เปิดทีมแบ็กอัพตึกไทยคู่ฟ้า พลิกเกมกฎหมาย สู้คดีนายกฯ 8 ปี

พล.อ.ประยุทธ์

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง “รับคำร้อง” ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 และสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “หยุดปฏิบัติหน้าที่” นายกรัฐมนตรี ด้วยมติ 5 ต่อ 4 สถานะแห่งอำนาจ 8 ปีเริ่มสั่นคลอน

15 วันก่อนถึง “เส้นตาย” พล.อ.ประยุทธ์ ต้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้เข้าทางที่จะทำให้อยู่ในเส้นทางอำนาจระยะทางไกลที่สุด คือ เริ่มต้นนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 หรือครบ 8 ปีในปี 2570

คีย์แมนสำคัญ หรือ behind the man ที่เป็น “ทีมกฎหมาย” ร่างคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาสู้คดีปม “นายกฯ 8 ปี” ของ พล.อ.ประยุทธ์มีทั้งวอร์รูมชั้นในสุด-ชั้นนอก โดยไม่ใช้บริการบริษัทสำนักงานทนายความเอกชน

ชั้นในสุด “ทีมกฎหมายส่วนตัว” ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมี “พล.ต.วิระ โรจนวาศ” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็น “หัวหน้าทีม” ผู้อยู่เบื้องหลังชนะคดีใหญ่ ๆ มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

“พล.ต.วิระ” ใช้ชีวิตในทำเนียบรัฐบาลแบบไร้ตัวตน ไม่เป็นจุดสนใจมากนัก แต่เขาร่วมประชุมทุกคณะกรรมการระดับชาติทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ เข้าประจำการตึกไทยคู่ฟ้าก่อน พล.อ.ประยุทธ์-เลิกงานหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

โปรไฟล์ของ “พล.ต.วิระ” เป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหาร (31 พ.ค. 53-27 ธ.ค. 53) อดีตคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

เป็น 1 ใน 21 อรหันต์ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่จะสื่อสารความเข้าใจระหว่างหัวหน้า คสช.กับหัวหน้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี’60

“มีชัย” เคยกล่าวเปิดใจในงานเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชนของ กรธ. ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง ตอนหนึ่งว่า “การปฏิวัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ตนไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์หน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำ โดยตั้งคณะพิเศษขึ้นมา 1 ชุด และหัวหน้าคณะปฏิวัติก็ส่ง พล.ต.วิระเข้ามานั่งฟังด้วย”

ที่สำคัญ “พล.ต.วิระ” เป็น 1 ใน กรธ.ที่มีชื่อที่ร่วมประชุมในเอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นโรง-ขึ้นศาล ชี้เป็น-ชี้ตาย จะเห็น “พล.ต.วิระ” เข้าฟังการพิจารณา-คำตัดสินคดีสำคัญ เช่น คดีบ้านพักหลวง คดีหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

พล.ต.วิระ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ และยังดำรงสถานะ ผู้รับผิดชอบจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี ระบุขั้นตอนการต่อสู้คดีไว้ว่า “การส่งคำชี้แจงจะทำให้เร็วและตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด คาดว่าจะส่งได้ก่อนกำหนด 15 วัน เพราะเราทราบความจำเป็นและความเร่งด่วนของเรื่อง  ท่านนายกฯ ไม่ห่วง ท่านให้ดูไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ในกฎหมายมีหลักเกณฑ์อย่างไรก็ว่าไปตามนั้น”

“เราชี้แจงตามข้อกฎหมาย อะไรควรจะเป็นตรงไหน เวลาอะไร เท่านั้น คงไม่มีอะไรน่ากังวล เนื้อหาที่ส่งไปมีครบทุกประเด็นที่ผู้ร้องเขาร้องมา เราต้องตอบให้ครบ”

“ศาลส่งคำร้องของผู้ร้องมา ศาลคงไม่สั่งเกินคำขอ ดังนั้น เราตอบทุกคำถามที่ถามมา และเรามีข้อกฎหมายที่สนับสนุนไม่สนับสนุนอะไร ตีความตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญกำหนด และที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร และให้ศาลใช้ดุลพินิจอีกครั้งหนึ่ง เพราะศาลคงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายมารวมกัน และความเห็นควรจะเป็นอย่างไร ท่านมี 9 คน ก็คงพิจารณารอบคอบและเป็นดุลพินิจของศาล” พล.ต.วิระ กล่าว

ในฐานะเป็นอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีความเห็นเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีว่า “ในบันทึกการประชุมของ กรธ.ที่ครั้งที่ 500/2561 ประชุมเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีจะนับอย่างไร ตอนนั้นคุยกันยังไม่ได้ข้อยุติ และไม่ใช่ความคิดเห็นของคณะกรรมการส่วนใหญ่ และความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ จึงขึ้นอยู่กับการตีความรัฐธรรมนูญว่าจะตีความอย่างไร”

ส่วนมือกฎหมายชั้นเซียน อย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมาย-เนติบริกร และ “ดิสทัต โหตระกิตย์” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการกฤษฎีกา ยังคงร่วมเป็นทีมที่ปรึกษา ที่วนเวียนขึ้น-ลงตึกไทยคู่ฟ้าเสมอ

“พล.อ.ประยุทธ์” เคยกล่าวถึง “เลขาฯดิสทัต” ระหว่างแนะนำคณะร่วมเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า “เป็นคนที่ช่วยให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเข้าคุก”

นอกจากนี้ยังมี “ทีม เสธ.ตึกไทยคู่ฟ้า” คอยประสานงานให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่น อาทิ “เสธ.มิตต์” พล.ท.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม “เสธ.เก๋” พล.ต.ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงศ์ และ “เสธ.นิว” พล.ท.นิธิ จึงเจริญ รวมถึง “เสธ.ก้อง” พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ และ “ลิซ่า พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์

ในรายของ “เสธ.นิว” มีรายงานว่าได้ยื่นลาออกจากราชการ-เกษียณก่อนกำหนด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป นอกจากจะทำให้เลื่อนยศเป็น “พล.อ.” แล้ว เพื่อความคล่องตัวในการช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์แบบพลเรือนเต็มตัว

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลัก ซึ่งมี “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการกฤษฎีกาคนปัจจุบัน ที่เคยนั่งอยู่ใน กรธ. ในตำแหน่ง “เลขานุการกรรมการ คนที่ 1” เตรียมพร้อมให้ข้อมูลเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่

โดยมีทีมสนับสนุนข้อมูล คือ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ที่มี “ดิสทัต” เป็นหัวขบวนอยู่แล้ว ผนวกกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ที่มี “ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์” เลขาฯ ครม.หญิง คอยรับ-ส่งข้อมูลหากทีมกฎหมายต้องการ

แม้หนังสือของศาลรัฐธรรมนูญที่ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ชี้แจงและไม่ได้ขอให้รัฐบาลเป็นผู้ชี้แจง ผู้ชี้แจง คือ นายกรัฐมนตรีและทีมงาน พล.อ.ประยุทธ์ สำนักเลขาฯ ครม. จึงไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบทำคำชี้แจงให้ในกรณีดังกล่าว

ทว่า สลค.ก็เตรียมพร้อมป้อนข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ทันที-ทุกเวลา เมื่อทีมกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ร้องขอ

รวมถึงสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่มี “ธีรภัทร ประยูรสิทธิ” เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็น “ทีมสนับสนุน” คอย “ป้อนข้อมูล” เหมือนคดีที่ผ่านมา เช่น คดีจำนำข้าว คดีอุทกภัยใหม่ปี 2554

“ขึ้นอยู่กับว่านายกรัฐมนตรีจะใช้ข้อมูลในส่วนไหน หากทีมงานท่านนายกฯต้องการจะขอการสนับสนุนในเรื่องใดก็พร้อมที่จะให้ข้อมูล” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ

คาดหมายกันว่า ในโค้งสุดท้าย อาจจะทีมอัยการที่จะเป็นหน่วยงานร่วมคัดกรองข้อกฎหมายในชั้นสุดท้าย