“ตลาดกล้อง” พลิกเกมสู้ ยุบสาขา-บุกออนไลน์ แก้ยอดร่วง

ถึงวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่าโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ธุรกิจ รวมทั้งกล้องถ่ายรูปที่วันนี้ทั้งผู้ผลิตและจำหน่าย และช่องทางจำหน่ายที่ต้องปรับตัวทั้งในแง่ของสินค้าที่เน้นฟังก์ชั่นถ่ายวิดีโอมากกว่าภาพนิ่ง เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หรือช่องทางจำหน่ายที่ต้องหันไปพึ่งพาช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น และเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะดำเนินต่อไปในปี 2564 ด้วย

ตลาดหดเกือบ 50%

“วีระ เฉลียวปิยะสกุล” ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพตลาดกล้องปีนี้ว่า ภาพรวมของตลาดในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน) ตลาดกล้องปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยในแง่เม็ดเงินลดลงจาก 4.1 พันล้านบาท เหลือเพียง 2.29 พันล้านบาท เช่นเดียวกับจำนวนที่ลดลงจาก 1.24 แสนตัว เหลือ 6.53 หมื่นตัว หรือลดลงเกือบ 50% คาดว่าสิ้นปีตลาดจะมีมูลค่าประมาณ 3,220 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ถึง 43%

“ปีนี้ตลาดกล้องไม่มีไฮซีซั่น มีเพียงโลว์และเวรี่โลว์ซีซั่นเท่านั้น เพราะการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยสร้างไฮซีซั่นหายไป เช่นเดียวกับงานอีเวนต์ที่ต้องใช้กล้อง อาทิ กีฬา คอนเสิร์ต ฯลฯ ลดลง” วีระย้ำ

อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า การซื้อกล้องทางอีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมมากขึ้น โดยยอดขายช่วง 9 เดือนมาจากช่องทางนี้ถึง 20-30% เดิมที่มีสัดส่วนเพียง 10-15% ส่งผลให้ร้านค้าต่าง ๆ พากันลดจำนวนสาขาลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 หากไม่มีการระบาดรอบ 2 และการท่องเที่ยว-จัดอีเวนต์เริ่มกลับมาอาจทำให้ตลาดหดตัวเพียงประมาณ 25% ใกล้เคียงกับปีก่อน ๆ โดยเซ็กเมนต์ที่มาแรงจะเป็นกล้องฟูลเฟรมที่คาดว่าจะมีสัดส่วนเกิน 50% ของตลาด เนื่องจากราคาที่สามารถจับต้องง่าย

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ใช้กล้องชนิดนี้มีแนวโน้มจะซื้อเลนส์เพิ่มมากกว่ากล้องระดับอื่นจึงได้รับความสนใจจากค่ายกล้องและร้านค้า ส่วนอีคอมเมิร์ซจะเติบโตต่อเนื่อง และอาจมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 30-40% ของยอดขายในตลาด

3 ค่ายใหญ่ปรับตัวปลุกยอด

สำหรับแนวทางของนิคอน “วีระ” บอกว่า จากนี้ไปจะเพิ่มน้ำหนักการขายผ่านอีคอมเมิร์ซ และทำตลาดผ่านออนไลน์มากขึ้นตามเทรนด์ของตลาด โดยมีเป้าหมายจะขยายการเข้าถึงลูกค้าในจังหวัดระดับรอง นอกจากมหกรรม 11.11 ที่ผ่านมา เดือนธันวาคมก็จะมีแคมเปญแบรนด์เดย์ และงาน 12.12 ในเดือนธันวาคมตามมา

รวมถึงแคมเปญย่อยอื่น ๆ พร้อมเดินหน้านำกล้องฟูลเฟรมและเลนส์รุ่นใหม่ อาทิ แซด 6 ทู และแซด 7 ทู ที่มีจุดเด่นด้านฟังก์ชั่นถ่ายวิดีโอเข้าทำตลาดในช่วง 2 เดือนนี้ เชื่อว่าจะสามารถพยุงให้ยอดขายลดลงน้อยกว่าการหดตัวของตลาดได้

เป็นไปในทิศทางเดียวกับ “แคนนอน” ซึ่ง “รักษ์พงษ์ ชลัษเฐียร” ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์กล้องดิจิทัล บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญในการแข่งขันของตลาดกล้องจะเป็นเรื่องฟังก์ชั่นการถ่ายวิดีโอ ทั้งความง่ายและความหลากหลายในการใช้งาน เช่น ไลฟ์สดได้โดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์เสริม มีเลนส์ให้เลือกหลากหลาย เป็นต้น หลังการถ่ายวิดีโอกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงในกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่

พร้อมพัฒนาสินค้าทั้งกล้องมิเรอร์เลสแบบฟูลเฟรมและไม่ฟูลเฟรม เน้นความสะดวกและอุปกรณ์เสริมในการใช้งานด้านวิดีโอ โดยล่าสุดเปิดตัวกล้อง Eos M50 มาร์ค2 ซึ่งเป็นกล้องมิเรอร์เลสที่เน้นด้านความสะดวกของการไลฟ์สด พร้อมอุปกรณ์เสริมทั้งตั้งและไมโครโฟนเพื่อตอบโจทย์กลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา และนักสร้างคอนเทนต์

ขณะที่ “ฟูจิฟิล์ม” ก็มีความเคลื่อนไหวในการเตรียมรุกจับกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางไปจนถึงมืออาชีพหลังเห็นโอกาส จากความสนใจกล้องถ่ายภาพแบบจริงจัง “ซึโตมุ วาตะนาเบ้” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า ผู้ที่เคยใช้กล้องระดับเริ่มต้นหรือระดับกลาง จะเริ่มมองหากล้องที่มีสเป็กเทียบเท่ากับระดับมืออาชีพ เพราะต้องการคุณภาพของไฟล์ภาพ ฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ โดยได้เปิดตัว FUJIFILM X-S10 กล้องระดับมืออาชีพในราคาที่จับต้องได้มารองรับผู้ที่ผันตัวเองมาเป็นช่างภาพมืออาชีพ และกลุ่มสร้างคอนเทนต์วิดีโอที่กำลังเติบโต

ช่องทางปรับตัวรับมือ

ขณะที่ “มนัสชัย โสภากุล” กรรมการบริหาร บริษัท โฟโต้ไฟล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารเชนร้านกล้องโฟโต้ไฟล์ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้ยอดขายผ่านทางหน้าร้านของเชนต่าง ๆ น่าจะลดลงไปกว่า 50% และเมื่อรวมกับสภาพการหดตัวรุนแรงของตลาด จึงทำให้การมีสาขากลายเป็นความเสี่ยงโดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูง และทำให้เกือบทุกรายต้องลดสาขาลง

สำหรับโฟโต้ไฟล์เองการที่มีสาขาอยู่เพียง 11 สาขา และที่ผ่านมาได้ปิดลงไป 2 สาขา คือ พระราม 9 และเอ็มบาสซี (โชว์รูม) จึงถือว่าได้เปรียบกว่าผู้เล่นรายอื่น

ขณะเดียวกัน ก็ได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของออนไลน์อย่างเต็มที่ โดยเปิดทั้งออฟฟิเชียลสโตร์ของร้านโฟโต้ไฟล์ และเปิด-บริหารออฟฟิเชียลสโตร์ของแบรนด์สินค้า เช่น โกโปร ไซซ์ บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ประหยัดต้นทุนทั้งด้านค่าเช่าพื้นที่ บุคลากร รวมไปถึงงบฯการตลาด เพราะสามารถร่วมแคมเปญต่าง ๆ ของแพลตฟอร์มแทนการจัดเอง อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นโดยไม่ต้องมีสาขามาก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงโค้งท้ายนี้ยังมีสัญญาณบวกอยู่บ้าง ทั้งกล้อง-เลนส์รุ่นใหม่ระดับไฮเอนด์ของแต่ละค่ายที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงจุดมาช่วยสร้างดีมานด์ในกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อ นอกจากนี้ จากเหตุไฟไหม้โรงงานประกอบชิ้นส่วนในญี่ปุ่น ก็ทำให้สินค้าบางรุ่นขาดตลาดไปและอาจจะลากยาวไปถึงเดือนมกราคมปีหน้า

ส่งผลให้แต่ละร้านสามารถขายสินค้าในราคาปกติ ไม่ต้องทำโปรโมชั่นเพื่อจูงใจ“ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งบริษัทคาดว่าจะสามารถปิดปีด้วยตัวเลขติดลบน้อยกว่าที่คาดไว้ได้” ผู้บริหารบริษัทโฟโต้ไฟล์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากความเคลื่อนไหวของค่ายกล้องและช่องทางจำหน่ายดังกล่าว ล่าสุด “โอลิมปัส” หนึ่งในแบรนด์กล้องรายใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยในส่วนของธุรกิจกล้องดิจิทัล เลนส์ เครื่องบันทึกเสียง กล้องส่องทางไกล เคสถ่ายภาพใต้น้ำ และอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ของแบรนด์
โอลิมปัสในประเทศไทย ได้เปลี่ยนมือจากบริษัท โอลิมปัส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทลูกของโอลิมปัส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ไปอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท พิคคาซัส จำกัด บริษัทในเครือของบิ๊กคาเมร่า ที่จะเข้ามารับผิดชอบการทำตลาด การขายและบริการหลังการขายแทน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ คาดว่าจะเป็นผลต่อเนื่องของการที่โอลิมปัส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้เซ็นสัญญาโอนธุรกิจการถ่ายภาพไปให้กับกองทุนเจแปนอินดัสเทรียลพาร์ตเนอร์เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากธุรกิจกล้องขาดทุนต่อเนื่องนานหลายปี