รีบิลด์ ประชาธิปัตย์ สู้ศึก 3 รุม 1 เดิมพันประกันรายได้-สวัสดิการ 4 แสนล้าน

รายงานพิเศษ

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายใต้การนำของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคคนที่ 8 ยุค “อุดมการณ์ ทันสมัย” กับถูกท้าทาย-บีบอัดสารพัดทิศทาง

ทั้งประสานรอยร้าว-แตกหัก ในพรรค จากกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอย่างน้อย 4 กลุ่ม คือ อดีต กปปส.-อดีตทีม “อภิสิทธิ์” และกลุ่มที่อกหักจากการหลุดจากบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้น ๆ รวมทั้งกลุ่มหัวหอก-ดาวรุ่งของพรรคในนาม “นิวเดม”

ต้องบริหารภารกิจใหญ่-ใหม่ ในฐานะ 1 ในหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ระดับฐานราก กำกับ 2 กระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปากท้องประชาชน

และการวางแผนรับมือการเลือกตั้งท้องถิ่น-สนาม กทม. ที่พรรคต้องต่อสู้กับคู่แข่งใหม่-เก่า แบบ 1 ต่อ 3 คือ อนาคตใหม่-พลังประชารัฐ และเพื่อไทย

สานรอยร้าว-กู้เศรษฐกิจฐานราก

chapter ใหม่ของประชาธิปัตย์ นับจากนี้ คือ 1.ประสานรอยร้าว โดยมี “ไชยยศ จิรเมธากร” รองหัวหน้าพรรค ที่พยายามจะเป็น “มือประสาน” กับกลุ่มของ กรณ์ จาติกวณิช, สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ที่หลุดจากสปอตไลต์ของพรรค ไม่ปรากฏเป็นแกนในกรรมการใด ๆ ของพรรค และอดีต กปปส. อาทิ นายถาวร เสนเนียม นายอิสสระ สมชัย และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

แม้โครงสร้างพรรคยุค “จุรินทร์” ภายใต้คณะกรรมการ 15 ชุด จะไม่ปรากฏชื่อ-เสียงของ 3 ก๊กในพรรคประชาธิปัตย์ คาดว่าเดือนกรกฎาคมจะมีการ “เซตทีมใหม่” ในตำแหน่งทางการเมืองของพรรค เช่น เลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ในโควตารัฐมนตรีของพรรค

2.การเลือกตั้งท้องถิ่น ต่อไปนี้จะเป็น “สไตล์ใหม่” เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นในระยะอันใกล้ มีคู่แข่งทั้งพรรคเพื่อไทย-พลังประชารัฐ และอนาคตใหม่ ในอดีตที่สู้กันเพียง “ตัวต่อตัว” ระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย แต่คราวนี้เป็นการต่อสู้แบบ 1 ต่อ 3

โดยประชาธิปัตย์จะใช้กลยุทธ์ “เปิดหน้า” สนับสนุนผู้สมัครของพรรคอย่างเต็มที่ จากที่เคยเป็นเพียง “เบื้องหลัง” เพราะในการเลือกตั้งท้องถิ่นในอดีตพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “คอนโทรลไม่ได้” จนทำให้เป็นรอยด่างกินลึกมาถึงยี่ห้อประชาธิปัตย์

3.การแบกรับภาระแก้ปัญหาเศรษฐกิจในรัฐบาล ตามนโยบายเศรษฐกิจที่พรรคเสนอตัวตั้งแต่วันเลือกตั้ง โดยเฉพาะเศรษฐกิจเรียลเซ็กเตอร์ ในกระทรวงแกนนำทางเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงคมนาคม เพื่อใช้เป็น “ต้นทุน” ต่อยอดทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ถึงแม้แกนนำส่วนใหญ่ของประชาธิปัตย์จะประเมินกันว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 จะอยู่ได้ “ไม่เกินครึ่งเทอม” แต่แกนนำของพรรคที่ “อินไซด์-คลุกวงใน” กับผู้นำในรัฐบาล-คสช.ประเมินว่า รัฐบาลจะอยู่ครบ 1 เทอม ภายใต้การปรับ ครม.ทุก 6-9 เดือน เพื่อลดแรงเสียดทานทางการเมืองและตอบแทนนักการเมือง

ประกันรายได้สินค้าเกษตรแสนล้าน

สำหรับนโยบาย “รัฐสวัสดิการ” ของประชาธิปัตย์ที่ได้หาเสียงไว้ ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 423,624 ล้าน ได้แก่ เรียนฟรีถึง ปวส. 23,852 ล้านบาทต่อปี อาหารเช้า-กลางวันถึง ม.3 จำนวน 28,441 ล้านบาทต่อปี English for all 5,500 ล้านบาทต่อปี ศูนย์เด็กเล็ก 4,555 ล้านบาทต่อปี

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 17,832 ล้านบาทต่อปี เบี้ยผู้สูงอายุ 37,302 ล้านบาทต่อปี เบี้ยผู้ยากไร้ 68,794 ล้านบาทต่อปี เบี้ยคนพิการ 5,000 ล้านบาทต่อปี บ้านหลังแรก 20,000 ล้านบาทต่อปี ประกันรายได้พืชผลเกษตร 100,000 ล้านบาทต่อปี และประกันรายได้แรงงานขั้นต่ำ 50,000 ล้านบาทต่อปี

จุรินทร์-หัวหน้าพรรค ว่าที่รองนายกฯ-รมว.พาณิชย์ระบุกับแกนนำ-ส.ส.53 ชีวิต ว่าจะผลักดันนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรให้บรรจุลงในร่างนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภา เพื่อเป็นผลผูกพันงบประมาณ หากทำไม่ได้พรรคแกนนำรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

พปชร.-อนาคตใหม่…คู่แข่งใหม่

“เกียรติ สิทธีอมร” ประชาธิปัตย์กลางเก่า-กลางใหม่ มองคู่แข่งทางการเมืองว่า เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง วันนี้ประชาธิปัตย์จึงต้องสู้ทั้งเพื่อไทย-อนาคตใหม่ และพลังประชารัฐ มิหน้ำซ้ำยังต้องกู้วิกฤต-ฟื้นฟูภายในพรรค ภายหลังแพ้การเลือกตั้งย่อยยับ

“วันที่พรรคไทยรักไทยเข้ามาเปลี่ยนไปครั้งหนึ่งแล้ว ยกระดับการแข่งขันไปอีกรูปแบบหนึ่งเลยนะ วันนี้มีพรรคอนาคตใหม่ เป็นอีกแบบหนึ่ง ไปอีกยุคหนึ่งแล้ว ทั้งที่พรรคเพื่อไทยก็ยังอยู่เดิม เพราะงั้นมองในทางการตลาด…เหนื่อย”

“ประชาธิปัตย์ประสบปัญหานี้ทุกครั้ง เพราะเป็นพรรคเดียวที่ฟาดกันเต็มที่ แต่พอจบคือจบ นี่คือ character ของประชาธิปัตย์” เกียรติใช้ประสบการณ์ที่อยู่กับพรรคมาเกือบ 20 ปี อ่านปรากฏการณ์บอบช้ำจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา-โคม่าถึงขั้น “พรรคแตก”

แกนนำ-ขุนพลประชาธิปัตย์ที่ผ่านสมรภูมิเลือกตั้ง 62 ทุกคนเปล่งเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุการณ์ “แผ่นดินไหวการเมือง” เมื่อวันที่ 8 ก.พ.เป็น “จุดพลิก” ที่ส่งผลให้ประชาธิปัตย์ “ติดลบ” มากที่สุด

“โพลก่อนหน้าวันที่ 8 ก.พ. ประชาธิปัตย์มี 120 เสียง ทุกโพลชัด แต่พอมีตรงนี้ปั๊บ ความกลัว กลัวจะวุ่นวายเพราะยุบไทยรักษาชาติ กลัวจะวุ่นวาย ไปหาลุงตู่ดีกว่า เพราะต้องการทหารแบ็ก”

ฟื้นเศรษฐกิจ ตัวชี้ขาดอนาคต

1 ในเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ-สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย คือ การชิงธงนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็น “พื้นที่เล็ก ๆ” ให้ประชาธิปัตย์ได้มี “ที่ยืน”

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุดที่ประชาธิปัตย์เคยเจอ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ ด้วยเสียง 65% นี่คือความยาก ถ้าจะไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องได้รับฉันทามติจากประชาชนมากกว่า 65%”

“ยากนะ นี้คือความกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะฉะนั้น มันเหลือช่องนี้ ช่องเล็ก ๆ มี commitment ว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญ และต้องเอานโยบายของเราไปใช้ ถ้าอธิบายสังคมไม่ได้ เจ๊ง วันนี้เรายังไม่ได้ไปถึงจุดนั้น”

ธงนำของประชาธิปัตย์นับจากนี้ คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะนโยบายเกษตรจะเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตของประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง

“การแก้รัฐธรรมนูญ คือ ระยะยาว นโยบายคือวันนี้ 3 เดือน 6 เดือน ต้องเห็นหน้าเห็นหลัง ที่ผ่านมา 5 ปีไม่มีนโยบายเกษตรเลย ถ้าเอาเกษตรไปจับคนจะรู้สึกว่า ดีขึ้นทันที และจะเป็นหนทางที่จะกู้ประชาธิปัตย์ให้กลับมาได้”

เรียกเครดิต 7 ล้านเสียงกลับมา

เสียงที่หายไป 7 ล้านเสียง จาก 11.4 ล้านเสียง เหลือ 3.9 ล้านเสียง ไม่ได้หายไป เพียงแต่รอกลับมาเลือกประชาธิปัตย์อีกครั้ง ภายใต้สถานการณ์ที่ประชาธิปัตย์เคยพยากรณ์ไว้ว่า จะเกิดปัญหาในอนาคต “เสียงที่หายไป” ก็จะกลับมา-เครดิตจะกลับมา

“การเมืองบางครั้งไทมิ่งสำคัญ เป็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในให้โดนมากขึ้น คนที่ไม่เลือกเรา โกรธเรา ยังรักเรา เพียงแต่ผิดหวัง ซึ่งพลังประชารัฐเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะเป็นฐานของเราที่ถูกดึงไปเฉพาะกิจ”

chapter ใหม่ของประชาธิปัตย์ หลังจากนี้จะเปลี่ยนภาพลักษณ์จาก character ที่สะท้อนจากหัวหน้าพรรคคนเก่า เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ภายใต้ “อเวนเจอร์” ไม่ใช่ซูเปอร์แมน แต่ละคนเป็นซูเปอร์ฮีโร่ มีบทบาทเด่นชัดขึ้น

“แต่ก่อนคือภาพคุณอภิสิทธิ์ แล้วคุณอภิสิทธิ์ก็เก่งจริง ๆ เก่งทุกเรื่อง ไวด้วย ในโลกไม่ได้มีคนอย่างนี้เยอะ แต่ครั้งนี้จะเป็นการทำงานแบบทีมเวิร์ก”

รีบิลด์…ไม่รีแบรนด์

“จุติ ไกรฤกษ์” อดีตเลขาธิการพรรค วิเคราะห์ปัญหาของประชาธิปัตย์ 1.ดิสรัปชั่นทางการเมือง อดีต ส.ส.ขาใหญ่ “ปรับตัวไม่ทัน” จนตกที่นั่ง กลายเป็น ส.ส.สอบตก

2.โซเชียลมีเดีย หลังจากไม่มีการเลือกตั้งมา 8 ปี มี frist time voter จำนวน 7 ล้านคน เมื่อกระแส “ธนาธรฟีเวอร์” รุกคืบโดนใจ “คนรุ่นใหม่”

“คนรุ่นนี้ไม่เคยรู้จักทักษิณ ไม่เคยรู้จักประวัติศาสตร์การเมืองไทย ประวัติศาสตร์ที่รู้คือ 3-5 ปีสุดท้าย และไม่เคยมีพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในหัวสมอง อย่าว่าแต่หัวใจเลย”

“ต้องยอมรับความจริงว่า นาทีนี้ประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคอันดับท็อป ๆ อีกต่อไปแล้วนะ เพราะฉะนั้น ต้องรีบิลด์ ไม่ใช่รีแบรนด์ ต้องสร้างใหม่”

แกนนำประชาธิปัตย์อีกรายวิเคราะห์ตบท้ายถึงปัจจัยความพ่ายแพ้เลือกตั้งแบบหมดรูปว่า เกิดจากการขับเคลื่อนกลไกของพรรคแบบ “ผิดฝาผิดตัว” ระหว่าง “หัวก้าวหน้า” กับ “หัวเก่า”