“บิ๊กตู่” สัญจร 4 ปี 9 จังหวัด มัดจำ 1.8 ล้านล้าน หยั่งเสียงเลือกตั้ง

ยังไปต่อไปอีก สำหรับการเดินสายลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สถานีต่อไปอาจเป็น จ.นครสวรรค์หรือเชียงราย

ถึงแม้แม่ทัพ-ขุนพลบนตึกไทยคู่ฟ้า อยาก…จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ทั่วทุกภาค แต่ด้วยระยะทาง-เวลาอันเป็นข้อจำกัด

มัดจำ “เนวิน” 2 หมื่นล้าน 

ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 9) พล.อ.ประยุทธ์ เหยียบลานช้างสุรินทร์-ขับบิ๊กไบก์ชมสนามฟุตบอลสโมสรบุรีรัมย์ วันที่ 7-8 พ.ค. 2561 ที่มี “เนวิน ชิดชอบ” ผู้มีบารมีของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เสนอโครงการให้ ครม.อนุมัติ ทั้งหมด จำนวน 121 โครงการ 20,706 ล้านบาท และอนุมัติเร่งด่วน ได้แก่ ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำ 84 โครงการ 3,476 ล้านบาท ด้านการท่องเที่ยว 5 โครงการ 496 ล้านบาท

ด้านคุณภาพชีวิต 5 โครงการ 3.6 ล้านบาท ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 21 โครงการ 11,824 ล้านบาท ด้านการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน 4 โครงการ 1,370 ล้านบาท

เมกะโปรเจ็กต์ 1.9 ล้านล้าน 

หากย้อนกลับไป รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เดินสายประชุม “ครม.สัญจร” ไปแล้ว 9 ครั้ง โปรยเม็ดเงินไปกว่า 1,847,000 ล้านบาทครั้งแรกที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ณ สวนสนประดิพัทธ์ วันที่ 27-28 มี.ค. 2558 ภายหลังการบริหารราชการแผ่นดิน

โดย “รัฐบาลทหาร” มาครบ 6 เดือน

การประชุม “ครม.ตากอากาศ” ครั้งนั้นรับทราบ “อภิมหาโครงการ” จัดสร้าง “อุทยานราชภักดิ์” ในพื้นที่ของกองทัพบก บริเวณฝั่งตรงข้ามสวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

อนุมัติหลักการ “อภิมหาโปรเจ็กต์” แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ระยะ 8 ปี 1,912,681 ล้านบาท และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2558 และเปิด “จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร”

ครั้งที่สองที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 29-30 มิ.ย. 2558 แม้จะไม่มีการอนุมัติโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามที่จังหวัดเสนอ จำนวน 46 โครงการ 87,000 ล้านบาท แต่ “พล.อ.ประยุทธ์” มี “ข้อสั่งการ” ให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็น “วาระแห่งชาติ”

อย่างไรก็ตามช่วงต้นปี 2559-ต้นปี 2560 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องดเว้นการประชุม ครม.สัญจร เนื่องจากอยู่ในช่วงพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตรและอยู่ในช่วงเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ไฮสปีดเทรน 1.79 แสนล้าน

ครั้งที่สาม พล.อ.ประยุทธ์ เลือกลง “จังหวัดบ้านเกิด” นครราชสีมา วันที่ 21-22 ส.ค. 2560 รวมกรอบวงเงินที่อนุมัติไป 225,779 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะ “ปักหมุด” รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) วงเงินรวม 179,000 ล้านบาท

ตอกเสาเข็ม “มอเตอร์เวย์” สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงิน 33,258 ล้านบาท และอนุมัติ 2,600 ล้านบาท เพื่อปรับแผนโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางมาบกะเบา-จิระ

อนุมัติ “งบฯกลาง” ปี”60 จำนวน 2,101.46 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและโครงการที่มีความพร้อมเพื่อขอรับการสนับสนุน “งบฯกลางปี”61” รวม 348 โครงการ 8,820 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

เมกะโปรเจ็กต์น้ำ 1.7 หมื่นล้าน

ในช่วงที่กระแสความพยายามของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะ “เจาะฐานเสียง” ตามหัวเมือง-ตีท้ายครัวพรรคการเมืองใหญ่ ในช่วงโค้งสุดท้ายกลับมาสู่อำนาจอีกครั้ง

ครั้งที่สี่ จ.สุพรรณบุรี-จ.พระนครศรีอยุธยา วันที่ 18-19 ก.ย. 2560 รัฐบาล-คสช. จึงเดินหมาก-ลงพื้นที่ “ฐานเสียง” ของพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ซึ่ง “ครม.สัญจร” ในครั้งนั้นโปรยเม็ดเงินกว่า 158,878 ล้านบาท ได้แก่ เห็นชอบ “เมกะโปรเจ็กต์น้ำ” โครงการแรก คือ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 17,600 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่าง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 วงเงิน 49,120 ล้านบาท

อนุมัติการเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันรายการเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น โครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก จ.สระบุรี 54 ล้านบาท

อนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต”60/61 วงเงิน 87,215 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเห็นชอบโครงการเพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 จำนวน 43 จังหวัด ภายใต้ “งบฯกลาง” ปี”60 จำนวน 2,295 ล้านบาท

ฟื้น ศก.ภาคใต้ 6.5 แสนล้าน

ครั้งที่ห้า “พล.อ.ประยุทธ์” รุกคืบทางการเมืองตีโอบปักษ์ใต้-ฐานที่มั่นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา วันที่ 27-28 พ.ย. 2560

จัดเต็มเมื่อมีมติรับทราบโครงการพัฒนาพื้นที่จังหวัดภาคใต้และชายแดนภาคใต้ 500,000 ล้านบาท

พร้อมกับอนุมัติโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยัง “เกาะสมุย” จ.สุราษฎร์ธานี 2,166 ล้านบาท “ฐานบัญชาการ” ของสุเทพ เทือกสุบรรณ อนุมัติกรอบอัตรากําลังพนักงานมหาวิทยาลัยรวม 374 อัตรา 138 ล้านบาท

การให้ทุนการศึกษา 2,519 คน 570 ล้านบาท อนุมัติโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ระยะที่ 3 วงเงิน 551 ล้านบาท

แพ็กเกจด้านการเงินสําหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 มาตรการ รวมวงเงิน 3,800 ล้านบาท นอกจากนี้ ครม.ยัง “ปลดล็อก” ให้นำ “เงินสะสม” ของท้องถิ่นมาใช้ได้ จำนวน 150,954 ล้านบาท รวมแล้วอนุมัติกรอบวงเงินกว่า 658,179 ล้านบาท

ไฮสปีดเทรน กทม.-เชียงใหม่ 

ครั้งที่หก พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะไปเยือนถิ่น-ถ้ำ “มัชฌิมา” ของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” จ.สุโขทัย-พิษณุโลก วันที่ 25-26 ธ.ค. 2560 “ซื้อใจ” คนภาคเหนือตอนล่างกว่า 394,619 ล้านบาท

อนุมัติกรอบวงเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ในพื้นที่ภาคเหนือ วงเงินรวม 115,179 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-พิษณุโลก) วงเงิน 276,225 ล้านบาท

โครงการแก้น้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มน้ำยม ตามแผนเร่งด่วน 1,900 ล้านบาท แผนงานและโครงการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่มรดกโลก 1,115 ล้านบาท

ยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อกระตุ้นการ “ท่องเที่ยวเมืองรอง” 55 จังหวัด คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ 200 ล้านบาท

ดันไทย “มหานครผลไม้โลก” 

ครั้งที่เจ็ด จ.จันทบุรีและตราด วันที่ 5-6 ก.พ. 2561 มี จ.ชลบุรี ฐานเสียงพรรคพลังชล (พช.) ของนายสนธยา คุณปลื้ม ก่อนจะอนุมัติงบประมาณกว่า 320,721 ล้านบาท ได้แก่

เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “มหานครผลไม้ของโลก” และอนุมัติจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก วงเงิน ระยะที่ 1 จำนวน 80 ล้านบาท

เห็นชอบแผนงาน-โครงการรองรับความต้องการน้ำในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ระยะ 10 ปี ได้แก่ โครงการที่เกี่ยวกับการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม 6 แห่ง 1,190 ล้านบาท จัดทำอ่างเก็บน้ำใหม่ 3 แห่ง 2,493 ล้านบาท

เชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำระยะ 5 ปี สูบกลับน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำจากคลองสะพานไปอ่างประแสร์ 710 ล้านบาท และการป้องกันน้ำท่วมเมืองและนิคมอุตสาหกรรมระยอง และ จ.ชลบุรี 2,225 ล้านบาท

โครงสร้างพื้นฐานทางถนนในพื้นที่ภาคตะวันออก (2557-2561) วงเงิน 77,323 ล้านบาท โครงการการจัดทำคำขอ “งบประจำปี”62” วงเงิน 32,484 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ 236,700 ล้านบาท

ผุด “ไทยแลนด์ ริเวียร่า”

ครั้งที่แปด จ.สมุทรสาครและ จ.เพชรบุรี วันที่ 5-6 มี.ค. 2561 อนุมัติโครงการ-งบประมาณ รวม 10,508 ล้านบาท ได้แก่ แนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก หรือ “Thailand Riviera” 45 โครงการ (ปี”62) วงเงิน 170 ล้านบาท

โครงการการบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีตอนล่างฯ 573 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 7,400 ล้านบาท เสนอเป็นโครงการขนาดใหญ่ต่อไป โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเพชรบุรี ระยะที่ 3 วงเงิน 25 ล้านบาท

โครงการขุดลอกแม่น้ำเพชรบุรี 31 ล้านบาท โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ระบบป้องกันน้ำและท่อระบายน้ำแม่น้ำท่าจีนและคลองสาขา 2,033 ล้านบาท

โครงการสนับสนุนการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.สมุทรสงคราม 563 ล้านบาท โครงการฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่เลนงอกใหม่ จ.เพชรบุรี 84 ล้านบาท

โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันตก จ.สมุทรสงคราม 57 ล้านบาท โครงการบริหารจัดการขยะ จ.สมุทรสงคราม 10 ล้านบาท โครงการสินเชื่อการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” วงเงิน 153 ล้านบาท โครงการเพาะพันธุ์ปูทะเล วงเงิน 13 ล้านบาท

เบ็ดเสร็จ “ครม.สัญจร” ทั้ง 9 ครั้ง ของ พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่ยึดอำนาจเกือบ 4 ปีเต็ม โปรยเม็ดเงินไปแล้วกว่า 1,847,000 ล้านบาท