ปรากฏการณ์ …พี่ตูน ฟีโนมีนอล นักการตลาด ตีโจทย์ ก้าวคนละก้าว

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

เมื่อพฤติกรรมไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคนี้ถูกเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยี ทำให้แนวทางการทำตลาดของนักการตลาดและสินค้าก็ต้องเปลี่ยนให้ทัน

“สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์” นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำตลาดยุคนี้ไม่ได้เรียบง่ายเหมือนในอดีต ขณะเดียวกันกลับซับซ้อนมากขึ้น เพราะพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคนี้ถูกเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่ขยายตัวขึ้น เท่ากับว่า แนวทางการทำตลาดของสินค้า และนักการตลาดก็ต้องเปลี่ยน ต้องตีโจทย์ให้แตกว่า ผู้บริโภคต้องการอะไร อยากได้อะไร

ขณะเดียวกัน ต้องไม่หลง ไม่ยึดติดอยู่กับแพลตฟอร์มของสื่อดิจิทัลที่เป็นเพียงเครื่องมือในการทำตลาดเท่านั้น

“สุพัตรา” กล่าวถึงเทรนด์การตลาดสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 ว่า มี 4 เทรนด์ใหญ่ ๆ ได้แก่ เปลี่ยนจากยุคเน้นคุณภาพสู่การสร้างประสบการณ์ของแบรนด์ โดยนักการตลาดต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ของแบรนด์ให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภค ผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้เกิดความผูกพันทางใจตั้งแต่ต้นจนจบ สร้างมูลค่าทางจิตใจในยุคที่การแข่งขันสูง

ตามด้วย purposeful business นักการตลาดต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกมีส่วนร่วมกับแบรนด์ แสดงถึงความจริงใจให้ผู้บริโภคเห็นและสัมผัสได้ ต่อด้วย reality marketing การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี นักการตลาดต้องไม่หลง หรือยึดติดกับเทคโนโลยีเหล่านี้ เพราะเป็นเพียงเครื่องมือในการทำตลาด การสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่นักการตลาดต้องพิจารณาว่าจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคได้อย่างไร เพื่อสร้างแบรนด์ได้อย่างยั่งยืน

สุดท้าย from individual to social ในยุคดิจิทัลต้องทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการผ่านโมเดล 5 A ได้แก่ Aware, Appeal, Ask, Act และ Advocate นั่นคือ แบรนด์ต้องทำให้ผู้บริโภครู้จัก จากนั้นต้องดึงดูดให้เกิดความสนใจ ให้เกิดการถามหาผ่านโซเชียลมีเดีย จึงจะเกิดการซื้อ และเมื่อเกิดการใช้ หากโดนใจก็จะกลายเป็นความภักดี นั่นคือการบอกต่อผ่านโลกออนไลน์

“สุพัตรา” ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการสื่อสารการตลาดในยุคดิจิทัล ที่ข้อมูลข่าวสารถูกแพร่ไปอย่างรวดเร็วจากทุกทิศทุกทาง ทั้งข้อมูลเชิงบวกและลบ แบรนด์ที่จะอยู่รอดได้ คือ แบรนด์ที่มีความจริงใจ ต้องเข้าใจผู้บริโภค และเป็นแบรนด์ที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน

ยกตัวอย่าง ปรากฏการณ์ “ตูน ฟีโนมีนอล” กับโครงการก้าวคนละก้าวที่ระดมทุนเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ของนักร้องคนดัง “ตูน บอดี้สแลม” กลายเป็นตัวอย่างที่ดีที่นักการตลาดต้องหยิบ ต้องจับมาวิเคราะห์ เพราะปรากฏการณ์ “ตูนฟีโนมีนอล” แสดงถึงแบรนด์ที่มีความจริงใจ มีตัวตน ผู้บริโภครู้สึกสัมผัสได้ และรับผิดชอบต่อสังคม จนเกิดเป็นอิมแพ็กต์บนโซเชียลมีเดีย

เรียกว่า ตูน บอดี้สแลม เป็นการสร้างแบรนด์ที่แสดงถึงความจริงใจที่สามารถส่งต่อไปถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ “ดั่งใจถวิล อนันตชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทจ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ให้ความสำคัญต่อการดูแลสังคมมากขึ้น สะท้อนจากแบรนด์ที่ทำตลาดลักษณะนี้ที่มีอยู่ทั่วโลก และเป็นแบรนด์ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคก็ยอมจ่ายแพงขึ้นเมื่อเทียบกับแบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์แบบอื่น ๆ

อย่างกรณีการวิ่งระดมทุนของ “ตูน บอดี้สแลม” ซึ่งผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศก็ให้ความสนใจและอยากมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้เอเยนซี่และแบรนด์เองก็ต้องพิจารณาว่าต้องปรับรูปแบบการทำตลาด การนำเสนอ เพื่อแสดงถึงความเป็นจริงทั้งผลลัพธ์จากการทำการตลาด หรือกิจกรรมเพื่อสังคมให้ได้ผลจริงและยั่งยืน เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้ในระยะยาว

เพราะวันนี้แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดไม่ใช่มีแค่ส่วนแบ่งทางการตลาด แต่ต้องมีส่วนแบ่งในหัวใจผู้บริโภคด้วย