เฉลิมชัย หัวหน้าประชาธิปัตย์ คนที่ 9 แต่เคย (เกือบ) ใส่เสื้อภูมิใจไทย

เฉลิมชัย ศรีอ่อน

วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ พรรคประชาธิปัตย์ จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3 เพื่อเลือก หัวหน้าพรรค และคณะกรรมการ (กก.บห.) พรรคชุดใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศหลังการประชุมที่ เมื่อเวลา 11.30 น. นายเดชอิศม์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค ได้เสนอชื่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค เป็นหัวหน้าพรรค

นายขยัน วิพรหมชัย สมาชิกพรรค เสนอชื่อ น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองพรรคประชาธิปัตย์

น.ส.ผ่องศรี ธารภูมิ สมาชิกพรรค เสนอชื่อ พันโทหญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของ น.ส.วทันยา ตามข้อบังคับพรรคที่ 31 (6) และข้อบังคับพรรคที่ 32 (1) ระบุว่า ต้องใช้เสียงองค์ประชุม 3 ใน 4 ของดเว้นข้อบังคับพรรคในกรณีที่เป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 5 ปี และต้องเคยเป็น สส.ในนามพรรค แต่ที่ประชุมมีมติ 139 เสียง ให้ น.ส.วทันยา ชิงตำแหน่ง แต่ถือว่าเสียงองค์ประชุมที่ให้งดเว้นข้อบังคับไม่ถึง 3 ใน 4 คือ 169 เสียง

จึงถือว่าไม่ได้รับการคัดเลือกชิงหัวหน้าพรรค เช่นเดียวกับ พันโทหญิงฐิฏา ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติชิงตำแหน่งเช่นเดียวกัน ทำให้เหลือผู้ถูกเสนอชื่อคือนายเฉลิมชัยเพียงคนเดียว

ทั้งนี้ มีองค์ประชุม 260 คน โดยเป็นการเข้าคูหาลงคะแนน จากนั้นในเวลา 13.30 น. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ กกต.ประจำพรรค ได้ประกาศผลลงคะแนนว่า ที่ประชุมเลือกนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ด้วยคะแนน 88.5 เปอร์เซ็นต์ ถือว่านายเฉลิมชัยได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9

สำหรับ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” นอกจากเป็นเจ้าของวลี “คำไหน-คำนั้น” เริ่มต้นการเมืองมาจากนักการเมืองท้องถิ่น ก่อนกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติด้วยการสวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2548, 2550 และ 2554

และชิงชัยเป็นแกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้ง 2562 เป็นฟันเฟืองสำคัญที่พาพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะเลขาธิการพรรค

อย่างไรก็ตาม เคยมีช่วงหนึ่งที่ “เฉลิมชัย” ถูกจับตามองว่าจะย้ายพรรคไปอยู่พรรคภูมิใจไทยด้วย เพราะมีคอนเน็กชั่นการเมืองเชื่อมต่อไปยัง “เนวิน-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ในเดือนพฤษภาคม 2552 ปรากฏเป็นข่าวว่า เฉลิมชัย และ สส.ในกลุ่มจะย้ายพรรค

วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ทุกสายตาจับจ้องไปยัง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในเวลานั้น พร้อมด้วย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ประธานคณะทำงาน เดินทางมาเป็นประธานโครงการปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ

โดยที่ เฉลิมชัย ในฐานะ สส.ประจวบฯ นำทีม สส. อาทิ นายมนตรี ปาน้อยนนท์ สส. นายอภิชาติ สุพาแพ่ง สส.เพชรบุรี มาร่วมให้การต้อนรับ พร้อมใส่เสื้อสีน้ำเงินที่มีข้อความบนเสื้อว่า “สงบ สันติ สามัคคี” ซึ่งเป็นเสื้อของกระทรวงมหาดไทย ยกเว้นนายอภิชาติ เพียงคนเดียวที่ไม่ได้สวมเสื้อดังกล่าว

“เฉลิมชัย” กล่าวในวันนั้นว่า ที่ใส่เสื้อสีน้ำเงินไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ แต่เห็นว่านายชวรัตน์เดินทางมาเปิดโครงการปกป้องสถาบัน จึงใส่เสื้อสีน้ำเงิน และไม่ได้ต้องการสื่อมีความคิดจะย้ายพรรค เพราะขณะนี้ปัญหาทุกอย่างจบแล้ว

แต่ค่ำคืนนั้น “เฉลิมขัย” อยู่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ พร้อมร้องเพลงอย่างสนุกสนานร่วมกับนายศักดิ์สยาม ซึ่งมีข่าวว่าเป็นผู้ทาบทามให้สาม สส.มาอยู่พรรคภูมิใจไทย จนถึงเวลา 03.00 น. อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สยามได้พูดทำนองทีเล่นทีจริงกับนายเฉลิมชัยว่าสนใจร่วมงานกับภูมิใจไทยหรือไม่ จึงทำให้นายเฉลิมชัยได้แต่หัวเราะอย่างสนุกสนาน

เฉลิมชัยกล่าวว่า ขณะนี้ไม่อยากพูดอะไร เกี่ยวกับปัญหาภายในพรรค เพราะถือว่าเลยมาแล้ว แต่ที่ออกมาพูดก่อนหน้านี้เป็นเพราะนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรค ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น จึงต้องออกมาชี้แจง ว่าไม่ได้เรียกร้องตำแหน่งรัฐมนตรีภายในพรรค หรือต้องการแสดงบารมีว่ามี สส.อยู่ในมือ 40 คน เพราะถ้าพูดถึงบารมีในพรรคแล้วตนมีบารมีมากกว่ารัฐมนตรีในรัฐบาลของพรรคบางคนเสียอีก

แต่ในเวลาต่อมาเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เฉลิมชัยได้รับตำแหน่ง รมว.แรงงาน แทน ไพฑูรย์ แก้วทอง

เวลาผ่านไป 14 ปี จากคนที่เคยแสดงท่าทีว่าจะลาออก “เฉลิมชัย” เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9