กฤษฎีกา-กรธ.ยกร่างแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช. 53/60 เสร็จแล้ว คลายล็อกพรรคการเมือง

กฤษฎีกา-กรธ.ยกร่างแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช. 53/2560 เสร็จแล้ว ส่งกกต.พิจารณา คาดเข้าที่ประชุม 9 ก.ค.นี้ คลายล็อคพรรคการเมืองประชุมใหญ่-ให้อำนาจกกต.แบ่งเขต -ทำไพรมารีโหวต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ยกร่าง แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสชที่ 53/2560 เพื่อคลายล็อคการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เสร็จสิ้นแล้ว โดยเนื้อหาได้มีการปรับแก้ให้เป็นไปตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้แทนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการส่งร่างแก้ไขคำสั่งดังกล่าวมาให้กกต. เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อขอความเห็น ซึ่งคาดว่าในการประชุมกกต. วันที่ 9 กรกฎาคม ที่ประชุมจะได้พิจารณาและให้ความเห็น

ทั้งนี้ มีรายงานว่า คสช.และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ก็ได้ยกร่างแก้ไขคำสั่งดังกล่าวส่งมาให้กกต.พิจารณาแล้วด้วยเช่นกัน โดยก็มีเนื้อหาไปในลักษณะเดียวกันคือหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว คือ 1.ให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค หาสมาชิกพรรคให้ความเห็นต่อกกต.ในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดทำไพรมารีโหวตโดยแจ้งกกต.ทราบก่อนดำเนินการ 2. ให้อำนาจกกต.ในการออกหลักเกณฑ์และระเบียบให้สอดคล้องกับพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่มีการประกาศใช้และให้ดำเนินการเรื่องของการแบ่งเขตได้

ขณะที่เรื่องของการทำไพรมารีโหวต คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอให้กระบวนการเป็นไปตามมาตรา145 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กำหนดให้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกนี้หากพรรคการเมืองใดได้จัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หรือมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใดเกิน100คนขึ้นไปให้พรรคการเมืองนั้นสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น แต่ในส่วนร่างของกรธ.นั้น เสนอ2 แนวทางคือ ดำเนินกระบวนการตามมาตรา145 และกระบวนการทำไพรมารีโหวตเป็นภาค โดยให้มีคณะกรรมการคัดเลือก 4 คณะ แบ่งตามภาคไปดำเนินการคัดเลือก เห็นชอบและเสนอบุคคลเข้ามาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งให้กับคณะกรรมการบริหารพรรค

ซึ่งกระบวนการก็จะมีความยืดหยุ่นกว่าการดำเนินการตามมาตรา 145 เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกสามารถพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครได้ทุกเขตทุกจังหวัดของภาคนั้นๆโดยไม่ต้องคำนึงว่าต้องมีตัวแทนประจำจังหวัด หรือประจำเขตอยู่ในการคัดเลือกผู้สมัครเขต หรือจังหวัดนั้นหรือไม่ ซึ่งเมื่อกกต.มีมติให้ความเห็นชอบหรือมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ก็จะแจ้งกลับไปยังคณะกรรมกฤษฎีกา ก่อนที่ คณะกรรมการกฤษฎีกาจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคสช.เพื่อพิจารณาออกคำสั่งต่อไป โดยถ้าหากพิจารณากรอบเวลาที่ได้มีการคาดการณ์ว่าพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณกลางเดือนกันยายน จึงมีความเป็นไปได้ที่คสช.อาจจะออกคำสั่งแก้ไขคำสั่งคสช.ที่53/2560ในช่วงไม่เกินเดือนสิงหาคม

Advertisment

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์

Advertisment