ค่ายรถปูพรม “ไฮบริด” ดันยอดจดทะเบียนเดือนเมษายนทิ้งห่าง EV เท่าตัว

เปิดสถิติยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งเดือนเมษายน 2567 กลุ่มรถไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด แรง แซง EV เป็นเท่าตัว หลายสำนักวิจัยชี้ คนไทยชื่นชอบไฮบริดมากกว่า EV 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ประจำเดือนเมษายน 2567 จากเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก มีจำนวน 39,697 คัน (ลดลงจากเดือนมีนาคมปีเดียวกันเกือบ 20% ซึ่งทำได้  47,186 คัน) โดยแบ่งเป็นรถ EV 4,009 คัน, รถไฮบริด 10,353 คัน ปลั๊ก-อิน ไฮบริด 639 คัน และรถใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ 24,696 คัน ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มรถไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งใช้ทั้งเครื่องยนต์สัปดาปภายในผสมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ได้รับความนิยมมากกว่ารถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% (EV) กว่าเท่าตัว เป็นไปตามเทรนด์ของตลาดโลก ที่ความนิยมของรถ EV ลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้เซ็กเมนต์ไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด ได้รับความนิยมมากขึ้น เป็นเพราะค่ายรถมีการนำเสนอรถยนต์ในกลุ่มนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์โตโยต้า ฮอนด้า มีกลุ่มไฮบริดเกือบทุกรุ่นให้เลือก ขณะที่มิตซูบิชิก็นำเสนอเทคโนโลยีไฮบริดในรถกลุ่มครอบครัวเช่นเดียวกับซูซูกิ ส่วนนิสสัน มีนิสสัน คิกส์ ที่ใช้เทคโนโลยีอีพาวเวอร์เป็นหัวหอกสำคัญ หรือแม้กระทั่งรถจีนตอนนี้เกือบทุกแบรนด์ก็พยายามแทรกตลาดด้วยรถยนต์ในกลุ่มไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด นอกจากนี้ยังได้แรงเหวี่ยงจากสงครามราคาในกลุ่มรถ EV ด้วยกันเอง

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เคยระบุว่า รถไฮบริดในประเทศไทยยังเป็นตลาดที่มีความสำคัญ โตโยต้ามองว่าสัดส่วนยอดขายรถ EV ในประเทศไทยอยู่ที่ 10% ในขณะที่รถไฮบริดมีสัดส่วนสูงกว่า อยู่ที่ 12-15%

ก่อนหน้านี้ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า ปัจจุบันยอดขายรถ EV เริ่มชะลอตัวลงทั่วโลก แต่ยอดขาย “รถไฮบริด” กลับขยายตัวได้มากขึ้น สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี

Advertisment

ส่วนในประเทศไทยนโยบายสนับสนุน EV ในปัจจุบันเอื้อต่อการเน้นการนำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาประกอบภายในประเทศมากกว่า ส่งผลให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยได้รับจากการผลิต EV ลดลงมากกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน และอนาคตหากต้องการที่จะรักษาความเป็นผู้นำในภาคยานยนต์ไว้ และอาจจำเป็นต้องมีการทบทวนมาตรการด้านการให้เงินอุดหนุน EV เพื่อลดการบิดเบือนโครงสร้างและราคาในตลาดรถยนต์

รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการกำหนดและตรวจวัดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content Ratio) เพื่อซื้อเวลาในระยะสั้น และสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยให้ยังคงได้รับประโยชน์และมีเวลาปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในระยะยาว

เช่นเดียวกับดิฟเฟอเรนเชียล ประจำประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยการตลาด ทำแบบสำรวจจากคนไทย จำนวนกว่า 2,500 ราย ถึงแนวโน้มพฤติกรรมการเลือกซื้อรถยนต์คันใหม่ในปี 2567 พบว่ากว่าครึ่งพร้อมเลือกซื้อรถน้ำมันและรถไฮบริดมากกว่ารถ EV

 

Advertisment