สธ. หนุนฉีดวัคซีน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล เอื้อประชาชนเข้าเร็วขึ้น

นายแพทย์เศวตสรร นามวาท
นายแพทย์เศวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน

สธ. มีมติเห็นชอบฉีดวัคซีนโควิด รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ชี้เป็นปฏิบัติการเชิงรุก หนุนประชาชนเข้าถึงวัคซีนง่ายและครอบคลุมทุกกลุ่ม-ช่วงอายุ

วันที่ 15 สิงหาคม 2564 นายแพทย์เศวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์การติดเชื้อในไทยวันนี้ (15 ส.ค.) พบผู้ป่วย 21,882 ราย หายป่วยกลับบ้าน 21,106 ราย

ขณะที่ จำนวนผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ 5,615 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,172 ราย ส่วนเสียชีวิตวันนี้เพิ่มขึ้น 209 ราย สะสม 7,458 ราย คิดเป็น 0.85% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยของโลก ขณะที่ตัวเลขเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 อยู่ที่ 7,552 ราย คิดเป็น 0.83% ขณะที่ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 907,157 ราย

โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-14 ส.ค. 64 จากกองระบาดวิทยา พบว่ามีผู้เสียชีวิต 6,758 ราย ทั้งนี้ กลุ่มอายุ 60-69 ปี มี 24% อายุ 70 ปีขึ้นไป 42% โดยรวมอายุ 60 ปีขึ้นไปพบถึง 68%

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อทั่วโลก มีจำนวนติดเชื้อสะสม 207,446,049 ราย เสียชีวิต 4,365,961 ราย สหรัฐสูงสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูง 44,660 ราย รองลงมาคืออินเดีย พบติดเชื้อรายใหม่ 36,127 ราย

Advertisment

“แม้ขณะนี้ในหลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในวงกว้างจะยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่อัตราการป่วยหนักหรือเสียชีวิตค่อนข้างน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ”

ส่วนประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วรวม 23,476,869 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 17,879,206 ราย หรือคิดเป็น 24.8% ส่วนเข็มที่ 2 จำนวน 5,073,672 ราย หรือคิดเป็น 7% ซึ่งปัจจัยสำคัญในการควบคุมเชื้อและลดจำนวนผู้ป่วยหนัก ตลอดจนผู้เสียชีวิต ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีน

ดังนั้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด ได้มีการลงมติเห็นชอบแนวทางการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

รวมไปถึงการจัดบริการในรูปแบบหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ที่จะมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ออกไปให้บริการตามบ้าน ที่พัก หรือรถเคลื่อนที่ เป็นปฏิบัติการเชิงรุก นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์กู้ชีพ พร้อมดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย

Advertisment

ทั้งนี้ การนำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลมาฉีดวัคซีนโควิดนั้น มีเป้าหมายหลัก เพื่อให้ประชาชนลดการเดินทาง และเข้าถึงการฉีดวัคซีนได้ง่ายใกล้บ้าน และครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ หรือกลุ่มประชาชนทั่วไปในทุกช่วงอายุ ซึ่งการฉีดกลุ่มไหนก่อนจะขึ้นอยู่กับนโยบาย และดุลพินิจของผู้ดูแลในโซนนั้น ๆ ด้วย