รัฐบาล-กกต.เลื่อนเลือกตั้ง ครั้งที่ 5 สั่นสะเทือนโรดแมป 24 กุมภาฯ

ทั้งรัฐบาลและกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่สามารถปักหมุดวันเลือกตั้งได้ และอาจจะต้องเลื่อนการเลือกตั้ง-ขยับโรดแมปออกไป หลังวันที่ 24 ก.พ. 2562 อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 5 เพราะโรดแมปเก่า “คาบเกี่ยว-ทับซ้อน” กับกระบวนการเตรียมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค. 62 จากเดิมที่คาดว่าเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งจะประกาศในวันที่ 2 ม.ค. 62 แต่ถึง ณ เวลานี้ รัฐบาลได้ทูลเกล้าฯขอ “ชะลอ” รับร่าง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งไว้ก่อน เนื่องจากยังไม่สามารถยืนยันวัน ว. เวลา น. วันหย่อนบัตรเลือกตั้ง จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้

สัญญาณสุดท้ายออกมาจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายรัฐบาล-หัวหน้าเตรียมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ออกมา “ส่งสัญญาณ” ไปยัง กกต. แนบท้ายด้วยหมายกำหนดการพระราชพิธีอันเป็นมงคลยิ่ง

“วันเลือกตั้งต้องมีขึ้นก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จแน่ ต้องอยู่ในกรอบ 150 วัน เพราะเขียนในรัฐธรรมนูญและมาตรา 44 ก็ไปแก้ไม่ได้ วันนี้การเลือกตั้งยังเป็นวันที่ 24 ก.พ. 62 แต่เมื่อมีกิจกรรมก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 15 วัน และหลังวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 15 วัน ดังนั้นการเลือกตั้งที่เหมาะสมจะเป็นวันไหนขึ้นอยู่กับ กกต.กำหนด”

“แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วง คือ ช่วงเวลาหลังวันเลือกตั้งไม่ว่าวันเลือกตั้งจะเป็นวันใดก็ตามเป็นต้นไป ยังมีกิจกรรมทางการเมือง เช่น การประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หากวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. 62 กกต.จะประกาศผลวันสุดท้ายหลังวันที่ 24 เม.ย. 62 ไม่ได้”

“นอกจากนี้ยังเป็นวันที่ตรงกับวันประกอบพระราชพิธีถือน้ำอภิเษก ครั้นจะขยับก่อนหน้านั้นก็จะตรงกับวันสงกรานต์ เสร็จจากสงกรานต์ก็เป็นพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก เพราะฉะนั้นกิจกรรมทางการเมืองกับกิจกรรมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องเอามาวางคู่กันและวางเทียบกัน ไม่ให้ทับซ้อนกันขึ้น ไม่ควรจะทับซ้อนกัน”

“ดร.วิษณุ” ใช้ประสบการณ์จากการเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 7 รัฐบาล 9 นายกฯ ให้ทั้งข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายว่า การกำหนดเวลาเสด็จพระราชดำเนินเปิดสภาภายใน 15 วัน หลังประกาศรับรอง ส.ส.ครบ 95 % ซึ่่งโรดแมปเดิมคือวันที่ 8 พ.ค. 62 อาจจะทับซ้อน

กับพระราชพิธี “ในความเป็นจริง กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งภายในกี่วันก็ตาม ในอดีต กกต.ประกาศผลภายใน 30 วัน เมื่อประกาศผลจะต้องมีเวลาให้ ส.ส.ไปรายงานตัว บัดนี้เวลา ส.ส.รายงานตัวอยู่ในระยะเวลา 15 วัน มิหนำซ้ำยังเป็นเวลาเดียวที่ประกาศแต่งตั้ง ส.ว.ด้วย ซึ่งไม่รู้จะประกาศแต่งตั้งเมื่อใด แต่ก็อยู่ใน 15 วัน แล้วเมื่อประกาศก็ต้องมีเวลาให้ ส.ว.ไปรายงานตัวเช่นกัน”

“เนติบริกร” นับนิ้ววัน-เวลา ภายหลัง กกต.ประกาศผลวันสุดท้าย ครบ 60 วัน ซึ่ง ส.ส.ต้องรายงานตัววันที่ 61 62 63 ผู้ที่ได้รับคัดเลือก ส.ว. อาจมารายงานตัววันที่ 64 หรือ 65 เพราะฉะนั้นที่คิดกันไว้ว่าประกาศผล ส.ส.วันที่ 24 เม.ย. และคัดเลือก-สรรหา ส.ว. แล้วเสร็จวันที่ 27 เม.ย. วันรายงานตัว ส.ส.-ส.ว. อาจไปทับซ้อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ 4-6 พ.ค. และหลังกิจกรรมหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 7-8 พ.ค.”

มีทางเดียวที่จะทำให้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 62 ได้ คือ กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งเร็วกว่ากำหนด หรือภายใน 30 วัน จาก 60 วัน

“ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไทยกำหนดให้ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วันมาโดยตลอด แต่ทำไมผู้ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถึงกำหนด 60 วัน เพราะเขาต้องคิดแล้วว่าต้องมีความยุ่งยาก เพราะเป็นการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว ปกติบัตร 2 ใบเลือก ส.ส. 2 ประเภทก็ฟ้องกันหูดับตับไหม้อยู่แล้ว”

“การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คงจะฟ้องร้องกันอุตลุด สมัยก่อนเราเคยเห็นแต่คนแพ้ฟ้องคนชนะ ครั้งนี้เราจะเห็นทั้งคนแพ้ฟ้องคนชนะและคนชนะฟ้องคนแพ้ ซึ่งไม่เคยปรากฏในประเทศไทย เพราะคะแนนแพ้คะแนนไม่ตกน้ำแต่นำไปคำนวณเป็นคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จึงขึ้นอยู่กับ กกต.ว่าจะรับมือการประกาศผลภายใน 60 วันได้มากน้อยขนาดไหน”

เมื่อกระแสคนอยากเลือกตั้งกระหึ่มทั่วราชอาณาจักร รัฐบาลเล่นบทโยนเผือกร้อนให้ กกต.เป็นผู้ชี้ขาด

แนวโน้มที่การเลือกตั้ง จะเลื่อนออกไป อีกครั้ง จึงสูงยิ่งกว่าสูง