ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง เศรษฐา ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่  

ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากรับคำร้องเศรษฐา ตั้งพิชิตเป็นรัฐมนตรี ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้ชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน

วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่ประธานวุฒิสภา ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีสำนักนายกฯ ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

ผลการประชุมศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) (โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ)

มีคำสั่งรับคำร้องผู้ถูกร้องที่ 1 ไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54

สำหรับกรณีของผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีคำร้องของผู้ถูกร้องที่ 2 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า

Advertisment

เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 51 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม) มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีขอให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องในชั้นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์) ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่แจ้งให้คู่กรณีทราบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม 40 สว.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านประธานวุฒิสภา ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิชิต เนื่องจากเคยถูกคำสั่งศาลให้จำคุก 6 เดือน กรณีกระทำละเมิดอำนาจศาล โดยเป็นการร่วมในทางอาญากับบุคคลที่ถือถุงเงิน 2 ล้านเข้าไปยังศาล ขณะต่อสู้คดีที่ดินรัชดาฯ เมื่อปี 2550

ทั้งนี้ คำร้องตอนหนึ่งของกลุ่ม 40 สว.ระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ความเป็นนายกรัฐมนตรีกระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) ด้วยการแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ด้วยการเลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน ทำให้เข้าใจผิดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ถูกร้องที่ 2 เรียบร้อยแล้วว่าไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความรวมถึงไม่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4) และ (5)

Advertisment

ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ได้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลฎีกาที่ ๔๕๙๙/๒๕๕๑ และต่อมาสภาทนายความฯ มีมติลงโทษให้ลบชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ออกจากทะเบียนทนายความ แสดงว่าผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นบุคคลที่มีการกระทำการอันเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงผู้ถูกร้องที่ 2 จึงเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี

ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง เศรษฐา ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง เศรษฐา ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง เศรษฐา ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่