มรดกคณะปฏิวัติ 19 กันยาฯ “ทักษิณ” ชนะเลือกตั้ง พ่ายกลการเมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งแบบถึงลูก ถึงคน ถึงชีวิต กำเนิดสงครามกลางกรุงย่อย ๆ มา 3 ครั้ง โดย 3 ม็อบ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย – แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ กปปส. – คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้ง 3 ม็อบ 3 เหตุการณ์นองเลือด มีส่วนเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะฝ่าย นปช. คือมวลชนข้าง “ทักษิณ ชินวัตร” ขบวนการแนวร่วมข้างถนนของพรรคพลังประชาชนถึงพรรคเพื่อไทย

เพราะพันธมิตรฯ คือมวลชนที่ยืนตรงข้าม “ทักษิณ ชินวัตร”

เพราะ กปปส. คือคนจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองขั้วตรงข้าม “ทักษิณ”

และ 19 กันยายน 2549 ที่บัดนี้ผ่านมา 11 ปี “ทักษิณ” และพวกพ้องพยายามลบล้าง คดีความ – ผลพวงการเมือง ซึ่งเรียกว่า “ผลไม้พิษ” แต่ก็ไม่สำเร็จ และจะกลายเป็นชนวนที่ทำให้ “ทักษิณ” และพวก พังยิ่งกว่าเดิม

นี่คือ 11 ปมเหตุการณ์ ในรอบ 11 ปี ที่ทักษิณและพวก สู้ไม่เคยชนะ

ตั้งกองบัญชาการสู้การยึดอำนาจ

หนึ่ง ในคืนยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ขณะนั้น “ทักษิณ” ไปประชุมสหประชาชาติที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พรรคพวก – ลูกน้องทักษิณ พยายามต่อสู้กับกองกำลังที่เข้ามายึดอำนาจด้วยการถ่ายทอดสัญญาณข้ามโลก “ปลด” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. แต่ก็ไม่ทันการณ์

จากนั้นคณะยึดอำนาจได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบคดีทุจริตในรัฐบาลทักษิณ ซึ่งอดีตนายกฯ พลัดถิ่น โดนไปถึง 12 คดี

มี 1 คดีที่ศาลตัดสินแล้วคือคดีที่ดินรัชดา จำคุก 2 ปี บัดนี้ “ทักษิณ” ยังมีฐานะจำเลยอีก 5 คดี

ยุบพรรคไทยรักไทย

สอง ผลพวงจากการยึดอำนาจ เป็นผลให้พรรคไทยรักไทยถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 21 กันยายน 2549 ข้อ 3 ซึ่งบทลงโทษตัดสิทธิ 5 ปี กลายเป็น “ผลไม้พิษ” ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งพรรคการเมืองของทักษิณได้ลิ้มรสชาติอีกครั้ง หลังการถูกยุบพรรครอบ 2 คือพรรคพลังประชาชน

กำเนิดพันธมิตรฯรอบ 2

สาม แม้ว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยจะถูกยุบ แต่พรรคไทยรักไทยได้แปลงสภาพมาเป็นพรรคพลังประชาชน แต่จิตวิญญาณร่วมทั้งหมดอยู่ที่ “ทักษิณ” เป็นศูนย์กลาง และทำให้พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้งถล่มทลาย

ด้วยความที่เป็นเสียงข้างมาก พรรคพลังประชาชนมีแนวคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มรดกของ 19 ก.ย.2549 แต่ถูกขัดขวางจากกลุ่มพันธมิตรฯ มวลชนที่ไล่ต้อน “ทักษิณ” ก่อนการรัฐประหาร 2549

ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯ ได้กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งในวันที่ 25 พ.ค.2551 เพื่อขวางการแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว นับแต่นั้นกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยึดทำเนียบฯ ยึดสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ กลายเป็นม็อบที่ชุมนุมนานกว่า 193 วัน

ส่วนพรรคพลังประชาชนไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ต้องการ

สมัครสังเวยผลประโยชน์ทับซ้อน

สี่ 9 ก.ย.2551 สมัคร สุนเทรเวช ต้องสังเวยเก้าอี้นายกฯ จากกรณีจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” เพราะไปรับเงินจากบริษัทเอกชนในฐานะลูกจ้าง ซึ่งขัดต่อหมวด “ขัดกันแห่งผลประโยชน์” ตามรัฐธรรมนูญ 2550

ยุบ พปช. สมชายพ้นนายกฯ

ห้า และผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 2550 อีกเช่นเคย ที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 จากการที่ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” กรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้งปี 2550 และทำให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค พ้นนายกฯ ไปด้วย เพราะถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 5 ปี


ศาลเบรกแก้ รธน.ทั้งฉบับ

หก หลังพรรคเพื่อไทยพลิกกลับมาชนะเลือกตั้งได้อีกครั้ง เมื่อ 3 ก.ค.2554 ผ่านมาหนึ่งปี พรรคเพื่อไทยพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มรดก 19 ก.ย.กันอีกรอบ แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลกำเสียงในสภากว่า 300 เสียง ถือธงแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ทว่า.. ถูกพรรคประชาธิปัตย์เข้าชื่อร้องคัดค้านการแก้ไขต่อศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้าย 13 ก.ค.2555 ศาลรัฐธรรมนูญเบรกแก้ รธน.ทั้งฉบับ โดยแนะนำว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติของประชาชน ถ้าจะแก้ไขต้องกลับไปทำประชามติขออนุญาตประชาชนในฐานะเจ้าของรัฐธรรมนูญก่อน 1 ปีให้หลัง 9 ก.พ.2556 พรรคเพื่อไทยจึง “เปลี่ยนแผน” ไปเป็นแก้ไขรายมาตรา โดยขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.เลือกตั้ง มีผลประโยชน์ตอบแทนคือ ให้ ส.ว.ที่จะครบวาระสามารถสมัครเลือกตั้งต่อไปอีกสมัยได้ และโละ ส.ว.สรรหา อันเป็นเครือข่ายของรัฐประหารปี 49 ทิ้งไป

ผ่านนิรโทษกรรม เกิด กปปส.

เจ็ด ระหว่างสภาล่าง – สภาสูง กำลังชุลมุนวุ่นวายกับการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยฉวยจังหวะผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ท่ามกลางแรงต้านจากหลายฝ่ายที่คิดว่าผลของกฎหมายดังกล่าวจะนิรโทษกรรมให้ “ทักษิณ” แต่ วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ในฐานะผู้ยื่นร่างกฎหมาย ยืนยันว่าไม่ได้ล้างผิดให้ทักษิณจากคดีทุจริตที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร 2549 แต่นิรโทษฯ ให้กับผู้ชุมนุมทางการเมือง ไม่รวมแกนนำ ผู้สั่งการ

แต่ต่อมา 31 ต.ค.2556 ในการพิจารณาวาระ 3 มีการเปลี่ยนสาระ พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยให้ “นิรโทษกรรมตามเหตุการณ์” ย้อนถึงคดีความของ “ทักษิณ” ยิ่งกว่านั้น เมื่อสภาฯ ลงมติผ่านกฎหมายกันตอนตี 4 เช้าตรู่ของวันที่ 1 พ.ย.2556 สังคมยิ่งไม่พอใจ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาพรรคประชาธิปัตย์ จึงใช้จังหวะดังกล่าวรวบรวมมวลชน ก่อเกิด กปปส.ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จวบจนยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557

ศาลชี้ แก้รัฐธรรมนูญขัด ม.68

แปด ในขณะที่พรรคเพื่อไทยต้องเจอแรงต้านจากม็อบ กปปส.โดยผลของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 20 พ.ย.2556 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคเพื่อไทย ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

พ้นรักษาการนายกฯ

เก้า แม้ “ยิ่งลักษณ์” จะพ้นเก้าอี้นายกฯ จากการยุบสภาเมื่อต้นธันวาคม 2556 เพื่อระบายแรงกดดันจากกรณีนิรโทษกรรมสุดซอย แต่ก็ไม่วายที่ “ยิ่งลักษณ์” ต้องพ้นรักษาการนายกฯ โดยผลคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2557

ถูก คสช.ยึดอำนาจ

สิบ ทั้งเหตุการณ์ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เลือกตั้งโมฆะ ม็อบ กปปส.เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ฯลฯ ทั้งหมดถูกลากยาวมาจน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ.ขณะนั้น ใช้อำนาจประกาศกฎอัยการศึกเรียกคู่ขัดแย้งทุกขั้วทุกข้างมาหาทางออกทางการเมือง แต่เมื่อหาทางออกไม่ได้ ก็ถึงคราวยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557

หนีคำพากษา

สิบเอ็ด ผลจากการยึดอำนาจโดย คสช.ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับผลไม้พิษ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่พร้อมบทลงโทษนักการเมืองให้เข้มขึ้นกว่าเก่า ปิดตายนโยบายประชานิยมรัฐบาลเลือกตั้ง ทำลาย “กล่องดวงใจ” ของพรรคทักษิณมาตลอด 1 ทศวรรษกว่า ส่วน “ยิ่งลักษณ์” ต้องขึ้นศาลต่อสู้คดีทุริต กระทั่งไม่มาฟังคำพิพากษาทุจริตจำนำข้าว และทิ้งเมืองไทยไป ส่วน 2 รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ที่ถูกชี้ว่าทุจริต บุญทรง เตริยาภิรมย์ และ ภูมิ สาระผล ถูกติดคุกอ่วม

แม้ “ทักษิณ” และพวกจะชนะเลือกตั้ง หลังจากนั้นทุกครั้ง แต่ก็บริหารประเทศไม่ได้ แพ้กลศึกการเมืองให้กับการปฏิวัติทุกครั้ง