“วิษณุ” ลั่นมิ.ย.ประกาศเลือกตั้ง เลือกจริงภายในก.พ.ปี’62 ไม่การันตีไม่เลื่อนอีก

“วิษณุ” ลั่นประกาศเลือกตั้งได้ในเดือน มิ.ย. ไม่กล้าการันตี เลื่อนอีก เผยมีปัจจัยเหนือการควบคุมให้ต้องลุ้น

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมรายการ “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” จัดโดยสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีผลบังคับใช้ใน 90 วัน ส่งผลให้การเลือกตั้งตามโรดแมป ต้องเลื่อนออกไปว่า จากการอธิบายของคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีบทบัญญัติต่างๆ เช่น ระบบไพรมารีโหวต นอกจากนี้ยังติดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 และ คสช.ยังไม่ผ่อนคลายให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนต่อการจัดการเลือกตั้ง โดย กมธ.เห็นว่าถ้า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ทันที จะเป็นปัญหาต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้ เนื่องจากอาจจะมี กกต.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ ก่อให้เกิดความยุ่งยาก นี่คือเหตุผลของ กมธ.ที่ต้องยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อม

นายวิษณุกล่าวว่า แม้ กมธ.เสียงข้างน้อยเห็นว่าควรยืดเวลาออกไปเป็น 120 วัน แต่ข้อเสนอเหล่านี้จะได้ข้อสรุปในที่ประชุม สนช.ในวันนี้ ส่วนจะสรุปอย่างไรก็เป็นเรื่องของ สนช. เพราะเมื่อ สนช.พิจารณาแล้วเสร็จ ก็จะส่งให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถ้าไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่มีการแก้ไข ก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม โดยมีตังแทน จาก สนช. กรธ. กกต. เพื่อพิจารณาปรับแก้ ก่อนจะนำมาให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาอีกครั้ง เมื่อ สนช.เห็นอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อแก่พรรคการเมืองใหม่นั้น ขอย้ำว่าตั้งพรรคการเมืองเก่าและใหม่ได้เวลาดำเนินการเรื่องต่างๆ เท่ากัน เพราะคิดว่าความเดือดร้อนของพรรคการเมืองนั้น น่าจะมาจากการที่ คสช. ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองมากกว่า โดยล่าสุด คสช.ได้มีคำสั่งที่ 53/2560 ให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการด้านธุรการไปก่อนได้ในเวลาที่กำหนด จนเมื่อ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ ทั้งนี้ ข้อ 8 ในคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ระบุว่าให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้ง คสช. ให้เชิญ กกต. กรธ. รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรค มาพูดคุยว่าการเลือกตั้งนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด

“ในข้อ 8 คือวาระสำคัญของชาติที่จะกำหนดโรดแมปประเทศอย่างชัดเจนที่สุด ภายหลังกฎหมายเกี่ยวการเลือกตั้งประกาศใช้ทั้งหมด ดังนั้น กระแสที่บอกว่าการเลือกตั้งจะยืดออกไป 1-2 ปี ผมไม่เชื่อ เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะยืด 1-2 เดือน เพราะ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ใน 90 วัน คงไม่กระทบการเลือกตั้งมาก เพราะจะจัดเลือกตั้งในเดือนใดก็ได้ภายใน 150 วันหลังจากนั้น ทั้งนี้ ทั้งนี้ ถ้า พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ในเดือนมิถุนายน แล้วให้บังคับใช้ 90 วัน คือกันยายน จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน คือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ถ้าบังคับใช้ภายใน 120 วัน จะบวกเพิ่มไปอีก 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ตามกรอบเวลา รัฐบาลจะสามารถประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งได้ ในเดือนมิถุนายน 2561” นายวิษณุกล่าว

Advertisment

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนเขียนข้อ 8 ในคำสั่งได้ทราบก่อนหรือไม่ว่าจะต้องขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ป เลือกตั้ง ส.ส.ออกไป นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่รู้ 2 เรื่องคือ 1.คำสั่งที่ 53/ 2560 ต้องการขยายล็อกเพื่อเตรียมการเลือกตั้งไปทีละขั้น แต่ไม่แน่ใจว่าจะทันต่อการเลือกตั้งหรือไม่ จึงต้องกลับไปถามพรรคการเมือง ว่าพร้อมสำหรับการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะไม่แน่ใจว่าเมื่อปลดล็อกแล้ว จะเกิดเหตุการณ์ใดตามมาหรือไม่ เช่น บางพรรคการเมือง ไม่มีผู้แทนสาขาพรรคมีการจัดประชุมใหญ่ของพรรค 2.ปัญหาเกี่ยวกับ กกต.ซึ่งที่มาของ กกต. จะมีปัญหาหรือไม่ และยังไม่รู้ว่า กกต.เก่าจะทำหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่ นั่นจะเป็นปัญหาหากจัดการจัดตั้งเร็วเกินไป โดยที่ไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้น ข้อ 8 จึงให้ทุกพรรคการเมืองได้มาตกลงร่วมกัน

เมื่อถามว่าหากสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะมีโอกาสที่จะเลื่อนเลือกตั้งอีกได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ต้องแก้ไขกฎหมายโดยออกเป็น พ.ร.บ. แต่ไม่คิดว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ เพราะโดยพฤตินัยและนิตินัยแล้วทำได้ยาก และไม่คิดที่จะออกมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาด้วย อย่างไรก็ตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่จะขยายหรือไม่ขยายการเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันภายหลัง พ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับบังคับใช้ โดยการสรรหา ส.ว.จะต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะมี ส.ส.

เมื่อถามว่าการันตีได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีหน้าที่การันตี

เมื่อถามว่าจะเป็นการกดดันหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงภายหลังเดินทางเยือนสหรัฐฯ จะจัดการจัดตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 นายวิษณุกล่าวว่า การเยือนครั้งนั้นไม่มีการลงนามระหว่างกัน

Advertisment

“ความจริง ไม่ว่าใครในประเทศไทยก็ไม่ควรบังอาจพูดเรื่องโรดแมปวันเลือกตั้งเลย และนายกฯก็ไม่ควรพูดด้วยซ้ำ แต่เพราะถูกถามและคาดคั้นให้ตอบ จึงตอบจากความที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งไม่ผิด เพราะถ้านับนิ้วมือ ก็จะได้ช่วงเวลานั้นจริงๆ แต่พอมีปัจจัยอื่น เช่น เรื่องการยืดเวลาบังคับใช้กฎหมาย เวลาก็ต้องขยับไป“ นายวิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีปัจจัยเหนือการควบคุมที่ทำให้โรดแมป ต้องยืดออกไปอีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มี แต่ไม่อยากตอบ เพราะกลัวจะเป็นการชี้นำ บอกได้ว่าไม่มีความลึกซับซ้อนอะไร ไม่ใช่อย่างที่สื่อมวลชนคิด และยอมรับว่าการคว่ำร่างก็เป็นหนึ่งในปัจจัยนั้น รัฐบาลพูดรับรองไม่ได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้น ทุกอย่างก็จะต้องช้าออกไป แต่ไม่ใช่มีประเด็นนี้อย่างเดียว เพราะยังมีเหตุอื่นอีกเยอะ แม้จะมีโอกาสเกิด แต่ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะไม่น่าจะมีเหตุอะไรที่จะต้องตีตกกฎหมาย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์