ถึงไทยแล้ว! T-50TH ประจำการทัพอากาศ ผบ.ทอ.ลั่น คุ้มค่า เผยระบบบางอย่างมะกันไม่มี

มาแล้ว T-50TH เข้าประจำการกองทัพอากาศ ด้าน “ผบ.ทอ.” คอนเฟิร์ม เป็นตัวท็อบ เผยระบบบางอย่าง สหรัฐฯ ไม่มีใช้ ขอประชาชนมั่นใจใช้ภาษีคุ้มค่า

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่กองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักบินสาธารณรัฐเกาหลีนำเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH จากบริษัท KAI จำนวน 2 เครื่อง ลงแตะพื้นกองบิน 4 ในเวลา 10.51 น. และ 10.52 น. เพื่อนำส่งให้กองทัพอากาศไทย โดยมี พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีต้อนรับ พร้อมทั้งแสดงความยินดีกับนักบินของกองทัพอากาศ จำนวน 6 คน ซึ่งจบหลักสูตร T-50TH จากบริษัท Korea Aerospace Industries, Ltd. (KAI) สาธารณรัฐเกาหลี

พล.อ.อ.จอม กล่าวต้อนรับเครื่องบิน T-50TH พร้อมแสดงความยินดีนักบินกองทัพอากาศทั้ง 6 ท่าน ที่จบหลักสูตรการบินเครื่องบินT-50TH ว่า T-50TH เป็นหนึ่งในเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีและการฝึกที่ทันสมัยที่สุดในโลก สามารถช่วยลดงบประมาณการฝึกอย่างมีนัยยะสำคัญ และการที่เครื่องบินดังกล่าวบินมาลงที่กองบิน 4 ถือเป็นประวัติศาสตร์ก้าวสำคัญของกองทัพอากาศ นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของนักบินขับไล่ของกองทัพอากาศทัดเทียมนานาประเทศ ขอขอบคุณนักบินทุกท่านที่เสียสละอุทิศตน จนมีผลการฝึกบินดีเยี่ยม และขอบคุณประธานบริหารโครงการที่ร่วมกันทุ่มเทจนนำมาสู่ความสำเร็จ

“เป็นวันแรก T- 50 TH จากเกาหลี แตะพื้นที่เมืองไทย ซึ่งเครื่องบินที่เป็นเครื่องที่ดีมาก ผมขอรับประกัน มีระบบการฝึกดีที่สุดลำหนึ่งของโลก และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและมีศักยภาพเพียงพอในการที่จะเป็นเครื่องบินฝึก ส่วนปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ก่อนหน้านี้ ได้คลี่คลายลงแล้ว เพราะทางบริษัทเกาหลีได้เปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ทั้งหมด และรับประกัน 2 ปี นอกจากนี้ทางบริษัทเกาหลีต้องทำรายงานสาเหตุการเปลี่ยนเครื่องยนต์ T-50TH ว่าเกิดจากอะไร” พล.อ.อ.จอม กล่าว

Advertisment

พล.อ.อ.จอม กล่าวต่อว่า เครื่องยนต์ที่ใช้กับ T-50TH ไม่ใช่เครื่องยนต์ใหม่ แต่เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้กับ เอฟ 18, กริพเพน จึงมีความน่าเชื่อถือสูงมาก หากมีข้อขัดข้องเพียงเล็กน้อย นักบินจะไม่ขึ้นบิน เนื่องจากเครื่องบินไม่สามารถจอดพักได้ ตามมาตรฐานการบิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ คณะกรรมการตรวจรับของกองทัพอากาศ จะตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อให้คุ่มค่างบประมาณที่เสียไป และเป็นเงินภาษีของประชาชน ทั้งนี้ T-50TH เป็นเครื่องบินตัวท๊อป ที่มีระบบบางอย่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่มีใช้

ผบ.ทอ.กล่าวอีกว่า สำหรับพิธีบรรจุเครื่อง T-50TH เข้าประจำการ ที่กำหนดไว้ในเดือนมีนาคม เพื่อรอ T-50TH อีก 2 เครื่อง ที่จะส่งเข้ามาในเดือนดังกล่าว ส่วนในระยะที่ 2 จำนวน 8 ลำ เริ่มทยอยจัดส่งปี 2562 และเป็นช่วงที่ฝึกนักบินขับไล่ พร้อมถอดเครื่องบินขับไล่/ฝึกแบบที่ 1 หรือ L-39 ZA/ART จากเครื่องบินฝึก เป็นเครื่องบินโจมตีเบา สำหรับระยะที่ 3 ยังไม่มีงบประมาณ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกำหนดการเดิม บริษัท KAI ต้องส่ง T-50TH จำนวน 2 เครื่อง ให้กองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 แต่ระหว่างที่นักบินนำเครื่องขึ้นจากสนามบินลาบวนมาสนามบินกวนตันประเทศมาเลเซีย เจอสภาพอากาศที่รุนแรง หลังจากทำการบินตรวจพบปัญหาข้อขัดข้อง โดยการตรวจสอบหลังการบินพบว่า T-50TH เครื่องยนต์เกิดความเสียหาย

Advertisment

ทางบริษัท KAI ส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคและอะไหล่หรือชิ้นส่วนพร้อมเครื่องยนต์ และขอเวลา 2 สัปดาห์ในการแก้ไข เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ ให้อยู่ในสภาพพร้อม ก่อนจะส่งมอบให้กองทัพอากาศตรวจรับในวันนี้

ทั้งนี้ กองทัพอากาศ ได้ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH ทดแทนเครื่องบินขับไล่/ฝึกแบบที่ 1 หรือ L-39 ZA/ART ทยอยปลดประจำการ จำนวน 12 เครื่อง จาก บริษัท Korea Aerospace Industries สาธารณรัฐเกาหลี ในระยะที่ 1 จำนวน 4 เครื่อง ตั้งแต่ปี 2558-2561โดย 2 เครื่องแรกกำหนดส่งวันนี้ (25 มกราคม 2561)ส่วนเครื่องที่ 3 และ เครื่องที่ 4 จัดส่งเดือนมีนาคม 2561 ขณะที่ระยะที่ 2 จำนวน 8 เครื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ

โดยเครื่อง T-50 TH เป็นเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียงที่มีประสิทธิภาพสูงพัฒนาโดยบริษัทอุตสาหกรรมอากาศยานเกาหลี ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่แบบ F16 เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นแบบเดียวกับเครื่องบิน f18

T -50TH ยังมีเทคโนโลยีระบบการฝึกที่ทันสมัยที่สุดในโลกเป็นมาตรฐานสากลมีความคุ้มค่าและใช้งบประมาณในการฝึกน้อยลง ตลอดจนสามารถสร้างทักษะให้นักบินขับไล่มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นปัจจุบันเครื่องบินแบบ T-50 ได้ถูกบรรจุประจำการในกองทัพอากาศชั้นนำหลายประเทศโดยเฉพาะในอาเซียนประเทศไทยถือเป็นประเทศที่สามที่บรรจุประจำการ T- 50TH สำหรับ การจัดซื้อกองทัพอากาศได้พิจารณาอย่างดีแล้วเป็นประโยชน์ต่อกองทัพและประเทศไทย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์