เปิดข้อเสนอ โอน-หั่น งานตำรวจ ‘ฉบับเกรงใจสีกากี’ จราจร -ท่องเที่ยว -ป่าไม้ ไปไหน !

การถ่ายโอนภารกิจตำรวจ  เป็นหนึ่งในประเด็นร้อน ข้อถกเถียงใหญ่ ในวง “ปฏิรูปตำรวจ” ทุกครั้ง

ล่า สุดเกิดคณะกรรมการชุดใหม่ นำโดย “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศ “เริ่มต้นใหม่” คล้าย “โละ” ไอเดียปฏิรูปตำรวจตามที่ชุดของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์  อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ตามรัฐธรรมนูญ กลั่นเสนอรัฐบาล

เป็นคำตอบในตัวว่ายังไม่ตอบโจทย์?!

วันนี้ นายมีชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ..  ระบุว่า หลังการประชุมเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดใหม่ เริ่มดูภารกิจตำรวจ ดูเรื่องอัตรากำลังที่บ่นว่าไม่พอ เกิดจากอะไร ก็พบว่าภารกิจหลักไม่เกี่ยวกับตำรวจ

“ดังนั้นอะไรที่ไม่เกี่ยวกับงาน ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมให้คนอื่นทำได้ก็ต้องคนอื่นทำ เช่นงานทะเบียน งานจราจรที่ต้องมอบให้ท้องถิ่น ส่วนงานสืบสวนสอบสวนนั้น ยังเป็นหน้าที่ของตำรวจ ควบคู่ไปกับการป้องกันและปราบปราม แต่ต้องแยกให้ชัดเจน” นายมีชัยเผยไอเดียหลัก

ทุกครั้งที่ตั้งท่าผ่า ตัดองค์กรตำรวจ  หัวข้อโอนย้าย หั่นภารกิจ ที่หรือที่เรียกว่าภารกิจรอง ซึ่งปัจจุบันตำรวจรับผิดชอบ มีอำนาจและหน้าที่ เช่นตำรวจทางหลวง ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจท่องเที่ยว หรือแม้แต่งานจราจรไปให้หน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบโดยตรง หรือยกให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดการ ถูกนำมาขยายความวิพากษ์วิจารณ์

ทว่าบ่อยครั้งที่เหล่าผู้ทรงคุณวุฒิ จากคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่า ออกมาปักธง  ว่างานตำรวจบางอย่าง ต้องโอนย้ายถ่ายโอนให้น่วยงานอื่น เช่นย้ายงานจราจรไปขึ้นอยู่กับ กทม. ยกงานตำรวจท่องเที่ยวให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปดำเนินการ ยกงานตำรวจรถไฟ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย โอนตำรวจทางหลวงให้กรมทางหลวง  โยนหินถามทางขึ้นมาคราใดมักมีเสียงตอบกลับ ไม่รับไอเดียจากเหล่าตำรวจทุกครั้งไป !!

เกิดคำถามกลับไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้อง ถึงความพร้อมในการรับงาน ภารกิจบังคับใช้กฎหมายและดูแลความสงบเรียบร้อย คำตอบที่ได้คือยังไม่มีความพร้อม ขณะที่ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องให้ตำรวจเป็นผู้ปฏิบัติ

คณะกรรมการ คณะทำงาน ปฏิรูปตำรวจ ทุกชุด พูดถึงประเด็นถ่ายโอนภารกิจ แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีไอเดีย ของกรรมการสักชุดได้ถูกนำมาใช้  เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีไอเดียใดได้ไฟเขียวตกผลึก  จนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติเสียที?!

สรุปแนวทางการปฏิรูปตำรวจชุด พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์

ใน รายงานสรุปคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ชุด พล.อ.บุญสร้าง โดย คณะอนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ ซึ่งมีนายมนุชญ์ วัฒนโกเมร เป็นประธานอนุกรรมการ ได้บทสรุปที่ผ่านการถกแถลงอย่างเข้มข้น ศึกษารายงานการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมาก กระทั่งตกผลึก เสนอในรายงานการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) โฟกัสที่ประเด็นนี้เช่นกัน

มีข่าวกระเซ็นกระสายออก มาเป็นระยะ ว่าการถกประเด็นโอนภารกิจในคณะอนุฯชุด นี้ เป็นไปอย่างเผ็ดร้อน โดยกลุ่มตำรวจ และกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่ใช่ตำรวจ รวมถึงหัวโต๊ะ มีความเห็นไม่ตรงกันในหลายประเด็น!?

แต่อย่างไรก็ตาม มี “บทสรุป” เรื่องอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ ที่เกี่ยวพันต่อเนื่องว่าภารกิจใดต้องโอน ยุบ ย้าย  เสนอในรายงานสรุปคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ซึ่งพล.อ.บุญสร้าง ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและต้องศึกษา ดูความพร้อมของหน่วยที่เกี่ยวข้องด้วย

เปิด รายงาน ชุด พล.อ.บุญสร้าง ที่คล้ายว่าในรายงานหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าโอนถ่ายภารกิจตำรวจออกไป แต่ใช้คำว่าเพิ่มอำนาจบังคับใช้กฎหมายให้ส่วนราชการอื่นที่รับผิดชอบภารกิจ แทน

ในรายงานเสนอโดยสังเขปดังนี้

“แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจ โดยเพิ่มอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาบางฉบับที่เป็น ภารกิจรองและอยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการอื่นไปให้ส่วนราชการนั้นรับ ผิดชอบในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิด การสืบสวน การขออนุมัติศาลตรวจค้น การจับกุม และการสอบสวนคดีอาญา เพื่อเป็นการลดภาระให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและสามารถปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจหลัก ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ภารกิจที่ต้องดำเนินการภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี

(1) ภารกิจด้านการจราจร ในเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร การกวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายจราจรในฐานความผิดที่เกี่ยวกับการจอดรถ โดยฝ่าฝืนกฎหมาย เพิ่มอำนาจให้แก่ กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครต่างๆ และเมืองพัทยา

(2) ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและสรรพสามิต เพิ่มอำนาจให้แก่ กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต

(3) ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม เพิ่มอำนาจให้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(4) ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความคุ้มครอง ผู้บริโภค เพิ่มอำนาจให้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงอุตสาหกรรม

ภารกิจที่ต้องดำเนินการภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี

(1) ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง ขนส่ง และรถยนต์ โดยเพิ่มอำนาจให้แก่ กระทรวงคมนาคม

(2) ภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาญาทางน้ำเพิ่มอำนาจให้แก่ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม

ภารกิจที่ต้องเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่

ความ ผิดเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ ความผิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งคณะกรรมการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องศึกษาต่อว่าภารกิจ ด้านการละเมิดลิขสิทธิ์และการท่องเที่ยว มีภารกิจใดที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย และใช้กำลังตำรวจในการปฏิบัติภารกิจ  ยังคงให้หน่วยงานตำรวจทำภายใต้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

ภารกิจที่ต้องปฏิบัติร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ได้แก่ ความผิดอาญาบนขบวนรถไฟ ความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งคณะกรรมการฯหมายความว่ายังคงต้องปฏิบัติร่วมกัน แปลความง่ายๆหน่วยงานตำรวจที่มีอยู่ คงอยู่เหมือนเดิม

ภารกิจด้านตรวจคนเข้าเมือง เห็นควรให้ ก.พ.ร. พิจารณาร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ว่าภารกิจดังกล่าวสมควรที่จะอยู่กับหน่วยงานใด โดยขอรับคำชี้แนะจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ข้างต้นเป็นบท สรุปจากรายงานชุด พล.อ.บุญสร้าง  หรือที่นายมีชัย เรียกว่า “ฉบับเกรงใจตำรวจ” ซึ่งเป็นไปตามที่พล.อ.บุญสร้าง ชี้ ว่าต้องใช้เวลาและศึกษาต่อไปอีก !!

หรือบทสรุปของชุดบิ๊ก สร้าง ที่คล้ายยังไม่มีความชัดเจน ไม่ตัดสินใจหั่นฉับ ปรับโอน ใช้เวลาที่อาจเนิ่นนานเกินไป อาจเป็นหนึ่งในประเด็นไม่ตอบโจทย์ ‘ปฏิรูปตำรวจ’ เป็นที่มาของการเริ่มใหม่โดยนายมีชัย หรือไม่?!

อย่าง ไรก็ตามต้องจับตาว่า การปฏิรูปตำรวจยกใหม่ ที่เดินเครื่องนำขบวนโดยอดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะตอบโจทย์ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้คำตอบสุดท้าย ใช้ได้ และได้ใช้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องถ่ายโอน ปรับภารกิจตำรวจ  !!?

ที่มา:มติชนออนไลน์