย่างเดียว เหมือนเป๊ปซี่ เลย์ เอามาขายที่เมืองไทย อีกหน่อยจะมีแบรนด์แบบวี ฟาร์ม เป็นรีจินอลแบรนด์ ที่บริษัทไปทำกับโลคอลพาร์ตเนอร์ในต่างประเทศ เหมือนที่เป๊ปซี่ทำกับประเทศไทย

ยุคนี้ผมว่าคนจะมีความคล้ายคลึงกันในระดับหนึ่งนะ โดยเฉพาะคนเมือง ซึ่งสินค้าเราโฟกัสคนเมืองเป็นหลัก คำว่า urban healthy lifestyle คือ คีย์เวิร์ด วิถีชีวิตของคนเมืองที่ใส่ใจสุขภาพ ทานของมีประโยชน์ ออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ โคราช หรือโซล โตเกียว ฮ่องกง เขาก็จะมีไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่คล้ายกัน และเวลาพูดถึงคนรุ่นใหม่ เราไม่ได้ดูเขาที่อายุนะ ต่อให้เป็นวัยรุ่น วัยทำงาน เจนเอ็กซ์ เจนวาย เบบี้บูม ผมเชื่อว่าไลฟ์สไตล์แบบนี้ เป็นไลฟ์สไตล์ของคนร่วมสมัย โดยเฉพาะหลังโควิด

และเรื่องนี้ยังเป็นความฝัน ความตั้งใจของผมเอง หลังจากที่กลับมาทำธุรกิจตอนอายุ 50 กว่า ว่าเราช่วยเหลือสังคมได้ในการทำธุรกิจ ส่งเสริมการเกษตร และสร้างแบรนด์ให้กับคนไทยในอนาคตด้วย

แม้ว่าโควิดอาจจะทำให้เป้าหมายบางอย่างต้องชะลอไปบ้าง เช่น การสเกลอัพของยอดขาย ที่หากไม่มีวิกฤตนี้เกิดขึ้น วี ฟู้ดส์ ตั้งใจเอาไว้ว่าจะมีการเติบโตในปีนี้ถึง 50% แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องยอมรับ และปรับแผนต่อไป โดยปีนี้หากได้สัก 10-20% ก็ถือว่าดีแล้ว

เชื่อว่าเมื่อโควิดจบลง เป้าหมายและไดเร็กชั่นที่ชัดเจนของวี ฟู้ดส์ จะขับเคลื่อนองค์กรนี้ในสปีดที่ต้องจับตาอย่างแน่นอน