ครม.เศรษฐกิจ 4 รัฐบาล วาระด่วน เศรษฐา แก้วิกฤตค่าครองชีพ

4government
คอลัมน์ : Politics policy people forum

เมื่อภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2567 ขยายตัวเพียง 1.5% โตต่ำที่สุดในอาเซียน

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี สั่งการข้ามโลก นัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ถกแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 27 พฤษภาคม ตั้งเวลาไว้ 16.00 น.

“จะเรียกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน แต่ไม่ใช่เป็นการเรียกใครมาเพื่อต่อว่า แต่จะเป็นการมาพูดคุยหามาตรการ หรือไอเดียต่าง ๆ ที่จะต้องทำ ตั้งแต่เรื่องนโยบายและการผันเงินผ่านกรมบัญชีกลาง เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ แก้ไขปัญหา เรียกว่าเป็นการมานั่งแก้ไขปัญหากัน เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือจีดีพีโตแค่เพียง 1.5% ต่ำที่สุดในอาเซียน”

“เราก็จะตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันนี้น่าเป็นห่วง และยังมีอีกหลายเรื่อง ทั้งบัตรเครดิต หนี้เสีย และหนี้ครัวเรือน”

“ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงสร้างของ ครม.เศรษฐกิจ จะประกอบด้วย รองนายกฯ ที่กำกับดูแลเศรษฐกิจ รมว.คลัง รมช.คลัง รมว.พาณิชย์ รมว.อุตสาหกรรม รมว.ต่างประเทศ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

Advertisment

ส่วนไฮไลต์ในการประชุม นายกฯเน้นโครงการ-มาตรการระยะสั้น เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้วางโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวไว้อยู่แล้ว เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะจีดีพีที่โตต่ำ

บิ๊กตู่ กลั่นกรองผลกระทบเศรษฐกิจ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การทำงานของรัฐบาล มักมี “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” แยกออกมาเพื่อตัดสินใจทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ

ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคณะกรรมการที่ชื่อว่า “คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ” ผ่านการอนุมัติแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 30 กรกฎาคม 2562

ผู้ที่รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คือ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นประธาน มีรองประธาน ประกอบด้วย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข มีกรรมการเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่าง ๆ อาทิ รมว.คลัง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมว.การอุดมศึกษาฯ

Advertisment

รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.ดีอีเอส รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.พลังงาน รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน รมว.อุตสาหกรรม มี กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นกรรมการและเลขานุการ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ส่วนอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งประเด็นด้านการเงิน การคลัง การภาษีอากร การค้าการลงทุน เกษตรกรรม การคมนาคมและโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมและดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม

ยิ่งลักษณ์ นัดแรกถกแก้ของแพง

ยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเรียกประชุม “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555

องคาพยพ มีทั้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยการประชุมนัดแรกมีการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งขณะนั้นมูลค่าการส่งออกและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังติดลบ ผลจากมหาอุทกภัย ปี 2554 วิเคราะห์สถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งในปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.8

ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรก ยังมอบหมาย กระทรวงพาณิชย์ อาทิ จัดทำรายการสินค้าเฝ้าระวังโดยคำนึงถึงแนวโน้มราคา ปริมาณที่ออกสู่ตลาด ให้กระจายสินค้าราคาประหยัด (ธงฟ้า) ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง

มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ศึกษาสินค้าเกษตรเป็นรายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการ ประมาณการผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ท้องตลาดตามช่วงฤดูกาลต่าง ๆ

มอบหมายกระทรวงการคลังเร่งรัดพิจารณาและศึกษาโครงสร้างภาษีทั้งระบบ

มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณเร่งรัดมาตรการการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเงินให้กับระบบเศรษฐกิจ

ยุคมาร์ค เคลื่อนนโยบายเร่งด่วน

ยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มีการตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) มี “อภิสิทธิ์” นายกฯ เป็นประธาน มี กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ เป็นรองประธาน ที่เหลือมี รมว.คลัง รมว.การต่างประเทศ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.พลังงาน รมว.พาณิชย์ รมว.แรงงาน รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการนายกฯ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

เหตุผลคือ ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก และนโยบายในระยะการบริหารราชการ 3 ปีของรัฐบาล

ภารกิจมี 4 ข้อ 1.พิจารณาเสนอแนะและกำหนดมาตรการและโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ

2.กำกับดูแลเร่งรัดติดตาม แก้ไขปัญหา และลดขั้นตอนปฏิบัติ ในการดำเนินการตามมาตรการและโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะเร่งด่วน

3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน เพื่อดำเนินการอื่นใดได้ตามความเหมาะสม

4.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ครม.เศรษฐกิจในยุคอดีต

ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็มีการตั้ง ครม.เศรษฐกิจในรูปแบบคล้าย ๆ กัน เช่น ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีคณะกรรมการที่เรียกว่า “คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม”

ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย มีเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ชื่อ วิษณุ เครืองาม มี ครม.เศรษฐกิจ ที่เรียกว่า “คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ”

ในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการ 1 ชุด ไม่เชิงเป็นคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจแต่เป็นชุดที่เรียกว่า“ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก”

มีองคาพยพประกอบด้วย 1.พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษา 2.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ 3.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ 4.ชวนชัย อัชนันท์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ 5.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย 6.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และ 7.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิจัยประจำคณะที่ปรึกษา

เศรษฐา ทวีสิน เตรียมเดินหน้าแก้เศรษฐกิจเต็มตัว